กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในเมียนมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 377 ที่เลือกปฏิบัติทางเพศ กำหนดบทลงโทษให้การมีเพศสัมพันธ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถือว่ามีความผิด อาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี
โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ซึ่งในปัจจุบันมีอีกกว่า 40 ประเทศที่ยังคงใช้กฎหมายในลักษณะเดียวกันนี้อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นอดีตประเทศอาณานิคมของอังกฤษในทวีปแอฟริกา
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกสมัยใหม่โอบรับความแตกต่างหลากหลายเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย บอตสวานา ตรินิแดดและโตเบโก รวมถึงเบลีซ ต่างประกาศยกเลิกการใช้กฎหมายดังกล่าวแล้ว ซึ่งในขณะนี้มีความพยายามที่จะผลักดันการยกเลิกกฎหมายนี้ทั้งในเมียนมา สิงคโปร์ และมาเลเซีย
โดย ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา เคยแสดงจุดยืนที่จะยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ขณะที่เธอยังดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเมื่อปี 2013 ก่อนที่จะไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประเด็นนี้กลายเป็นจริงภายในรัฐสภา หลังจากที่พรรค NLD ของเธอชนะการเลือกตั้งและมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2015
ทางด้าน เมียว ยุ้น โฆษกพรรค NLD ระบุว่าเหตุผลหนึ่งที่พรรครัฐบาลยังไม่ผลักดันประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าอาจจะถูกพรรคฝ่ายค้านใช้ประเด็นนี้ในการโจมตีรัฐบาล ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนเสรีภาพ ซึ่งคล้ายกับเป็นพรรคที่นิยมกระแสความคิดตะวันตก
ภาพ: Ye Aung Thu / AFP via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- www.aljazeera.com/news/2019/11/myanmar-government-urged-scrap-colonial-era-law-gay-sex-191113050456144.html?fbclid=IwAR0N6_GwW9VKPmR6BZhIhQy3f0-lTuxn6Bgi_eJKxgKX9fNazvYfxXdrlbE
- www.pinknews.co.uk/2019/11/14/report-violence-persecution-lgbt-myanmar/
- www.newnownext.com/myanmar-gay-sex-ban-calls-for-reform/11/2019/