วันนี้ (3 ก.ย.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดกิจกรรม ‘Research Connect’ หรือตลาดต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมระหว่างผู้พัฒนาและผู้ประกอบการ พร้อมต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีการนำกว่า 50 ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหารแปรรูป, กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม, กลุ่มการแพทย์-สุขภาพ และกลุ่มซอฟต์แวร์และดิจิทัล มานำเสนอแก่ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น
โดย กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมด้วยวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี (Innovation Driven Economy) นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ก้าวนำคู่แข่งและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเท่าทันกับสถานการณ์และบริบทต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพและ SME เริ่มมีการตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวพร้อมนำมาสร้างสรรค์เป็นบริการและสินค้าใหม่ๆ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตด้วยวิธีการและรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม และยังเป็นแนวทางให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ภายใต้ภาวะการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
“แม้ผู้ประกอบการในประเทศไทยจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อเทียบสัดส่วนดังกล่าวกับจำนวน SME ที่มีอยู่ในประเทศไทยกว่า 3 ล้านรายแล้ว กลับพบว่ามีไม่ถึงร้อยละ 1 หรือไม่ถึง 30,000 รายที่มีการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจ” กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังได้เผยสาเหตุหลักที่ทำให้ SME ยังไม่สามารถเข้าถึงเรื่องดังกล่าวได้ โดยแยกได้เป็น 5 ปัจจัย ประกอบด้วย
1. ขาดองค์ความรู้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทั้งจากภายในและต่างประเทศ เช่น ข่าวรายวัน ผลงานวิจัยใหม่ๆ การศึกษาข้อมูลตัวอย่างของผู้ประกอบการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ
2. ขาดเงินทุน เนื่องจากในการผลิตงานวิจัยหรือนวัตกรรมยังมีต้นทุนที่สูง
3. เครือข่ายเชื่อมโยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา จึงยังทำให้ไม่มีโอกาสในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรม
4. ขาดกำลังคน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ในสถานประกอบการ การขาดเครื่องมือ ระบบดิจิทัล และเทคโนโลยีที่ทันสมัย
5. การกระจุกตัวของการพัฒนานวัตกรรมที่ส่วนใหญ่ยังอยู่แค่ในระดับส่วนกลาง หรือระดับหัวเมือง จึงทำให้ผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคยังติดอยู่กับรูปแบบธุรกิจเดิมๆ และไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ได้
นอกจากนี้ภายในงานตลาดต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม ยังได้มีการตั้งบูธเพื่อโชว์สินค้าไปจนถึงงานวิจัยต่างๆ เป็นจำนวนกว่า 50 ผลงาน แต่มีผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ผู้ร่วมงานให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือ ‘หลอดน้ำทานได้’ ซึ่งเป็นผลผลิตจาก บริษัท กัญจนาพร(สยาม) จำกัด
“หลอดพลาสติกในทุกวันนี้ย่อยสลายและรีไซด์เคิลได้ยากมาก เราก็เลยมองว่าการทำหลอดขึ้นจากพืชข้าวหรือมันสำปะหลัง เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ง่าย และย่อยสลายได้เร็วกว่า ซึ่งหลอดชิ้นนี้เมื่ออยู่ในน้ำเย็นที่มีน้ำแข็งจะอยู่ได้นานกว่า 12 ชั่วโมงโดยไม่มีการผิดรูป ส่วนกรณีที่อยู่ในน้ำร้อนจะสามารถอยู่ได้ 35 นาที ภายใต้อุณหภูมิที่ 90 องศาเซลเซียส ซึ่งงานวิจัยนี้มีความคืบหน้าอยู่ที่ 70%” สุรพร กัญจนานภานิช กล่าว
ทั้งนี้ Managing Director ของบริษัท กัญจนาพร(สยาม) จำกัด เผยต่อว่า กำหนดการวางจำหน่ายหลอดน้ำทานได้จะเกิดขึ้นไม่เกินเดือนมีนาคม 2563 หรือต้นปีหน้าที่จะถึงนี้ พร้อมตั้งเป้าดึงคนไทยใช้หลอดทานได้ที่ 0.5% หรือ 1 หลอดต่อ 1 คน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะพลาสติก
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า