×

งานวิจัยใหม่คาด หัวนิวเคลียร์ทั่วโลกอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี

13.06.2022
  • LOADING...
นิวเคลียร์

สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม (SIPRI) ในสวีเดน เผยผลการศึกษาฉบับใหม่ในวันนี้ (13 มิถุนายน) ชี้ว่า การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสงครามเย็น ขณะที่ความเสี่ยงที่จะมีการใช้อาวุธร้ายแรงดังกล่าวก็มีมากขึ้นในรอบหลายทศวรรษ

 

ทั้งนี้การเปิดฉากรุกรานยูเครนของรัสเซีย ประกอบกับการสนับสนุนเคียฟของชาติตะวันตกนั้น ได้เพิ่มความตึงเครียดในหมู่ 9 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง โดยความเสี่ยงที่นำไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นก็มีเพิ่มขึ้นและมากกว่าครั้งไหนๆ ในประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นจากกรณีการบุกยูเครนของรัสเซียรอบนี้ ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมเตือนประเทศอื่นๆ ว่าอย่าเข้ามาแทรกแซง

 

ปัจจุบันรัสเซียเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองมากที่สุด รวม 5,977 หัวรบ ซึ่งมากกว่าสหรัฐฯ 550 หัวรบ ขณะที่สองมหาอำนาจดังกล่าวครอบครองหัวรบนิวเคลียร์คิดเป็นกว่า 90% ของหัวรบทั่วโลก ส่วนจีนก็เป็นอีกประเทศที่กำลังเพิ่มจำนวนหัวรบอย่างรวดเร็ว

 

ถึงแม้รายงาน SIPRI บ่งชี้ว่าอาวุธนิวเคลียร์มีจำนวนลดลงเล็กน้อยในช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2021 – มกราคม 2022 แต่ SIPRI เตือนว่าหากไม่มีมาตรการที่ทันท่วงทีจากรัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์ อาจส่งผลให้หัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี

 

ข้อมูลระบุว่า หัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลกมีจำนวนลดลงจาก 13,080 หัวรบในเดือนมกราคม 2021 เป็น 12,705 หัวรบในเดือนมกราคม 2022 โดยจำนวนนี้มีประมาณ 3,732 หัวรบที่ติดตั้งกับขีปนาวุธและเครื่องบิน และประมาณ 2,000 หัวรบ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นของรัสเซียหรือสหรัฐฯ นั้น อยู่ในสถานะเตรียมพร้อมขั้นสูง

 

ภาพ: Contributor / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising