ผลการศึกษาวิจัยจากทีมนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อวานนี้ (19 สิงหาคม) ระบุว่าวัคซีนต้านโควิดจาก Pfizer-BioNTech มีประสิทธิภาพลดลงเร็วกว่าวัคซีนจาก AstraZeneca หลังจากที่ฉีดครบ 2 โดส โดยในช่วงต้นนั้นวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า ขณะที่วัคซีนทั้ง 2 ตัวต้านทานเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาลดลงหลังผ่านไป 3 เดือน
การศึกษาวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ (Office of National Statistics: ONS) และกรมอนามัยและการดูแลสังคม (Department of Health and Social Care: DHSC) ของอังกฤษ โดยใช้ข้อมูลสำรวจการติดเชื้อจากการตรวจแบบ RT-PCR ที่ใช้การเก็บตัวอย่างจากในโพรงจมูกและลำคอในกลุ่มประชาชนอายุเกิน 18 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2020 จนถึงสิงหาคม 2021
โดยทีมวิจัยแบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก 384,543 คน ในช่วงที่เชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟาระบาด และกลุ่มที่ 2 จำนวน 358,983 คน ตั้งแต่ 17 พฤษภาคม – 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในสหราชอาณาจักร
จากการศึกษาพบว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิดของวัคซีน Pfizer-BioNTech หลังฉีดโดสที่ 2 ผ่านมา 1 เดือน จะสูงกว่า 90% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ก่อนจะลดลงเหลือ 85% หลังผ่านไป 2 เดือน และ 78% หลังผ่านไป 3 เดือน
ขณะที่วัคซีนจาก AstraZeneca มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อหลังฉีดโดสที่ 2 ได้ 1 เดือน อยู่ที่ 67% และลดลงเหลือ 65% และ 61% หลังผ่านไป 2 และ 3 เดือน
ผลวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า วัคซีนทั้งของ Pfizer-BioNTech และ AstraZeneca ต่างมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาลดลงหลังจากผ่านไป 3 เดือน โดยประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นลดลงชัดเจนสำหรับกลุ่มประชาชนอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาหลังฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech หรือ AstraZeneca อาจจะยังมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้มากกว่าเมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้า ทั้งอัลฟาและสายพันธุ์ดั้งเดิม
อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์จากออกซ์ฟอร์ดเผยว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ตัวจะลดลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้กันหลังผ่านไป 4 และ 5 เดือน และให้ความมั่นใจว่าวัคซีน Pfizer-BioNTech และ Oxford-AstraZeneca ยังคงมีประสิทธิภาพต้านทานเชื้ออยู่ในระดับที่ดี
สำหรับผลการศึกษาวิจัยฉบับนี้ยังไม่ผ่านการตรวจสอบแบบ Peer-reviewed โดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดถูกเผยแพร่ออกมาในขณะที่หลายประเทศกำลังเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนทั้ง 2 ตัว โดยล่าสุด อิสราเอลมีรายงานอัตราฉีดวัคซีน Pfizer ให้ประชาชนครบ 2 โดสแล้วมากกว่า 58% ขณะที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณาเสนอให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หลังมีความกังวลเรื่องประสิทธิภาพวัคซีน Pfizer และ Moderna ที่ลดลง
ภาพ: Photo illustration by Artur Widak / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.timesofisrael.com/study-finds-pfizer-covid-19-shots-declines-faster-than-astrazeneca/
- https://www.oxfordmail.co.uk/news/19523386.pfizer-jab-effectiveness-declines-faster-astrazeneca-vaccine-study-suggests/
- https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/british-study-shows-covid-19-vaccine-efficacy-wanes-under-delta-2021-08-18/
- https://www.euronews.com/next/2021/08/19/covid-vaccines-are-less-effective-against-the-delta-variant-after-90-days-a-new-study-find
- https://www.barrons.com/articles/pfizer-covid-vaccine-efficacy-delta-variant-51629378855