×

รู้จัก ‘เรมเดซิเวียร์’ ยาต้านไวรัส ความหวังรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่หลายประเทศยอมรับ

โดย THE STANDARD TEAM
23.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ยังคงปราศจากวัคซีนป้องกันไวรัส ขณะเดียวกันในระหว่างที่รอวัคซีน นานาประเทศต่างพยายามค้นหาและทดลองยาต้านไวรัสเพื่อใช้รักษาอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมามียาน่าสนใจ 3 ชนิด ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่เคยใช้รับมือไวรัสอีโบลา, คลอโรควิน ฟอสเฟต (Chloroquine Phosphate) ที่ใช้ป้องกันและรักษาโรคมาลาเรีย และเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งใช้รักษาโรคจากไวรัสโคโรนา อาทิ โรคซาร์ส (SARS) เมอร์ส (MERS) และอีโบลา ซึ่งเรมเดซิเวียร์นั้นเป็นยาที่ให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี
  • ด้านวารสารการแพทย์ The New England เผยแพร่ผลทดลองทางคลินิกขั้นต้นระยะที่ 1 จากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่ทำการทดลองให้ยาเรมเดซิเวียร์และยาหลอก (Placebo) แก่ผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คน ใน 10 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ พบว่า ระยะเวลาการรักษาอาการของผู้ป่วยโควิด-19 นั้นลดลงจาก 15 วัน เหลือเพียง 11 วัน เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก
  • ยาเรมเดซิเวียร์นั้นได้รับการอนุมัติและบรรจุในบัญชียาสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงแล้วในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะมีการนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ โดยบริษัทที่ได้รับลิขสิทธิ์จาก Gilead อาทิ บริษัท Mylan

การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) ต้นตอโรคโควิด-19 (COVID-19) ตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา คร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 600,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กรกฎาคม)

 

โดยสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ยังคงปราศจากวัคซีนป้องกันไวรัส ขณะเดียวกันในระหว่างที่รอวัคซีน นานาประเทศต่างพยายามค้นหาและทดลองยาต้านไวรัสเพื่อใช้รักษาอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมามียาน่าสนใจ 3 ชนิด ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่เคยใช้รับมือไวรัสอีโบลา, คลอโรควิน ฟอสเฟต (Chloroquine Phosphate) ที่ใช้ป้องกันและรักษาโรคมาลาเรีย และเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งใช้รักษาโรคจากไวรัสโคโรนา อาทิ โรคซาร์ส (SARS) เมอร์ส (MERS) และอีโบลา ซึ่งเรมเดซิเวียร์นั้นเป็นยาที่ให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี

 

สำหรับยาเรมเดซิเวียร์พัฒนาโดยบริษัท Gilead Sciences ของสหรัฐฯ ในปี 2015 มีฤทธิ์ต้านไวรัสได้อย่างกว้างขวาง (broad-spectrum antiviral drug) และมีประสิทธิภาพดีต่อ RNA ไวรัสหลายชนิด รวมถึงไวรัสในตระกูลโคโรนา อย่างโควิด-19

 

 

ผลการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองพบว่าสารออกฤทธิ์ของยาชนิดนี้ จะขัดขวางการทำงานของเอ็นไซม์ RNA polymerase ทำให้ช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส

 

ปัจจุบันบริษัท Gilead และสถาบันทางการแพทย์ของหลายประเทศกำลังทำการศึกษาวิจัยทางคลินิก หรือการทดลองให้ยาเรมเดซิเวียร์แก่ผู้ป่วย ทั้งในระยะที่ 2 และ 3 เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาเรมเดซิเวียร์

 

ซึ่งการทดลองให้ยาในผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นแบบสุ่ม (Randomised) แบบปกปิดข้อมูลสองทาง (Double-Blind) หรือการทดลองทางคลินิกแบบควบคุมด้วยยาหลอก (Placebo-Controlled Clinical Trial) โดยขั้นตอนการทดลองให้ยาเรมเดซิเวียร์แก่ผู้ป่วยโควิด-19 นั้นจะใช้วิธีหยดยาเข้าหลอดเลือดดำในวันแรกปริมาณ 200 กรัม หลังจากนั้นวันละ 100 กรัม

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ บริษัท Gilead เปิดเผยผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ด้วยการสุ่มทดลองให้ยาเรมเดซิเวียร์แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง และอาการปานกลาง ในโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ต่างๆ ของสหรัฐฯ เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา โดยแบ่งเป็นการให้ยาในระยะเวลา 5 วัน และ 10 วัน

 

ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรง ที่มีผู้ลงทะเบียนร่วมโครงการทดลองกว่า 5,600 คนนั้น พบว่าส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น หลังได้รับยาเรมเดซิเวียร์ต่อเนื่อง 10 วัน ส่วนกลุ่มผู้ป่วยอาการปานกลางที่ลงทะเบียนร่วมทดลองราว 1,000 คน พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาต่อเนื่อง 5 วัน 65% มีอาการที่ดีขึ้นกว่าผู้ป่วยที่รับการรักษาตามปกติ

 

ด้านวารสารการแพทย์ The New England เผยแพร่ผลทดลองทางคลินิกขั้นต้นระยะที่ 1 จากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่ทำการทดลองให้ยาเรมเดซิเวียร์และยาหลอก (Placebo) แก่ผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คน ใน 10 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ พบว่าระยะเวลาการรักษาอาการของผู้ป่วยโควิด-19 นั้นลดลงจาก 15 วัน เหลือเพียง 11 วัน เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์อยู่ที่ประมาณ 7.1% ซึ่งน้อยกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก ที่มีอัตราเสียชีวิตราว 11.9% แต่ยังไม่พบหลักฐานว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้

 

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเตือนว่าอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ใช้ยาเรมเดซิเวียร์นั้นยังคงสูง และชี้ว่าการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยยาต้านไวรัสอย่างเรมเดซิเวียร์เพียงอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ ขณะที่ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ มีตั้งแต่ตับอักเสบ ความดันเลือดต่ำ คลื่นไส้อาเจียน และเหงื่อออก

 

สำหรับตอนนี้ยาเรมเดซิเวียร์นั้นได้รับการอนุมัติและบรรจุในบัญชียาสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงแล้วในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

 

ในเกาหลีใต้พบว่าผู้ป่วยกลุ่มแรกที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์จำนวน 27 คน จากหลายโรงพยาบาล 9 คนมีอาการที่ดีขึ้น และ 15 คนอาการไม่เปลี่ยนแปลง ส่วน 3 คนอาการแย่ลง ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดของเกาหลีใต้ ยังจำเป็นต้องรอผลวิจัยเพิ่มเติม รวมทั้งทดสอบเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในการควบคุม ก่อนจะประเมินประสิทธิภาพการรักษาของยาชนิดนี้

 

สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะมีการนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ โดยบริษัทที่ได้รับลิขสิทธิ์จาก Gilead อาทิ บริษัท Mylan ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ชาวไทย ที่จะได้รับยารักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising