×

ครม. ไฟเขียวเปิดช่องวิจัยกัญชารักษาโรคในคน องค์การเภสัชฯ เตรียมพื้นที่ปลูก เร่งพัฒนาสายพันธุ์

โดย THE STANDARD TEAM
16.05.2018
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งสาระสำคัญคือมีการเปิดช่องให้กัญชา ซึ่งเป็นสารเสพติดประเภท 5 สามารถศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในคนได้

 

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดรวม 3 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีการเสนอแก้ไขสาระสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมยาเสพติด โดยกำหนดให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีหน้าที่และอำนาจกำหนดมาตรการในการควบคุมยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ และสารระเหย แบ่งประเภทของยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท และแบ่งประเภทของวัตถุออกฤทธิ์ออกเป็น 4 ประเภท กำหนดการอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาต การอนุญาต และการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือประกาศ

 

พลโท สรรเสริญ ขยายความด้วยว่าการผ่านร่างกฎหมายนี้เป็นประเด็นสำคัญที่มีการจับตา เนื่องจากกัญชาซึ่งเป็นสารเสพติดประเภท 5 จากที่เคยมีการอนุญาตให้สามารถปลูก สกัด และทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ยกเว้นการเสพ ทำให้ไม่สามารถวิจัยในคนได้ เมื่อ ครม. ผ่านร่างกฎหมายนี้ก็จะทำให้สามารถศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในคนได้

 

นอกจากนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดมาตรการควบคุมพิเศษในการป้องกัน ปราบปราม แก้ไขปัญหา และควบคุมยาเสพติด โดยกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) อาจกำหนดพื้นที่ในการทดลองเพาะปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ หรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ หรือผลิตและทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติด


ขณะที่ นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่าเมื่อ ครม. เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ นอกจากกัญชาแล้วจะทำให้ยาเสพติดประเภท 5 ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกัญชง กระท่อม และฝิ่น สามารถนำมาใช้ศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในคนได้

 

ด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงแนวทางที่จะนำกัญชามาใช้เพื่อการแพทย์ว่าเบื้องต้นจะเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการนำมาใช้กับโรคที่มีผลวิจัยจากต่างประเทศรองรับ เช่น โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน และโรคมะเร็งระยะสุดท้าย

 

หลังจากนั้นคณะทำงานจะทำหน้าที่ศึกษาด้านการปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์ โดยจะปรับปรุงอาคารขององค์การเภสัชกรรมเป็นสถานที่ปลูกและวิจัยในระบบปิด คาดว่าจะได้กัญชาแห้ง 500 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เนื่องจากต้องการให้ได้สารสกัดจากกัญชามาใช้ในมนุษย์ได้ทันทีหลังจากประมวลกฎหมายยาเสพติดนี้ประกาศใช้

 

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะร่วมกับ ป.ป.ส. ในการวางระบบ เพื่อไม่ให้เกิดการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์นอกเหนือจากการแพทย์โดยเด็ดขาด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X