×

กรมอนามัยรายงานเด็กไทยเริ่มอ้วน ติด 1 ใน 3 ของอาเซียนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน อีกทั้งมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มสูง

โดย THE STANDARD TEAM
20.09.2023
  • LOADING...
เด็กไทย อ้วน

วันนี้ (20 กันยายน) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า เนื่องในวันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ (National Youth Day) ซึ่งเด็กและเยาวชนไทยเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ ในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญยั่งยืนจำเป็นต้องพัฒนาเด็กให้มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพอนามัย

 

ซึ่งจากรายงานข้อมูลภาวะโภชนาการของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบเด็กอายุ 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนร้อยละ 13.0 และเด็กอายุ 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนร้อยละ 16.9 ซึ่งเกินกว่าค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 12.0 และจากข้อมูลในปี 2538-2557 พบว่า เด็กและเยาวชนไทยติด 1 ใน 3 ของอาเซียนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน และมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า 

 

อีกทั้ง 1 ใน 2 ของเด็กอายุ 12 ปี ดื่มเครื่องดื่มรสหวานและน้ำอัดลมมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน และ 1 ใน 3 ของเด็กและเยาวชนไทยกินขนมถุงเป็นประจำทุกวันมากกว่า 2 ครั้ง นอกจากนี้ สถานการณ์ในปี 2565 ยังพบว่า เด็กและเยาวชนอายุ 5-17 ปีมีกิจกรรมทางกายเพียงพอลดลง เหลือเพียงร้อยละ 16.1 (เป้าหมายร้อยละ 40) 

 

รวมทั้งมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มสูงขึ้น 15.16 ชั่วโมงต่อวัน (เป้าหมายไม่เกิน 13 ชั่วโมงต่อวัน) ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก และอาจนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า การส่งเสริมสุขภาพเด็กไทยให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพควรเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยอาศัยครอบครัวในการสร้างวินัยเชิงบวกด้านสุขภาพ ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญของสุขภาพ ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้อง และสามารถตัดสินใจดูแลสุขภาพตนเองให้ได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่การมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรง มีความพร้อมในการเรียนรู้และส่งผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ 

 

กรมอนามัยจึงสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดี 4 ด้าน ได้แก่ 

 

  1. ด้านอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ กินครบ 5 หมู่อย่างหลากหลาย ในสัดส่วนปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งเด็กอายุ 6-14 ปีควรได้รับพลังงานเฉลี่ย1,600 กิโลแคลอรี ในแต่ละวันควรกินข้าวหรือแป้งจำนวน 8 ทัพพี, เนื้อสัตว์จำนวน 6 ช้อนกินข้าว, ผักจำนวน 12 ช้อนกินข้าว, นม 2 แก้ว และให้มีผลไม้ 6-8 ชิ้นพอดีคำทุกมื้อ 

 

  1. ลดหวาน มัน เค็ม หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น รวมทั้งเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน อาหารแช่แข็งพร้อมทาน ควบคุมการซื้อขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มรสหวานจัด น้ำอัดลม ชานมไข่มุก และจัดเตรียมนมรสจืดและผลไม้ที่เด็กๆ ชอบไว้ในตู้เย็นแทน และให้ดื่มน้ำสะอาด 6-8 แก้วต่อวัน

 

  1. ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนอายุ 6-17 ปีมีกิจกรรมทางกาย โดยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายให้มากขึ้น มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนัก หรือจนรู้สึกเหนื่อย เฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 60 นาที ทุกวัน สะสมต่อเนื่อง10 นาทีขึ้นไป เช่น เต้นแอโรบิก, วิ่ง, ปั่นจักรยาน, กระโดดเชือก, กระโดดตบ, ซิตอัพ, ดันพื้น, แพลงก์, ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรือทำงานบ้าน งานสวน เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตที่สมวัย มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และยังลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในอนาคต 

 

การออกกำลังกายจะช่วยพัฒนาระบบกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ หัวใจ และปอดให้แข็งแรง รวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคอ้วนในเด็ก และยังช่วยในเรื่องการเรียนรู้ ความจำ มีสมาธิดีขึ้น มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จิตใจแจ่มใส ช่วยผ่อนคลายความเครียด 

 

  1. ส่งเสริมการนอนหลับให้เพียงพอ ในเด็กและเยาวชนอายุ 6-13 ปี ควรนอนหลับวันละ 9-11 ชั่วโมง และอายุ 14-17 ปี ควรนอนหลับวันละ 8-10 ชั่วโมง จะทำให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สูง สมส่วน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising