ถ้าพรุ่งนี้ (7 เมษายน 2564) ศบค. ชุดเล็ก เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเมื่อวานตอนช่วงบ่าย กรุงเทพฯ จะถูกยกระดับขึ้นมาเป็น ‘พื้นที่สีแดง’ หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดอีกครั้ง มาตรการที่สำคัญคือการกำหนดเวลาเปิด-ปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ โดยให้เปิดถึง 21.00 น.
แต่เมื่อวานตอนช่วงค่ำ ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ได้ออกประกาศ ‘ปิด’ ผับ บาร์ คาราโอเกะ และอาบ อบ นวดใน 3 เขต ได้แก่ วัฒนา คลองเตย และบางแค ตั้งแต่ 6-19 เม.ย. 2563 เพื่อสอบสวนโรค ส่วนลาดพร้าว ห้วยขวาง พระนคร และภาษีเจริญให้ปิดเฉพาะร้านที่พบผู้ติดเชื้อ
ก่อนจะมาถึงวันนี้ เกิดอะไรขึ้นที่กรุงเทพฯ บ้าง ความเสี่ยงของสถานบันเทิงคืออะไร และกระทรวงสาธารณสุขเสนอมาตรการควบคุมโรคเพิ่มเติมอย่างไร
ไทม์ไลน์การระบาดในกรุงเทพฯ
กลางธันวาคม 2563 นับตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกใหม่ที่สมุทรสาคร ก็พบการระบาดในกรุงเทพฯ ตามมา โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกซึ่งอยู่ติดกัน และเคยแพร่เข้าไปในสถานบันเทิงและร้านอาหารย่านปิ่นเกล้ามาแล้วรอบหนึ่งช่วงปลายปี 2563 ต่อต้นปี 2564 (รูปที่ 1)
แต่สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น หลังจาก ศบค. ประกาศมาตรการควบคุมแบบบูรณาการไปแล้ว 2 สัปดาห์ (เริ่มประกาศ 4 มกราคม) ให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ ‘สีแดง’ ซึ่งในขณะนั้นจะต้องปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ทั้งหมด และได้รับการผ่อนคลายให้เป็น ‘สีส้ม’ เริ่มเปิดสถานบันเทิงในวันที่ 23 กุมภาพันธ์
รูปที่ 1 เส้นโค้งการระบาดของโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ช่วงแรกเป็นผู้ป่วยที่เชื่อมโยงกับสมุทรสาคร (สีแดง) รวมถึงสถานบันเทิง (สีดำ)
(อ้างอิง: เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19, 31 มีนาคม 2564)
กลางกุมภาพันธ์ 2564 ระหว่างที่กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อรายวันต่ำกว่า 10 ราย ปทุมธานีพบการระบาดในตลาดพรพัฒน์และตลาดสุชาติ ทำให้กรุงเทพฯ ฝั่งเหนือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ผลการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกตั้งแต่ 18 มกราคม – 1 เมษายน 2564 กลับพบผู้ป่วยเพียง 6 ราย (0.07%)
ต้นมีนาคม 2564 พบการระบาดในตลาดย่านบางแค นำไปสู่การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกและพบผู้ป่วยจำนวนมาก (ณ วันที่ 1 เมษายน พบผู้ป่วยในเขตบางแค 364 ราย) แต่ไม่มีความเชื่อมโยงกับสถานบันเทิงเลย ในขณะที่จังหวัดปริมณฑลก็ยังพบผู้ป่วยเช่นกัน แต่จำนวนไม่มาก
ปลายมีนาคม 2564 เริ่มพบการระบาดในสถานบันเทิงอีกครั้ง ซึ่งจากการสอบสวนโรคยังไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของเชื้อได้ แต่กรมควบคุมโรค และ ศบค. ลำดับเวลาของผู้ป่วยที่มีความเชื่อมโยงกับสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่าเริ่มต้นจากปทุมธานี (รูปที่ 2)
- ผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับรายงาน (Index Case) ในปทุมธานี เป็นนักศึกษาชาย อายุ 20 ปี เริ่มมีอาการวันที่ 13 มีนาคม และตรวจพบเชื้อวันที่ 18 มีนาคม ซึ่งน่าจะแพร่เชื้อให้กับเพื่อน (ตรวจพบเชื้อ 22 มีนาคม) หลังจากนั้นเพื่อนคนนี้ได้ไปเที่ยวสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ และแพร่เชื้อต่อให้กับเพื่อนอีก 2 คน
- ไล่เลี่ยกันมีการระบาดที่สถานบันเทิงในนครปฐม Index Case เป็นนักร้องชาย อายุ 27 ปี รับจ้างที่สถานบันเทิงหลายแห่ง เริ่มมีอาการวันที่ 22 มีนาคม และตรวจพบเชื้อวันที่ 26 มีนาคม แพร่เชื้อต่อให้กับคนในวงดนตรี และนักศึกษาชาย อายุ 19 ปี ที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านศาลายาที่นักร้องไปทำงาน
- ส่วนสถานบันเทิงย่านทองหล่อก็มี Index Case เป็นชาย อายุ 35 ปี เริ่มมีอาการวันที่ 26 มีนาคม และตรวจพบเชื้อวันที่ 27 มีนาคม แพร่เชื้อให้กับเพื่อนที่ทำงาน จากนั้นเพื่อนที่ทำงานก็แพร่เชื้อต่อให้กับแฟน แล้วแฟนก็แพร่ให้กับเพื่อนผู้หญิงที่พักอยู่ด้วยกัน นับเป็นรุ่น (Generation) ที่ 3 ของการแพร่เชื้อ
ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน พบผู้ป่วยจาก ‘คลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ’ และแห่งอื่นๆ รวม 71 ราย นอกจากนี้ยังพบว่ากระจายไปยังต่างจังหวัดด้วย ได้แก่ ชลบุรี ชุมพร และเชียงใหม่ (4 ราย โดย 3 รายแรกเชื่อมโยงกับสถานบันเทิงย่านรัชดา ส่วนอีกรายมีประวัติเดินทางมานนทบุรี)
แสดงว่าการแพร่เชื้อในสถานบันเทิงน่าจะเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะ Index Case แต่ละคนไม่สามารถระบุแหล่งโรคได้ และมีแนวโน้มจะระบาดเป็นวงกว้างเหมือนการระบาดในระลอกแรก ซึ่งก็มีจุดเริ่มต้นที่สถานบันเทิงและสนามมวย เพียงแต่มาตรการควบคุมโรคอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
รูปที่ 2 ไทม์ไลน์คลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
(อ้างอิง: เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19, 5 เมษายน 2564)
ปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดในสถานบันเทิง
เชื้อโรค-คน-สิ่งแวดล้อม เป็นกรอบแนวคิดทางระบาดวิทยาที่ใช้อธิบายปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ สำหรับ ‘เชื้อโรค’ คือไวรัส SARS-CoV-2 เหมือนเดิม แต่เป็นสายพันธ์ุอะไรจะต้องรอผลการตรวจหาลำดับสารพันธุกรรมก่อน ซึ่งจะช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างคลัสเตอร์ด้วย
ส่วน ‘คน’ เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะผู้ที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงเป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน ถ้าติดเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย ทำให้ไปเที่ยวและแพร่เชื้อต่อได้ พฤติกรรมภายในร้านที่ไม่สามารถสวมหน้ากากตลอดเวลาได้ ร้องเพลง หรือต้องตะโกนคุยกัน เพราะเพลงเสียงดัง ทำให้เกิดละอองน้ำลายมากขึ้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ถ้าดื่มอย่างหนักก็อาจทำให้ขาดสติในการระมัดระวังตัว นอกจากนี้ การทำงานของนักร้อง / นักดนตรีที่ไม่ได้ประจำร้านใดร้านหนึ่ง รวมถึงการเที่ยวหลายร้าน หรือการเที่ยวข้ามจังหวัดของนักดื่ม / นักเที่ยว ก็ทำให้เกิดการระบาดไปยังพื้นที่ใหม่ด้วย
ในขณะที่ ‘สิ่งแวดล้อม’ ก็เอื้อต่อการเกิดเหตุการณ์การแพร่กระจายเชื้อมากเป็นพิเศษ (Superspreading Event) เพราะอากาศถ่ายเทไม่สะดวก เมื่อผู้ติดเชื้อตะโกนคุยหรือร้องเพลง ก็จะทำให้ละอองน้ำลายลอยอยู่ในอากาศได้นานขึ้น ประกอบกับความแออัดของสถานที่ ทำให้คนจำนวนมากได้รับเชื้อ
ด้วยความเสี่ยงที่สูง สถานบันเทิง ผับ บาร์ จึงเป็น ‘สถานที่แรก’ ที่ถูกสั่งปิด เมื่อมีการระบาดในชุมชน ถึงแม้จะยังไม่พบผู้ป่วยก็ตาม และในการระบาดระลอกแรกก็เป็น ‘สถานที่สุดท้าย’ ที่ได้รับการผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มมาตรการของศบค. จะมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
โดยรองโฆษก ศบค. แถลงเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ว่าแนวทางควบคุมสถานบันเทิงแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
- ปิดร้านทันที 14 วัน หากพบผู้ติดเชื้อเพียงร้านเดียว
- ปิดเป็นโซน หากพบผู้ติดเชื้อหลายร้านในพื้นที่เดียวกัน เช่น ปิดร้านในโซนทองหล่อ
- ปิดทั้งจังหวัด หากควบคุมสถานการณ์ไม่ได้
มาตรการควบคุมการระบาดจากสถานบันเทิง
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 คณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้เสนอมาตรการเพิ่มเติมต่อ ศบค. ตัวอย่างมาตรการที่สำคัญ ดังนี้
- กรมควบคุมโรคปรับปรุงการกำหนดเขตพื้นที่ให้ตรงกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน ซึ่งกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ จะถูกยกระดับเป็นพื้นที่ ‘สีแดง’ (ส่วนสมุทรสาครเป็น ‘สีส้ม’) ความแตกต่างของมาตรการคือการเปิด-ปิดสถานบันเทิง ดังรูปที่ 3
รูปที่ 3 ข้อเสนอมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข (รอ ศบค. เห็นชอบ 7 เมษายน 2564)
- กรมควบคุมโรควางระบบเฝ้าระวังในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (Sentinel Surveillance) ในจังหวัดเสี่ยง เน้นพื้นที่ที่มีสถานบันเทิง บทเรียนในครั้งนี้คือ Index Case ไม่ใช่ผู้ป่วยรายแรก เพราะมีการระบาดมาก่อนระยะหนึ่งแล้ว การตรวจหาเชื้อในพนักงานเป็นประจำจะช่วยให้ตรวจพบการระบาดได้เร็วขึ้น
- อสม. ในจังหวัดปลายทางติดตามผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แสดงว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เสนอให้จำกัดการเดินทางเหมือนการระบาดรอบก่อน และไม่ยกเลิกวันหยุดสงกรานต์ แต่ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ติดตามอาการ หรือตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยงแทน
- โรงพยาบาลทุกแห่งซักประวัติ หากมีความเสี่ยงให้ตรวจหาเชื้อทันที จากการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ควบคุมการระบาดได้ โดยเฉพาะประชาชนที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงเดียวกับผู้ป่วย ประชาชนที่มีความเสี่ยงสามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อฟรีที่โรงพยาบาลรัฐใกล้บ้าน
ในแง่หนึ่งการตรวจพบผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อและแห่งอื่นๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อนวันหยุดสงกรานต์ถือเป็น ‘เรื่องดี’ ที่ยังพอมีเวลาสำหรับการควบคุมโรค โดยเฉพาะการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อตีวงการระบาดให้ได้ก่อนจะมีการเดินทางออกจากต่างจังหวัด
สำหรับผมถือว่าเป็น ‘เรื่องปกติ’ ที่พบการระบาดในสถานบันเทิง เพราะปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในสถานบันเทิง (ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะต้องร่วมกันออกแบบมาตรการลดความเสี่ยงกันอีกครั้ง) และทั้งภายนอกที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 ในชุมชนอยู่ เพียงแต่จำนวนผู้ป่วยไม่มาก
แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็น ‘เรื่องที่ต้องปรับปรุง’ เพราะรัฐบาลประกาศ ‘เป้าหมาย’ ว่าจะมีวันหยุดสงกรานต์ แต่ไม่มี ‘วิธีการ’ เพิ่มเติมจากมาตรการปกติว่าจะทำอย่างไรให้ไปถึงเป้าหมายนี้ได้อย่างปลอดภัย เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องพะว้าพะวังกับการระบาดอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- สธ. เสนอ ศบค.ปรับ 5 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดง คุมผับบาร์ห้ามดื่มสุราเปิดไม่เกิน 3 ทุ่ม https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/156327/
- ปิดสถานบริการทุกแห่ง 3 เขต 6-19 เม.ย. 64 http://www.prbangkok.com/th/hotnews/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQ1NTkyMg