×

ส่องประวัติศาสตร์จากยุค ‘เมจิ’ สู่ ‘เรวะ’ ในวันที่ญี่ปุ่นผลัดแผ่นดิน

09.04.2019
  • LOADING...
Reiwa Era

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • จากยุคเมจิสู่ยุคเรวะ ญี่ปุ่นได้ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่หลากหลายตั้งแต่จุดสูงสุดสู่จุดต่ำสุด แต่ดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้นำบทเรียนจากความพ่ายแพ้มาสู่ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในหลายครั้ง และนี่คือประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นก่อนจะก้าวข้ามสู่ยุคผลัดแผ่นดิน

1 พฤษภาคม 2019 ประเทศญี่ปุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยครั้งสำคัญอีกครั้ง รัชศก ‘เรวะ’ พร้อมกับการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ พระนาม นารุฮิโตะ และนี่คือห้วงเวลาที่เหมาะสมที่จะมาทบทวนกันว่า ในแต่ละรัชศกเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ใดขึ้นบ้างกับประเทศญี่ปุ่น

 

ยุคเมจิ กับการฟื้นฟูอำนาจของจักรพรรดิ

จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศญี่ปุ่นเริ่มต้นจากรัชศก ‘เมจิ’ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม 1868 จนถึง 30 กรกฎาคม 1912 พร้อมกับการครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ ซึ่งโดยธรรมเนียมของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิ ประชาชนจะเรียกขานพระองค์ด้วยชื่อรัชศกแทนชื่อตัว ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะสวรรคต ประชาชนชาวญี่ปุ่นจึงเรียกขานพระนามของพระองค์ว่า สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ

 

นักวิชาการหลายๆ ท่านก็ขนานนามพระองค์เป็นมหาราชด้วย เพราะในยุคเมจิคือยุคที่มีการฟื้นฟูอำนาจของจักรพรรดิขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่จักรพรรดิเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ภายใต้ระบอบโชกุน (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) จริงๆ แล้วเป็นคำย่อของคำว่า เซอิไทโชกุน ซึ่งแปลว่าผู้นำกองกำลังที่ยิ่งใหญ่ในการสู้รบเพื่อปราบปรามอนารยชน

 

ซึ่งโชกุนในตระกูลโทกุงาวะที่มีต้นวงศ์คือ โทกุงาวะ อิเอยาสุ ได้เป็นผู้สถาปนาระบบนี้ขึ้นมาภายหลังจากการรบชนะสงครามเซกิงาฮาระในปี 1600 ซึ่งนับเป็นมหาสงครามที่ทำให้เกิดการรวบรวมก๊กเหล่าต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของโชกุนได้สำเร็จ

 

ระบบโชกุนเปรียบได้กับระบบฟิวดัล หรือระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ในยุคกลางของทวีปยุโรป ที่จะมีไดเมียว (เจ้าเมือง) หลายตระกูลทำหน้าที่เป็นเจ้าผู้ครองที่ดินและทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งประชาชนที่เป็นเกษตรกรที่ทำการเกษตรและแบ่งปันผลผลิตให้กับไดเมียว รวมทั้งเป็นกองกำลังของไดเมียว ที่ทั้งหมดต้องนำทั้งกองกำลังและผลผลิตต่างๆ มาสนับสนุนโชกุนที่เมืองเอโดะ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางอำนาจ เริ่มต้นยุคสมัยที่ถูกเรียกขานกันในนามเอโดะ ในขณะที่จักรพรรดิก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางการปกครองที่ไม่มีอำนาจในการสั่งการและครองราชย์อยู่เกียวโต โดยระบบโชกุนเป็นระบอบในการปกครองญี่ปุ่นอยู่ถึงกว่า 268 ปี (1600-1868)

 

หลังจากการปกครองในระบอบโชกุนอย่างยาวนานมากกว่า 250 ปี ประเทศญี่ปุ่นที่สงบปราศจากสงครามจากนโยบายปิดประเทศ ไม่ติดต่อกับต่างชาติตามนโยบายซาโกกุ โดยอนุญาตให้ทำการค้าได้เฉพาะกับพ่อค้าชาวจีน และชาวฮอลันดา (บริษัท Dutch East India Company, Vereenigde Oostindische Compagnie หรือ VOC) ได้เพียงที่เมืองท่านางาซากิเท่านั้น ซามูไรที่ไม่ได้สู้รบ มีเกียรติยศ แต่ปราศจากความมั่งคั่ง ก็เริ่มต้นสร้างสายสัมพันธ์ผ่านการแต่งงานกับลูกสาวของพ่อค้า ซึ่งแน่นอนว่ามั่งคั่งแต่ไร้เกียรติ

 

ตระกูลพ่อค้าเหล่านี้กลายเป็นฐานกำลังสำคัญที่ไม่ได้สนับสนุนโชกุนที่ปิดประเทศอีกต่อไป หากแต่กลุ่มการค้าที่มั่งคั่งเหล่านี้ ซึ่งเรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า ไซบัตสึ ต้องการผู้นำคนใหม่ที่จะสนับสนุนให้เกิดการเปิดประเทศ เปิดการปฏิรูป และนำพาประเทศไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มิใช่ความแข็งแกร่งของกองทัพอีกต่อไป

 

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ กองเรือ Black Ship ซึ่งนำโดยกัปตันแมทธิว เพอร์รี แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ยกกองกำลังเข้ามากดดัน แม้จะมีกำลังพลไม่มาก แต่อาวุธที่ทันสมัยกว่า และเหล่าซามูไรที่ว่างเว้นจากการทำศึก ก็ทำให้โชกุนต้องยอมเปิดการค้ากับต่างประเทศและลงนามในสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (หลังจากนี้สหรัฐฯ จะกลายเป็นปัจจัยกดดันและเร่งให้ญี่ปุ่นต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงในอีกหลายเรื่องหลายวาระ ตลอดประวัติศาสตร์สมัยใหม่) แรงกดดันเหล่านี้ทำให้โชกุนคนสุดท้ายของตระกูลโทกุงาวะ นาม โยชิโนบุ จำต้องสละตำแหน่งและคืนอำนาจให้กับสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ

 

ยุคเมจิ อันมีความหมายว่า กฎอันรู้แจ้ง คือการสถาปนายุคใหม่ของญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ ประกาศรัฐธรรมนูญการปกครองญี่ปุ่นที่เป็นการยกเลิกระบบโชกุน มีการย้ายเมืองหลวงจากเกียวโตมายังเอโดะ ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โตเกียว

 

ญี่ปุ่นเริ่มต้นรูปแบบการปกครองในรูปแบบใหม่ที่นำแนวคิดมาจากตะวันตกมาปรับใช้ นั่นคือสมเด็จพระจักรพรรดิได้แต่งตั้งสภาขุนนาง และมีการเลือกตัวแทนจากประชาชนเข้ามาเป็นสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแน่นอนว่าคนของกลุ่มไซบัตสึ ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลก็เข้ามาเป็นตัวแทนร่วมกันในการสนับสนุนการปกครองในระบอบใหม่นี้

 

การยกเลิกระบอบศักดินาโชกุนและไดเมียว ทำให้เกิดการปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน เกษตรกรเริ่มมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และพัฒนาที่ดินรวมทั้งเทคโนโลยีการผลิตของตนเพื่อแข่งกันสะสมความมั่งคั่ง (ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ทำให้ญี่ปุ่นเปรียบเสมือนประเทศยุโรปที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออก) พ่อค้าตระกูลต่างๆ ที่มีบทบาทในการสนับสนุนการปกครองของจักรพรรดิเมจิก็ทำให้ญี่ปุ่นเกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งสำคัญ โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าจำนวนมากเกิดขึ้นในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบการคมนาคม ถนน ท่าเรือ รถไฟ การไปรษณีย์ การธนาคาร รัฐบาลให้การสนับสนุนและเป็นผู้เล่นเองในอุตสาหกรรมพื้นฐาน จากจุดเริ่มต้นของยุคเมจิในปี 1868 พอเข้าสู่ทศวรรษ 1890 ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนสถานะจากประเทศเกษตรกรรมล้าหลังและด้อยพัฒนากลายเป็นประเทศที่มีระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูงสุดในทวีปเอเชีย และนั่นคือความสำเร็จสูงสุดของยุคเมจิที่กินระยะเวลา 44 ปี

 

จากรัชศกไทโช สู่รัชศกโชวะ ก้าวสู่มหาอำนาจ และวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น

รัชศกไทโช เริ่มต้นในวันที่ 30 กรกฎาคม 1912 ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ และการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ (พระโอรสของมุตสึฮิโตะ) และเป็นรัชศกที่ไม่ยาวนานนัก เพราะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ธันวาคม 1926 (กินระยะเวลาเพียง 14 ปี) เนื่องจากสมเด็จพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะทรงมีพระพลานามัยที่ไม่แข็งแรงมากนักเนื่องจากมีโรคประจำตัว (โรคทางระบบเส้นประสาท)

 

แน่นอนว่าประเด็นเหล่านี้ทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะไม่ได้เป็นจักรพรรดิที่เข้มแข็งในทางอำนาจการปกครองบริหารประเทศเท่ากับจักรพรรดิเมจิ และนั่นทำให้สภา Imperial Diet of Japan ที่ประกอบด้วยพรรคการเมือง 2 พรรคมีบทบาทในการบริหารจัดการปกครองประเทศมากยิ่งขึ้น จนนักวิชาการจำนวนหนึ่งเรียกยุคสมัยนี้ว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทโซ’ (Taisho Democracy) และในช่วงปลายรัชศก สมเด็จพระจักรพรรดิเองก็ประชวรจนต้องให้มกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนในตำแหน่งเซตโช

 

เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะสวรรคต มกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะ ก็ขึ้นครองราชย์ในวันที่ 25 ธันวาคม 1926 และเป็นจุดเริ่มต้นของรัชศกโชวะ ซึ่งน่าจะเป็นรัชศกที่มีสีสันมากที่สุดของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เพราะตลอดรัชศกนี้ ญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งจนถึงขนาดที่จะสถาปนาตนเองเป็นมหาอำนาจได้ถึง 2 รอบ โดยรอบแรกเป็นจักรวรรดินิยมทางการทหารที่เข้มแข็งจนเป็นผู้ก่อให้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา และรอบที่สองคือการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในช่วงครึ่งหลังของรัชศกตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จนถึงวันสุดท้ายของรัชศกในวันที่ 7 มกราคม 1989

 

รัชศกโชวะเริ่มต้นด้วยภาวะข้าวยากหมากแพงอันเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำพร้อมกันทั่วโลก หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Great Depression อำนาจซื้อของประเทศในโลกตะวันตกลดลงชนิดดิ่งเหว ทำให้การส่งออกของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมลดลงเกินกว่า 50% ราคาสินค้าโดยเฉพาะข้าวและอาหารในประเทศญี่ปุ่นถีบตัวสูงขึ้น อัตราการว่างงานพุ่งทะยานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนทั้งในชนบทและในเมือง การพึ่งพาการค้าและพึ่งพาต่างประเทศ ทำให้กลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง (Ultranationalism) เริ่มต้นขยายอิทธิพลทางความคิด และรัฐบาลของสมเด็จพระจักรพรรดิ รวมทั้งกองทัพเองก็สนับสนุนแนวคิดนี้ด้วย เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะใช้ต่อสู้กับกลุ่มซ้ายจัดที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (แน่นอนว่าญี่ปุ่นเห็นการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ที่โค่นล้มระบบซาร์และเปลี่ยนประเทศเป็นสังคมนิยม)

 

จุดเริ่มต้นของชาตินิยมสุดโต่งแบบญี่ปุ่น

ด้วยเหตุที่รัฐบาลล้มเหลว ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและคุมกองทัพได้ ดังนั้นกองทัพซึ่งยึดแนวคิดบูชาวิถีแห่งนักรบ ก็เริ่มต้นยกระดับญี่ปุ่นให้กลายเป็นจักรวรรดิ โดยการออกไปล่าอาณานิคม เพื่อหาแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ เข้ามาแก้ไขปัญหาข้าวยากหมากแพงภายในประเทศ และเรดาร์ของญี่ปุ่นก็ไปสะดุดตาดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่เรียกกันว่า แมนจูเรีย  

 

แนวคิดชาตินิยมแบบสุดโต่งทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะกองทัพเริ่มรู้สึกว่าชนชาติของตนเองที่มีวิญญาณยามาโตะ เป็นชนชาติที่มีความเหนือกว่าชนชาติอื่นๆ ในโลก อารมณ์เดียวกันกับกลุ่มนาซีที่ชาตินิยมสุดโต่ง และเชื่อว่าชาวอารยันคือชนเผ่าที่เยี่ยมยอดที่สุดในโลก ในกรณีของนาซีภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวและชนชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่อารยัน และในกรณีของญี่ปุ่น การบุกเข้ายึดครองดินแดนแมนจูเรียทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนก็เกิดขึ้นในปี 1937 และนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นานกิงในระหว่างปลายเดือนธันวาคม 1937 ถึงมกราคม 1938 ซึ่งมีชาวจีนกว่า 300,000 คนถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมโดยกองทัพญี่ปุ่นที่บ้าคลั่งถึงขีดสุด

 

จักรวรรดินิยมญี่ปุ่นเริ่มพิจารณาว่า ABCD Power อันประกอบไปด้วย A: American, B: British, C: China และ D: Dutch คือภัยคุกคาม เอเชียต้องปกครองโดยคนเอเชียซึ่งในที่นี้คือญี่ปุ่นที่ต้องการหาแนวร่วมอันนำไปสู่การก่อตั้ง ‘วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา’ (Greater East Asia Co-Prosperity Sphere) และการเผยแพร่แนวคิดที่ว่า เอเชียเพื่อเอเชีย และมีเพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะช่วยปลดปล่อยประเทศในเอเชียจากการปกครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตก กองทัพญี่ปุ่นเริ่มกรีฑาทัพเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อยึดครองทรัพยากรเพื่อใช้เป็นยุทธภัณฑ์ในการทำสงครามกับจีน และแน่นอนว่าประเทศที่ขัดขืนกองทัพของสมเด็จพระจักรพรรดิก็หมายถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในนานกิง โดยประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นคือ ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์

 

แนวคิดชาตินิยมสุดโต่งของญี่ปุ่นสอดคล้องกับแนวคิดของนาซีเยอรมนี และนั่นทำให้เกิด Rome-Tokyo-Berlin Axis ในวันที่ 27 กันยายน 1940 กองทัพญี่ปุ่นบุกฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของกองทัพสหรัฐอเมริกาในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 บุกฮ่องกงในวันรุ่งขึ้น และเข้ายึดครองฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย (ขณะนั้นเรียกว่า Dutch East Indies) สยาม และพม่า ได้ในปี 1942 กองทัพญี่ปุ่นดูเหมือนจะไม่เคยพ่ายแพ้ จนกระทั่งยุทธนาวี Battle of Midway (4-7 มิถุนายน 1942) ที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายปราชัย และนั่นทำให้ญี่ปุ่นยิ่งต้องการทรัพยากรจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างแสนยานุภาพ

 

สงครามดำเนินต่อไปจนถึงปี 1945 และญี่ปุ่นก็ปราชัยอย่างย่อยยับ เมื่อสหรัฐอเมริกาใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อทำลายฐานการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่เมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 (มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70,000 คน) ตามด้วยกองทัพโซเวียตที่บุกยึดแมนจูเรีย และสุดท้ายกองทัพสหรัฐฯ ใช้อาวุธนิวเคลียร์ลูกที่ 2 ทำลายเมืองศูนย์กลางทางการค้าที่นางาซากิ (มีผู้เสียชีวิตทันทีมากกว่า 40,000 คน) จักรพรรดิฮิโรฮิโตะประกาศยอมแพ้ในสงครามมหาเอเชียบูรพาในวันที่ 14 สิงหาคม 1945 ญี่ปุ่นเสียหายอย่างย่อยยับอัปรา คาดว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้คนญี่ปุ่นเสียชีวิตมากกว่า 2.1 ล้านคน

 

ญี่ปุ่นยุคใหม่หลังความพ่ายแพ้

15 สิงหาคม 1945 คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชาชนได้ยินเสียงของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะออกประกาศทางสถานีวิทยุถึงความพ่ายแพ้ของประเทศญี่ปุ่น ประชาชนและทหารกองทัพญี่ปุ่นในวันนั้นเลือกที่จะปลิดชีพตนเองด้วยวิธีเซปปุกุ (หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า ฮาราคีรี) แต่ประชาชนญี่ปุ่นอีกจำนวนหนึ่งก็เลือกที่จะเดินทางไปพระราชวังอิมพีเรียลใจกลางกรุงโตเกียว เพื่อไปยืนตะโกนถวายพระพรองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของพวกเขาทั้ง 2 กลุ่มคือ การปฏิบัติตามวิถีบูชิโด กลุ่มที่ไม่สามารถแบกรับความอัปยศจากการปราชัยไว้ได้ก็ตายไป ส่วนอีกกลุ่มก็ก้มหน้ารับชะตากรรมอย่างกล้าหาญและสู้ต่อไป

 

และคนกลุ่มหลังนี้เองที่สู้ต่อไปและสร้างความมหัศจรรย์ขึ้น การทำงานหนักภายใต้เงื่อนไขที่สิ้นไร้ไม้ตอก บ้านแตกสาแหรกขาด อาศัยจิตใจที่เข้มแข็ง ทำให้ญี่ปุ่นพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มั่งคั่งและมีระดับการพัฒนาการเศรษฐกิจได้ในระดับสูงได้ในช่วงต้นของทศวรรษ 1960

 

28 เมษายน 1964 ญี่ปุ่นก็ได้รับการรับรองสถานะเป็นสมาชิกของ OECD หรือ Organisation for Economic Co-operation and Development หรือความร่วมมือของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้เป็นชาติแรกในเอเชีย และในปีนั้นเอง ญี่ปุ่นก็ยังเป็นชาติแรกของเอเชียที่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดกีฬาโอลิมปิก พร้อมๆ กับที่รถไฟความเร็วสูงชินคันเซนสายโทไกโดเริ่มเปิดให้บริการเป็นครั้งแรก นักวิชาการหลายคนเรียกช่วงเวลามหัศจรรย์ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองที่สุดตลอดทศวรรษ 1960 นี้ว่า ‘Golden 60s’

 

สำหรับชาวไทยวัยกลางคน การ์ตูนญี่ปุ่นที่พวกเขารู้จักกันดีไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์แมวสีฟ้าที่มีของวิเศษในกระเป๋าที่ติดอยู่ที่หน้าท้องอย่าง โดราเอมอน ไอ้มดแดง คาเมนไรเดอร์ และขบวนการ 5 สี ซูเปอร์เซนไต ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ ญี่ปุ่นกลายเป็นแบบอย่างของการพัฒนาตามวิถีเอเชียที่หลายๆ ประเทศจับตามองและต้องการเอาเป็นแบบอย่าง

 

แน่นอนว่าหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามนำโดย นายพล ดักลาส แมกอาเธอร์ ในตำแหน่ง Supreme Commander of the Allied Powers (SCAP) เข้ายึดครองญี่ปุ่น (Occupation of Japan) ญี่ปุ่นภายใต้นโยบาย New Deal ของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ แห่งสหรัฐฯ จะต้องยอมให้สหรัฐฯ เข้ามามีอิทธิพลอย่างสูงในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศ รัฐธรรมนูญที่ลดทอนพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิลงตามแนวคิด สมเด็จพระจักรพรรดิภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก ที่สมเด็จพระจักรพรรดิไม่อาจมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับประชาชนได้ และถูก Depoliticised จนกลายเป็นเพียงเสมือนกับสัญลักษณ์

 

ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ไม่มีกองทัพเป็นของตนเองด้วยความหวาดกลัวว่าญี่ปุ่นจะกลับมาเป็นจักรวรรดินิยม-ชาตินิยมสุดโต่งอีกครั้ง (ปัจจุบันญี่ปุ่นมีเพียง National Police Reserve และ Japan Self-Defense Forces) เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับการปฏิรูปอีกรอบโดยทีมงานที่แมกอาเธอร์คัดเลือก ซึ่งนำโดย วูลฟ์ ลาเดจินสกี นักเศรษฐศาสตร์ที่นิยมแนวคิดแบบ Georgism (เชื่อว่ามูลค่าสินค้าเกิดจากการผลิตของที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติต้องเป็นของสมาชิกทุกคนในระบบเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน) โดยลาเดจินสกีทำงานร่วมกับ ฮิโร วาดะ (ซึ่งต่อมาจะกลายเป็น รมว.เกษตร ของประเทศ) ทำให้การปฏิรูปกรรมสิทธิ์ที่ดินเกิดขึ้น นายทุนที่ครอบครองที่ดินขนาดใหญ่หายไปจากระบบ เช่นเดียวกับการสลายบริษัทธุรกิจขนาดยักษ์ที่มีเส้นสายกับรัฐบาลที่เรียกว่า ไซบัตสึ การศาสนาก็ถูกปฏิรูปมีการแยกศาสนาออกจากการเมืองอย่างชัดแจ้ง ศาสนาชินโต (ต้นกำเนิดของแนวคิดบูชิโด) ไม่ได้เป็นศาสนาประจำรัฐอีกต่อไป

 

ครึ่งหลังของรัชศกโชวะที่สถาบันสมเด็จพระจักรพรรดิไม่ได้มีพระราชอำนาจเช่นเดิม แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงกลับมาเป็นมหาอำนาจได้อีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่มหาอำนาจทางการทหาร หากแต่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

 

ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่สามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ โดยเฉพาะในยุค Industry 3.0 ที่มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ร่วมกับหุ่นยนต์ในการผลิต มหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอดีต ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนีตะวันตก ต่างก็ขาดดุลการค้ามหาศาลให้กับญี่ปุ่น ทศวรรษ 1970-1980 คือช่วงเวลาที่ผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐฯ ต้องไปเรียนภาษาญี่ปุ่น เพราะบริษัทข้ามชาติของญี่ปุ่นที่มีรายชื่อติดอันดับ 50 บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกถึงกว่า 32 บริษัท เข้าควบรวมกิจการธุรกิจสหรัฐฯ โรงงานรถยนต์ที่เคยเป็นอุตสาหกรรมหลักของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Ford, GM, Chrysler เริ่มปิดตัว ทยอยปิดโรงงาน เพราะแข่งขันด้านราคาและการประหยัดน้ำมัน (ในยุค Oil Crisis) สู้กับรถยนต์ Toyota, Honda, Nissan ไม่ได้ ในขณะที่บนเกาะฮาวาย ป้ายบอกชื่อถนนต้องเขียนบอกทางเป็นภาษาญี่ปุ่น เช่นเดียวกับอาคารสำนักงานบนเกาะแมนฮัตตัน

 

สงครามเศรษฐกิจที่นำความพ่ายแพ้มาสู่ชาวอาทิตย์อุทัย

และนี่เป็นอีกครั้งที่มหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯ ทุบอีกรอบ หลังจากที่กองเรือสีดำจากสหรัฐฯ เข้ามาบุกในยุคโชกุนจนต้องเปิดประเทศ ระเบิดนิวเคลียร์ทั้ง 2 ลูกที่หยุดญี่ปุ่นในฐานะมหาอำนาจทางการทหาร ปลายรัชศกโชวะ สหรัฐฯ ได้สกัดบทบาทมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยเริ่มจากนโยบายจำกัดการส่งออกของญี่ปุ่นและการกำหนดโควตาการนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นเข้ามาในสหรัฐ (Voluntary Export Restraint: VER) ซึ่งทำให้สินค้า Made in Japan ไม่สามารถส่งออกได้ แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ เมื่อรัฐมนตรีที่คุมนโยบายเศรษฐกิจและผู้ว่าการธนาคารกลางของ 4 ประเทศ อันได้แก่ เจมส์ เอ. เบเกอร์ แห่งสหรัฐอเมริกา, แกร์ฮาร์ด สโตลเตนเบิร์ก แห่งเยอรมนีตะวันตก, ปิแอร์ แบเรโกวอย แห่งฝรั่งเศส และ ไนเจล ลอว์สัน แห่งสหราชอาณาจักร ได้เชิญ โนโบรุ ทาเกชิตะ ซึ่งต่อมาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ไปประชุมที่โรงแรม Plaza ในมหานครนิวยอร์ก จนกลายเป็นที่มาของ Plaza Accord ที่บีบให้ญี่ปุ่นต้องปรับค่าเงินเยนจากระดับ 265 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นเป็น 125 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนั่นทำให้สินค้าจากญี่ปุ่นแพงขึ้นทันทีในตลาดโลกมากกว่า 2 เท่า

 

ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในช่วงปลายของรัชศกโชวะ เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อไปหาที่ลงทุนในต่างประเทศ และเพื่อออกไปเก็งกำไรในตลาดเงินระดับโลก ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศให้สูงขึ้น โดยหวังจะสกัดการไหลออกของเงิน แต่ไม่เป็นผล เงินยังคงไหลออก และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างมากทำให้ประชาชนและบริษัทญี่ปุ่นไม่สามารถชำระหนี้ได้ หนี้สูญเกิดขึ้นทั่วประเทศ ภาคการผลิตย้ายฐานออกจากประเทศญี่ปุ่น คนงานว่างงานทั่วประเทศ คอนโดฯ และอาคารสำนักงานร้าง ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะฟองสบู่แตก

 

ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามอีกรอบในครึ่งหลังของรัชศกโชวะ และคราวนี้กลายเป็นสงครามเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นแพ้ พร้อมๆ กับการสิ้นสุดรัชศกโชวะ ในวันสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ วันที่ 7 มกราคม 1989 และการเริ่มต้นรัชศก ‘เฮเซ’

 

Reiwa Era

 

ยุคเฮเซกับความพยายามในการฟื้นตัวจาก ‘ทศวรรษที่สูญหาย’

รัชศก ‘เฮเซ’ เริ่มต้นพร้อมกับการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และแน่นอนพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ในปี 1990-1991 ภายหลัง Plaza Accord ที่ทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งจากต้นทุนการผลิตภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นพร้อมกับๆ ค่าเงินเยนที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถส่งออกได้ และมาตรการกีดกันทางการค้า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงหดตัวและซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง จนนักวิชาการขนานนามทศวรรษ 1990 ว่าเป็น ‘ทศวรรษที่หายไป’ (The Lost Decade)

 

จากนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยสูงแต่ไม่สามารถสกัดไม่ให้เงินตราไหลออกนอกประเทศได้ หนี้สูญ หนี้เสีย หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มูลค่ามหาศาลเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่น รัฐบาลพยายามจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อป้องกันการล้มละลายของภาคธุรกิจ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ธนาคารก็ยังไม่สามารถทำงานของมันได้อยู่ดี เพราะไม่กล้าปล่อยเงินกู้เพราะเกรงหนี้สูญ คนญี่ปุ่นเรียกธนาคารเหล่านี้ว่า ธนาคารผีดิบ (Zombie Banks)

 

ธนาคารเหล่านี้ไม่มี Net Worth เหลือแล้ว ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ และก็ไม่สามารถปล่อยให้ปิดกิจการได้เช่นกัน คนญี่ปุ่นที่ตกงานเพราะบริษัทปิดตัวมีมากมายมหาศาล ในขณะที่คนที่ต้องการลงทุน ต้องการบริโภคแต่ไม่มีเงิน ก็ต้องไปพึ่งพาซาระคิน หรือพวกปล่อยเงินกู้นอกระบบ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่คือองค์กรอาชญากรรม หรือแก๊งยากูซ่า

 

ภาวะฟองสบู่แตก เศรษฐกิจถดถอยยังคงเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง จนหลายคนเริ่มเรียกสถานะของเศรษฐกิจญี่ปุ่นว่า The Lost Decades, The Lost 20 Years, The Lost Score โดย GDP ของญี่ปุ่นในปี 1995 เท่ากับ 5.449 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็น GDP ที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ แล้วหลังจากนั้นก็ลดลงมาโดยตลอด โดยตกต่ำลงมาถึงจุดต่ำสุดในปี 1998 ที่ระดับ 4.033 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แล้วหลังจากนั้นก็ทรงตัวอยู่ในระดับนี้มาโดยตลอด จนมากระเตื้องขึ้นอีกครั้งและกลับมายืนเหนือ GDP ของปี 1995 ได้อีกครั้งในปี 2010 ที่ระดับ 5.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

 

แต่ในปีนั้นเองญี่ปุ่นก็สูญเสียสถานะเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกให้กับจีนด้วยเช่นกัน และในปี 2017 GDP ของญี่ปุ่นก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.872 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากในช่วงรัชศกโชวะที่บริษัทข้ามชาติญี่ปุ่นมากกว่า 30 บริษัท ถูกจัดให้อยู่ใน 50 อันดับแรกของบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงบริษัทเดียวเท่านั้นคือ Toyota รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเม็ดเงินที่เอามาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ก็ทำให้ญี่ปุ่นมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงถึง 240% และกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหนี้สาธารณะมากที่สุดในโลก นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง พอล ครุกแมน วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะกับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) แล้ว นั่นคือภาวะที่นโยบายการเงิน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เครื่องมือในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป  

 

ในแง่สังคม เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ รูปแบบการจ้างงานของญี่ปุ่นที่ภาคเอกชนเคยจ้างงานและให้สวัสดิการพนักงานไปจนตลอดชีวิต ซึ่งเรียกว่า Lifetime Employment เป็นสิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้นอีกแล้ว โครงสร้างประชากรของญี่ปุ่นเองก็เข้าสู่ภาวะ Super Aging หรือ Extremely Aged Society มาตั้งแต่ปี 2014 นั่นคือภาวะที่มีประชากรอายุเกินกว่า 60 ปีสูงถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ และมีประชากรอายุเกินกว่า 65 ปีสูงถึง 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และจำนวนประชากรทั้งประเทศก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าประชากรของญี่ปุ่นจะลดลงไปประมาณ 1 ใน 4 ในปี 2050 เมื่อประชากรวัยพึ่งพิงมีเป็นจำนวนมาก ประชากรวัยทำงานลดลง ปัญหาสังคมก็รุมเร้ามากยิ่งขึ้น วัยรุ่นญี่ปุ่นที่จบการศึกษาใหม่จำนวนมากไม่มีและไม่อยากทำงานประจำ ในขณะที่ผู้สูงวัยต้องเริ่มออกมาหางานทำหลังเกษียณอายุเพื่อเลี้ยงชีพ และจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะก่ออาชญากรรมประเภทลักเล็กขโมยน้อยเพื่อให้ตนเองโดนจับเข้าคุก เพียงเพราะต้องการที่พักที่มีอาหาร มีการดูแลสุขภาพ และมีเพื่อน มีสังคม แม้จะเป็นในเรือนจำ

 

หลายๆ คนมองว่ารัชศกเฮเซที่จะจบลงในวันที่ 30 เมษายน 2019 อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนักสำหรับญี่ปุ่น หากแต่อีกหลายๆ คนก็ไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะญี่ปุ่นยังคงเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เพราะอย่าลืมว่าญี่ปุ่นเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่มีมูลค่า GNP หรือมูลค่าผลผลิตของคนญี่ปุ่นและบริษัทญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นทั่วโลก สูงกว่า GDP หรือมูลค่าผลผลิตที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

 

ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนหลักที่ไปลงทุนทั่วโลก ก่อให้เกิดการจ้างงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับหลายๆ ประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับโครงการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางการเงินของญี่ปุ่น ทั้งที่ผ่านทางธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) หรือผ่านหน่วยงานของญี่ปุ่นโดยตรง ทั้ง องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศกำลังพัฒนา และ Japan Bank for International Cooperation (JBIC) ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และการให้กู้ยืมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของนานาประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจที่ใช้อำนาจละมุน (Soft Power) ที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกไว้เนื้อเชื่อใจ ญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางวัฒนธรรม และต้นแบบการพัฒนาที่หลายๆ ประเทศต้องการเรียนรู้เพื่อเป็นแบบอย่าง

 

ในรัชศกเฮเซเราอาจจะไม่ได้เห็นญี่ปุ่นในฐานะมหาอำนาจที่ก้าวร้าวรุนแรง แต่เราเห็นญี่ปุ่นในฐานะตัวแทนของสันติภาพและความสามัคคีทั่วทุกสารทิศสมกับความหมายของคำว่าเฮเซ

 

และในรัชศกหน้า รัชศกเรวะ เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ และยุคสมัยใหม่ของญี่ปุ่นจะเป็นยุคสมัยที่ดีงามสมกับความหมายของคำว่าเรวะ โดยผู้เขียนขออนุญาตนำความหมายของชื่อรัชศกเรวะที่อธิบายโดยศาสตราจารย์ ดร.อรรถยา สุวรรณระดา อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีและประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น จากสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาแสดงไว้ ณ ที่นี้

 

Reiwa Era

Reiwa Era

 

ยุคเรวะกับความหวังสู่วันที่ดีในอนาคต

คำว่า ‘เร’ (令) โดยทั่วไปแล้วหมายถึง ‘ดีงาม เลิศล้ำ’ ในบทเกริ่นนำกลอนข้างต้น ใช้นำหน้าคำว่า 月 ซึ่งคำคำนี้มีสองความหมาย ความหมายแรกหมายถึง ‘พระจันทร์’ เมื่อรวมกับคำว่า เร เป็น 令月จึงอาจสื่อความหมายถึงพระจันทร์ที่ส่องแสงสกาวดูงดงาม เนื่องจากคำที่ต่อท้ายคือคำว่า 気淑く (รู้สึกดี แจ่มใส) ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า 清くซึ่งหมายถึง ‘ส่องสว่าง บริสุทธิ์งดงาม’ คำว่า 令月 จึงสื่อความหมายถึงความงดงามแจ่มใสของพระจันทร์ ให้อารมณ์ความรู้สึกอันงดงามบริสุทธิ์แจ่มใส

 

นอกจากนี้ ยังอาจตีความได้อีกนัยหนึ่งว่า เนื่องจากขณะที่จัดงานเลี้ยงนั้นเป็นวันขึ้น 13 ค่ำ ซึ่งเป็นวันพระจันทร์ส่องสว่าง เนื่องจากใกล้คืนเดือนเพ็ญ ดังนั้น 令月 ในที่นี้อาจไม่ได้สื่อความหมายถึงความงามของพระจันทร์ในยามค่ำคืน แต่อาจสื่อความหมายระบุบอกถึงวันขึ้น 13 ค่ำ ซึ่งในค่ำคืนนั้นพระจันทร์จะทอแสงส่องสว่างก็เป็นได้

 

ส่วนอีกความหมายหนึ่งของ 月 นั้นหมายถึง ‘เดือน’ เมื่อรวมกับคำว่า ‘เร’ เป็น 令月 จึงสื่อความหมายถึง ‘เดือนที่ดีงาม’ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเดือนหนึ่ง หลังผ่านพ้นฤดูหนาวอันยาวนานเข้าสู่ปีใหม่ จึงนับว่าเป็นช่วงเวลาอันเป็นมงคล นอกจากนี้ยังเป็นช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ (ญี่ปุ่นโบราณนับเดือนหนึ่งถึงเดือนสามเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ) ซึ่งบรรดาพืชพรรณที่เหี่ยวเฉาในฤดูหนาวจะเริ่มแตกกิ่งใหม่หรือผลิดอก ในสมัยนารานั้น คนญี่ปุ่นจะเฝ้ารอชื่นชมความงามของดอกบ๊วยในฤดูใบไม้ผลิ (ก่อนที่จะเปลี่ยนความนิยมหันไปชื่นชมความงามของดอกซากุระแทนในสมัยต่อมา) คำว่า ‘เดือนที่ดีงาม’ ในที่นี้จึงยังมีความหมายสื่อถึงช่วงเวลาฤดูใบไม้ผลิอันน่ายินดีที่ในที่สุดก็จะได้ชื่นชมความงามของดอกบ๊วยหลังจากเฝ้ารอมานานอีกด้วย สีของดอกบ๊วยนั้นขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ คือมีพันธุ์สีขาว สีแดง และสีชมพู แต่ในกลอนญี่ปุ่นมักพบเป็นพันธุ์สีขาว ในคำเกริ่นนำกลอนดังกล่าวจึงกล่าวเปรียบเทียบสีขาวของดอกบ๊วยกับผงแป้งที่ใช้แต่งหน้าของหญิงสาวหน้ากระจก การที่คนญี่ปุ่นสมัยก่อนชื่นชมความงามของดอกบ๊วยจึงทำให้ดอกบ๊วย หรือ 梅 มักถูกหยิบยกมาเป็นหัวข้อในการแต่งกลอนญี่ปุ่น โดยกลอนดอกบ๊วยจะถูกจัดอยู่ในหมวดกลอนฤดูใบไม้ผลิ

 

ส่วนคำว่า วะ (和) ในบทเกริ่นนำกลอนข้างต้นใช้สื่อความหมายว่า ‘อ่อนโยน’ โดยใช้แสดงลักษณะของสายลมที่พัดโชยอ่อนๆ แต่โดยทั่วไปแล้วคำคำนี้ใช้สื่อความหมายอื่นด้วย เช่น หมายถึง ‘ความปรองดอง’ และยังอาจสื่อถึงชื่อประเทศญี่ปุ่นในสมัยโบราณ หรือ ‘ยามาโตะ’ อีกด้วย

 

ดังนั้นชื่อปีเรวะ ซึ่งเอาความหมายของคำว่า ‘เร’ และ ‘วะ’ มารวมกันนั้นจึงอาจสื่อความหมายได้หลากหลาย สามารถตีความได้ต่างๆ นานา แต่ก็ล้วนแล้วแต่มีความหมายในทางที่ดีทั้งสิ้น

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising