มีการเปิดเผยงานวิจัยที่ยังไม่ได้ผ่านการตีพิมพ์ในวารสาร (Peer-Reviewed) โดยคณะนักวิจัยจาก Federal University of Pelotas ในบราซิล ร่วมกับ Harvard T.H. Chan School of Public Health ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบุว่า การเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุชาวบราซิลนั้นสัมพันธ์กับการเสียชีวิตที่ลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยกว่า ในสภาพแวดล้อมที่ไวรัสสายพันธุ์ P.1 (สายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในบราซิล) เป็นสายพันธุ์หลักในการระบาด
ทั้งนี้ จำเป็นต้องระบุไว้ด้วยว่า ข้อมูลการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ใช้ในงานวิจัยนี้มาจากจำนวนผู้เสียชีวิตช่วงต้นเดือนมกราคมถึงปลายเดือนเมษายน 2021 (ราว 16 สัปดาห์) ซึ่งช่วงนั้นเองที่ไวรัสสายพันธุ์ P.1 ที่พบครั้งแรกในบราซิลกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดภายในบราซิล ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนในบราซิลก็เป็นข้อมูล ณ ปลายเดือนเมษายน ซึ่งพบว่าวัคซีนที่ใช้ฉีดในบราซิลร้อยละ 77.3 เป็นวัคซีน CoronaVac ของบริษัท Sinovac และอีกร้อยละ 15.9 เป็นวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca
ข้อมูลทั้งหมดนี้ถูกจัดกลุ่มและเปรียบเทียบเป็นช่วงรายสองสัปดาห์ แต่งานวิจัยนี้เน้นนำเสนอข้อมูลถึงช่วงสัปดาห์ที่ 13-14 เป็นสำคัญ โดยให้เหตุผลว่ามีความล่าช้าของข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตในช่วงสัปดาห์ที่ 15-16
จากข้อมูลพบว่า ความครอบคลุมในการได้รับวัคซีนโดสแรก (ไม่จำแนกยี่ห้อ) ในกลุ่มผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไปนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 จนมาเริ่มเห็นแนวโน้มค่อนข้างนิ่งและครอบคลุมมากกว่า 90% ที่ในช่วงสัปดาห์ที่ 9-10 ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวมทุกกลุ่มอายุก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ 9-10 เช่นกัน
แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตรวมทุกกลุ่มอายุจะเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว แต่สัดส่วนการเสียชีวิตของกลุ่มผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไปต่อการเสียชีวิตของทุกช่วงอายุกลับมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 5-6 เป็นต้นมา และอัตราดังกล่าวยังลดลงในทุกภูมิภาคของบราซิลอีกด้วย ซึ่งหากสังเกตเป็นตัวเลขก็คือ สัดส่วนการเสียชีวิตของกลุ่มผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไปต่อการเสียชีวิตของทุกช่วงอายุในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 จะอยู่ที่ 27.7% และจากลดลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 5-6 จนมาอยู่ที่ 13.1% ในสัปดาห์ที่ 13-14
และสัดส่วนการเสียชีวิตของกลุ่มผู้มีอายุ 90 ปีขึ้นไปต่อการเสียชีวิตของทุกช่วงอายุ ก็ลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน โดยในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 อยู่ที่ 6.9% และลดลงมาจนเหลือ 2.6%ในช่วงสัปดาห์ที่ 13-14
นอกจากนี้ อัตราการเสียชีวิตของกลุ่มผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไปนั้นสูงกว่ากลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 0-79 ปี อยู่ราว 13 เท่าในช่วงสัปดาห์ที่ 5-6 และลดลงเหลือ 6.9 เท่าในช่วงสัปดาห์ที่ 13-14
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังระบุด้วยว่า จนถึงช่วงก่อนงานวิจัยมีการเผยแพร่ออกมา ผู้ที่ได้รับวัคซีน Oxford-AstraZeneca ทั้งหมดจะยังไม่ได้รับวัคซีนโดสที่สอง อันเนื่องจากการเว้นระยะจากโดสแรกถึง 12 สัปดาห์ ขณะที่มีผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีน CoronaVac โดสที่สองแล้วกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด เพราะวัคซีน CoronaVac เว้นระยะระหว่างโดสอยู่ที่ 4 สัปดาห์ ซึ่งการฉีดวัคซีนในบราซิลเริ่มต้นในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา
และคณะนักวิจัยยังระบุข้อควรระวังและข้อจำกัดในการวิจัยนี้เอาไว้เช่นกัน อาทิ การรายงานยอดผู้เสียชีวิตต่ำกว่าความเป็นจริงหรือความล่าช้าในการรายงาน หรือความเป็นไปได้ที่ไวรัสสายพันธุ์ P.1 จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีอายุน้อยกว่าอย่างไม่ได้สัดส่วน แต่ในบรรดาข้อควรระวังหรือข้อจำกัดก็มีการอธิบายวิธีการรับมือโดยคณะนักวิจัยไว้เช่นกัน
สำหรับวัคซีน CoronaVac ของ Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้ฉีดส่วนใหญ่ในบราซิลนั้น ก่อนหน้านี้ก็มีรายงานผลการทดลองทางคลินิก หรือการทดลองในคนเฟสที่ 3 ที่พบว่ามีอัตราป้องกันการติดเชื้อได้เพียง 50.7% จากการทดลองกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในบราซิล โดยผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้รับการฉีดราว 4% มีอาการป่วยหลังติดโควิด-19 ในระดับรุนแรง ส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไม่มีใครที่มีอาการร้ายแรง ส่วนผลทดลองวัคซีน CoronaVac ในการใช้งานจริง (Real-World Trial) ที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านั้นระบุอัตราประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการอยู่ที่ 49.6% และลดลงมาที่ 35.1% สำหรับกรณีการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ นอกจากนี้ยังมีการทดลองในหลายประเทศ ซึ่งได้ประสิทธิภาพของวัคซีนแตกต่างกันไป อาทิ ตุรกี ชิลี อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ภาพ: Alexandre Schneider / Getty Images
อ้างอิง: