วานนี้ (30 สิงหาคม) วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีรักษาการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีต ประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพทางวิชาการ เนื่องจากกำหนดให้งานวิจัยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีต ประเพณี ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่ระบุว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูงด้านจริยธรรมการวิจัย
วาโยกล่าวว่า การออกกฎหมายแบบนี้เป็นเรื่องน่ากังวล โดยเฉพาะการใช้คำว่า ‘ข้อกำหนดจริยธรรม’ ซึ่งเป็นเรื่องนามธรรม และแต่ละคนมีมุมมองแตกต่างกัน หรือการระบุว่าประธานคณะกรรมการพิจารณางานวิจัยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูงด้านจริยธรรมการวิจัย ไม่ทราบว่าวัดหรือคัดเลือกกันอย่างไร ในขณะที่งานวิชาการเป็นเรื่องของเสรีภาพทางความคิด กฎหมายนี้จึงไม่ต่างจากการมีกองเซ็นเซอร์ จะยิ่งทำให้งานทางวิชาการของไทยซึ่งเดิมทีถูกกำกับควบคุมอยู่แล้ว ยิ่งทำงานยากลำบากขึ้นอีก
ดังนั้น ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ตนได้นำเรื่องนี้บรรจุเป็นวาระในการประชุม กมธ. ในวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณา เช่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยจะหารือถึงข้อกังวลของทุกฝ่าย และมีข้อเสนอถึงรัฐบาลต่อไป