×

งานวิจัยพบ พนักงานเพศหญิงของ 5 แบงก์ใหญ่ในญี่ปุ่นได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าผู้ชายเกือบ 50%

13.10.2023
  • LOADING...
พนักงานเพศหญิง

งานวิจัยพบพนักงานเพศหญิงที่ทำงานอยู่ใน 5 ธนาคารขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ประกอบด้วย MUFG Bank, Sumitomo Mitsui Banking Corp, Mizuho Bank, Japan Post Bank และ Sumitomo Mitsui Trust Bank ได้รับค่าตอบแทนหรือเงินเดือนต่ำกว่าพนักงานเพศชายเกือบ 50% สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ระหว่างเพศในญี่ปุ่นที่ยังเป็นปัญหาใหญ่

 

Claudia Goldin เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ จากผลงานวิจัยความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้และการจ้างงานระหว่างเพศชายและหญิง ระบุว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีอัตราการจ้างงานผู้หญิงสูง อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งงานส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นงานพิเศษหรือเป็นงานที่มีรายได้และโอกาสก้าวหน้าต่ำกว่าเพศชาย

 

หากเทียบในกลุ่มประเทศ OECD ด้วยกัน ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ระหว่างเพศสูงที่สุด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร นอกจากนี้รายงานของ World Economic Forum ในปีนี้ยังจัดให้ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 125 จาก 146 ประเทศทั่วโลก ในแง่ของการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจ

 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลมาจากค่านิยมทางสังคมของญี่ปุ่น ที่มักจะปลูกฝังให้ผู้หญิงตั้งแต่เด็กเห็นความสำคัญของบทบาทการเป็นแม่และภรรยามากกว่าบทบาทของผู้หญิงทำงาน ซึ่งส่งผลต่อทัศนะในเรื่องการแต่งงาน การศึกษา การทำงาน และการเป็นแม่บ้านที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานประจำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ภาระครอบครัวก็เป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถทำงานประจำอย่างต่อเนื่องได้

 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีค่านิยมในเรื่องการแบ่งงานตามเพศ เช่น เพศชายมักจะได้รับตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูงและเสี่ยงที่จะถูกย้ายไปยังจังหวัดอื่นหรือต่างประเทศ ทำให้ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า ขณะที่งานซึ่งมีลักษณะทั่วไป มีความรับผิดชอบไม่สูงมาก และไม่ต้องย้ายสถานที่ไปมา จะถูกมอบหมายให้เพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้หญิงได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่า โดยข้อมูลของกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นระบุว่า ธุรกิจธนาคารของญี่ปุ่นในปัจจุบันมีผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารเพียง 12% เท่านั้น

 

Yumiko Murao ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดแรงงานและเพศของ Toyo University ระบุว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นมีกฎหมายที่บังคับให้บริษัทต่างๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลค่าตอบแทนของเพศชายและเพศหญิง แต่การเปิดเผยดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากข้อมูลไม่ถูกนำมาวิเคราะห์ วางแผนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

 

อย่างไรก็ดี Murao เชื่อว่าปัญหาการหดตัวทางประชากรของญี่ปุ่นในปัจจุบันจะบีบให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานประจำและมีบทบาทในการบริหารเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่รัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมเชิงรายได้ระหว่างเพศด้วยเช่นกัน

 

ล่าสุด Mizuho Bank และ MUFG Bank ได้ออกมาระบุว่ากำลังพยายามที่จะปรับปรุงสถานการณ์ให้ดีขึ้น โดย MUFG Bank มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนของผู้บริหารที่เป็นเพศหญิงขึ้นเป็น 27.5% ภายในปีนี้ และทยอยเพิ่มบทบาทของผู้หญิงต่อเนื่องไปถึงปี 2030

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising