×

ข้อสังเกตมาตรการแบ่ง 4 โซนควบคุมโควิด-19 ของ ศบค. สมดุลใหม่ของสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

25.12.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ศบค. จะไม่ใช้คำว่า ‘ล็อกดาวน์’ ในความหมายที่ว่าการจำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลปรับสมดุลใหม่ด้วยการให้ความสำคัญกับฝั่งเศรษฐกิจมากขึ้น
  • ในเชิงระบาดวิทยา ยิ่งตรวจพบผู้ป่วยมาก ยิ่งคุมโรคได้เร็ว ผู้ว่าฯ ไม่ควรตั้งเป้าหมายว่าจะไม่พบผู้ป่วยในช่วง 2 สัปดาห์นี้ แต่ตรวจพบให้ไว (Early Detection) แทน

จากกรณีที่วานนี้ (24 ธันวาคม) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ยืนยันว่า ไม่มีคำว่าล็อกดาวน์ประเทศไทยในการประชุมวันนี้เลย แต่ได้มีการแบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์เพื่อให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดมาตรการต่างๆ ตามสถานการณ์และหลักเกณฑ์ มีข้อสังเกตดังนี้

 

  1. มาตรการของ ศบค. มีความจำเพาะกับสถานการณ์การระบาดในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยดำเนินกิจกรรม / กิจการตามปกติ (ใหม่) ต่างจากการระบาดระลอกก่อนที่ดำเนินมาตรการปิดกิจกรรม / กิจการที่เสี่ยงเหมือนกันทั้งประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

 

  1. พื้นที่ควบคุมสูงสุด 
  2. พื้นที่ควบคุม
  3. พื้นที่เฝ้าระวังสูง
  4. พื้นที่เฝ้าระวัง

 

โดยใช้เกณฑ์จำนวนผู้ป่วยสะสมในระลอกใหม่ระหว่างจำนวนมาก (เท่าไร) มากกว่าหรือน้อยกว่า 10 ราย (จังหวัดใหญ่จะเสียเปรียบตรงที่มีประชากรมากกว่า จำนวนผู้ป่วยก็อาจมากกว่าจังหวัดที่มีประชากรน้อย) แต่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาว่าถึงวันไหน หรือจะมีการประเมินทุกสัปดาห์หรือไม่

 

เกณฑ์ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่ติดกับ ‘พื้นที่ควบคุมสูงสุด’ จะเป็น ‘พื้นที่ควบคุม’ โดยอัตโนมัติ หรือถ้าพบผู้ป่วยจำนวนมาก >1 พื้นที่ย่อยก็จะกลายเป็น ‘พื้นที่ควบคุมสูงสุด’ ร่วมกับการคาดการณ์การระบาดภายในจังหวัดว่ามีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยรายใหม่ หรือสามารถควบคุมได้ดีหรือไม่

 

  1. ถ้าเปรียบเทียบแต่ละจังหวัดเป็นประเทศย่อยๆ แล้วแบ่งระยะการระบาดภายในประเทศแบบที่เคยได้ยินเมื่อช่วงต้นปี ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

 

  • ระยะที่ 1 พบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
  • ระยะที่ 2 พบผู้ป่วยภายในประเทศในวงจำกัด 
  • ระยะที่ 3 พบการระบาดเป็นวงกว้าง จนไม่สามารถระบุได้ว่าใครติดมาจากใคร
  • ขอเพิ่มระยะที่ 0 คือไม่พบผู้ป่วยภายในประเทศ

 

ก็มีความคล้ายกัน เช่น ในขณะนี้หลายจังหวัดพบผู้ป่วยนำเข้ามาจากสมุทรสาคร แต่ยังมีจำนวนน้อย จึงจัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตรงกับการระบาดระยะที่ 1 แต่ที่ต่างกันคือ การแบ่งพื้นที่ครั้งนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลการสอบสวนโรคว่ามีเชื่อมโยงกับผู้ป่วยก่อนหน้า หรือที่มาที่ไปได้หรือไม่

 

เพราะกรณีที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ยังมีความเชื่อมโยงกับจังหวัดสมุทรสาคร กับกรณีที่ไม่สามารถระบุได้ว่าใครติดมาจากใคร มีความหมายต่างกัน กล่าวคือกรณีหลังแสดงว่ามีการระบาดภายในชุมชนมาก่อนหน้านี้แล้ว ในขณะที่กรณีแรกแสดงว่าสามารถตรวจจับผู้ป่วยได้รวดเร็ว

 

  1. ข้อกำหนดของพื้นที่แต่ละกลุ่มสามารถเรียบเรียงได้ 7 ประเด็น ดังนี้

 

  • การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก
  • การเรียนและการทำงาน
  • กิจกรรมที่มีการรวมตัวกัน
  • การเปิด-ปิด สถานประกอบการ
  • การเดินทาง
  • แรงงานต่างด้าว
  • การฉลองปีใหม่และงานวันเด็ก

 

โดยการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) มีความเข้มข้น 3 ระดับ คือ ‘เร่งรัด’ ‘พิจารณา’ และ ‘ให้มี’ การตรวจหาเชื้อในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มบุคคลเสี่ยง กิจกรรม / กิจการที่เสี่ยง ซึ่งขณะนี้มีความจำเป็นในทุกพื้นที่เพื่อตีวงการระบาด โดยเฉพาะพื้นที่เฝ้าระวัง ซึ่งยังไม่พบผู้ป่วยควรรีบดำเนินการ 

 

จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2563 เป็นผลดีในเชิงระบาดวิทยา เพราะยิ่งตรวจพบผู้ป่วยมาก ทั้งจากการติดตามผู้สัมผัสและการค้นหาเชิงรุก ยิ่งควบคุมโรคได้เร็ว ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ควรตั้งเป้าหมายว่าจะไม่พบผู้ป่วยในช่วง 2 สัปดาห์นี้ แต่ตรวจพบให้ไว (Early Detection) แทน

 

  1. ถึงแม้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. จะไม่ใช้คำว่า ‘ล็อกดาวน์’ ในความหมายที่ว่าการจำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลปรับสมดุลใหม่ด้วยการให้ความสำคัญกับฝั่งเศรษฐกิจมากขึ้น แต่มาตรการเกี่ยวกับสถานประกอบการ / สถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่

 

  • สถานประกอบการที่จำเป็น: จำกัดเวลาเปิด-ปิด
  • สถานประกอบการเสี่ยง: ปิด 
  • การทำงานที่ให้ใช้มาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อย่าง ‘เต็มขีดความสามารถ’ และในพื้นที่ควบคุมยังกำหนดให้บุคคลที่มาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด Work from Home
  • รวมถึงการเรียนที่ปรับเป็นรูปแบบออนไลน์  

 

ก็ยังมีความเป็นกึ่งล็อกดาวน์อยู่คือ จำกัดไม่ให้คนเดินทางออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ส่วนพื้นที่อื่น ศบค. ให้พิจารณา ‘ตามความเหมาะสม’ ซึ่งต้องติดตามต่อว่าแต่ละจังหวัดชั่งน้ำหนักระหว่าง ‘ความจำเป็น’ และ ‘ความเสี่ยง’ ของแต่ละสถานประกอบการอย่างไร 

 

  1. คนไทยสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ตามปกติ ไม่ต้องขออนุญาตและไม่มีข้อจำกัดว่าเมื่อเดินทางข้ามไปแล้วจะต้องกักตัว สำหรับมาตรการ ‘กักตัว’ กรมควบคุมโรคมีแนวทางที่ชัดเจนแล้วว่าใช้เฉพาะ ‘ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง’ เท่านั้น ดังนั้นทุกคนสามารถเดินทางไปเที่ยวทุกจังหวัดได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่

 

  1. ห้ามแรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้ายเข้าออกจังหวัด เป็นมาตรการสำหรับทุกกลุ่มพื้นที่ พร้อมกับการตั้งจุดสกัดระหว่างพื้นที่เป็นเรื่องดี แต่ควรมีนโยบายจูงใจให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองเชิงรุก และจัดหาสถานที่กักกันโรคในกรณีที่เพิ่งลักลอบเข้ามาไม่เกิน 14 วัน

 

ส่วนการตั้งด่านคัดกรอง โดยเฉพาะการตรวจวัดไข้บนถนนสายหลักที่เข้าออกจังหวัด แทบไม่มีความจำเป็น เพราะผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ แต่ควรเปลี่ยนเป็นการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงในชุมชน และการคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีอาการแทน

 

  1. การจัดกิจกรรมฉลองปีใหม่และงานวันเด็ก แบ่งตามพื้นที่ ดังนี้

 

  • พื้นที่ควบคุมสูงสุด งดจัดกิจกรรมฉลองทุกชนิด และให้จัดแบบออนไลน์
  • พื้นที่ควบคุม งดจัดกิจกรรมสาธารณะ แต่ผ่อนผันให้จัดกิจกรรมที่จำกัดผู้เข้าร่วมหรือเฉพาะผู้ที่คุ้นเคย
  • พื้นที่เฝ้าระวังสูงและพื้นที่เฝ้าระวังจัดกิจกรรมได้ แต่ต้องมีมาตรการรองรับ เช่น ลดขนาดงาน ลดความหนาแน่น และควบคุมไม่ให้แออัด

 

มาตรการนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารวมถึงกิจกรรมฉลองภายในบ้านหรือไม่ มิฉะนั้นแสดงว่าพื้นที่ควบคุมสูงสุดประชาชนจะไม่สามารถจัดงานเลี้ยงกันเองได้เลย ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกบ้านก็ยังรับประทานอาหารร่วมกันตามปกติ แต่อาจแนะนำว่าไม่ควรรวมญาติ หรือรวมกันไม่เกิน 1-2 ครอบครัว

 

  1. มาตรการป้องกันโรคหลัก เป็นการเน้นย้ำมาตรการเดิม ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ ได้แก่ 

 

  1. สวมหน้ากากอนามัย 100%
  2. เน้นการทำความสะอาดมือ สถานที่ หรืออุปกรณ์ที่สัมผัสบ่อยๆ
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด
  4. สแกนแอปพลิเคชันไทยชนะ 

 

แต่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุมให้มีการติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะเพิ่มเติมด้วย ซึ่งก็เป็นประเด็นข้อดี-ข้อเสีย เดิมว่าจะมีประโยชน์อย่างไร (‘ไทยชนะ’ ได้รับการพัฒนาหลังจาก ‘หมอชนะ’) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และทุกคนไม่ได้มีหรือใช้สมาร์ทโฟนตลอดเวลา

 

  1. ข้อมูลจากการสอบสวนโรคที่สมุทรสาครล่าสุด ที่กรมควบคุมโรคนำเสนอเป็นพื้นที่ไข่แดงของ 3 ตลาด (ตลาดกลางกุ้ง ตลาดทะเลไทย และตลาดมหาชัย) ส่วนพื้นที่โดยรอบมีอัตราป่วยลดหลั่นลงไป แสดงให้เห็นว่าการตรวจคัดกรองเชิงรุกช่วยในการตีวงการระบาดได้เป็นอย่างดี

 

(หมายเหตุ: การแบ่งสีในภาพไม่เกี่ยวกับการแบ่งโซนสีของ ศบค.)

 

ถ้าเปรียบเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ ช่วงแรกค่อนข้างโกลาหล ทุกคนช่วยกันดับไฟก่อน แต่เมื่อควบคุมสถานการณ์ได้ เราถึงเห็นความเสียหายที่แท้จริงว่าไฟไหม้ตรงไหนบ้าง

 

“ตรวจจับเร็ว ตอบโต้ทัน ป้องกันได้” เป็นหลักการของทีมสอบสวนและควบคุมโรค ซึ่งความจริงแล้วแนวคิดของฝั่งสาธารณสุขแทบไม่ต่างจากฝั่งเศรษฐกิจเลย ผมเคยได้ยินยุทธศาสตร์ของ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันอย่าให้ลาม” 

 

  1. โดยสรุป มาตรการแบ่ง 4 โซนควบคุมโควิด-19 ของ ศบค. เป็นท่าทีที่มีความสำคัญของรัฐบาลทั้งในด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ แต่ยังมีรายละเอียดที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต้องวางแผนต่อ และ ศบค. เองก็อาจปรับมาตรการอีกครั้งตามสถานการณ์

 

หมายเหตุ: บทความนี้วิเคราะห์จากแถลงของ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 23-24 ธันวาคม 2563

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X