×

วิจัยชี้ มลพิษทางอากาศทำอายุสั้นลง 2 ปี เลวร้ายกว่าดื่มเหล้า-สูบบุหรี่

15.06.2022
  • LOADING...
มลพิษทางอากาศ

งานวิจัยล่าสุดจากสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก หรือ EPIC เปิดเผยวานนี้ (14 มิถุนายน) ว่า มลพิษทางอากาศทำให้อายุขัยมนุษย์สั้นลงเฉลี่ย 2.2 ปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่ากลัวกว่าการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่การติดเชื้อ HIV และ AIDS

 

ดัชนี The Air Quality Life Index (AQLI) ซึ่งใช้ข้อมูลดาวเทียมมาวัดระดับ PM2.5 ในอากาศ พบว่า หากรวมอายุขัยที่มนุษย์ต้องสูญเสียไปจากมลพิษในอากาศทั้งโลกแล้วจะอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านปี แต่ถ้าหากสามารถลดมลพิษทางอากาศให้เป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระดับ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรได้ ก็จะช่วยยืดอายุคาดการณ์เฉลี่ยของคนทั่วโลกได้มากขึ้น 2.2 ปี หรือจากเดิมที่มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยที่ 72 ปี ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 74.2 ปี

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าตกใจว่าปัจจุบันประชาชนมากกว่า 97% ทั่วโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศเกินกว่าระดับที่แนะนำ 

 

รายงานระบุว่า 60% ของมลพิษทางอากาศเกิดจากกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่วนอีก 18% มาจากแหล่งพื้นที่ธรรมชาติอื่นๆ (เช่น ฝุ่น เกลือทะเล และไฟป่า) และ 22% มาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ สำหรับในภูมิภาคเอเชียใต้ประชากรเสี่ยงสูญเสียอายุขัยมากถึง 5 ปี อันเนื่องมาจากปัญหาหมอกควันพิษ โดยมีอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล ติดอันดับท็อปของประเทศที่มีมลพิษสูงที่สุดในโลก

 

หากเรานำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ จะพบว่า มลภาวะทางอากาศทำร้ายชีวิตมากกว่าที่คาด โดยรายงานระบุว่า ควันจากบุหรี่มือหนึ่ง (Firsthand Smoke) ซึ่งเป็นควันที่ผู้สูบบุหรี่ดูดเข้าไปในร่างกายนั้นจะทำให้อายุสั้นลง 1.9 ปีโดยเฉลี่ย ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์และใช้ยาเสพติดจะทำให้อายุสั้นลง 9 เดือนโดยเฉลี่ย ขณะที่การติดเชื้อ HIV และ AIDS มีความเสี่ยงทำให้อายุสั้นลง 4 เดือน

 

สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ ปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศกลับเป็นประเด็นที่ถูกละเลยและเงินทุนในการแก้ไขปัญหาก็ยังมีไม่เพียงพอ โดยนักวิจัยระบุว่า ปัญหาดังกล่าวนับเป็นภัยคุกคามสุขภาพมนุษย์ที่อันตรายมาก เนื่องจากคนเราต้องหายใจเอาอากาศที่มีมลพิษเข้าไปทุกวัน ไม่สามารถเลี่ยงได้เหมือนการเลิกแอลกอฮอล์หรือเลิกสูบบุหรี่ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศหรือพื้นที่ที่มีระดับของ PM2.5 สูง 

 

ที่น่าตกใจอีกประการหนึ่งคือ รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นจากการประเมินมลพิษทางอากาศในปี 2020 ซึ่งทั่วโลกมีการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางเนื่องจากโควิด

 

ด้วยเหตุนี้ เหล่านักวิจัยจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจากนานาประเทศหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างเร่งด่วน เนื่องจากการได้รับ PM2.5 ที่มากเกินควรนั้นเสี่ยงทำให้เกิดหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นหอบหืด, กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ, ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, มะเร็ง, ปัญหาด้านสุขภาพจิต และความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น โรคลมบ้าหมู และออทิสติก

 

คริสตา ฮาเซนคอปฟ์ ผู้อำนวยการโครงการ Air Quality Life Index ระบุว่า “เราจัดทำดัชนีนี้ขึ้นมาเพื่อให้มองเห็นผลกระทบด้านสุขภาพและต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากปัญหามลพิษทางอากาศได้ชัดเจนขึ้น มลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดในยุคของเรา แต่กลับถูกละเลยอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีอยู่ก็คือ ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด หากพวกเราหันมาใส่ใจ”

 

ภาพ: Chaiwat Subprasom / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X