ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เผยยอดขายในภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยลดลง -26.6% ดันหน่วยที่อยู่อาศัยเหลือขายพุ่ง 16.4% คาดปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และปัจจัยลบอสังหาฉุดยอดขายใหม่ทั้งปี 2567 ติดลบ 8.4% กดดันยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั้งปีให้ลดลง -0.03%
วันนี้ (19 มิถุนายน) ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยทั้งโครงการแนวราบและอาคารชุดในไตรมาส 1/67 พบว่า ยอดขายใหม่ยังคงมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 3/66 โดยในไตรมาส 1/67 มียอดขายใหม่ จำนวน 15,619 หน่วย ลดลงถึง -26.6% และมีมูลค่า 90,069 ล้านบาท ลดลง -14.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ยอดขายที่ลดลงมีผลโดยตรงต่อจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขาย ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1/66 หรือ 4 ไตรมาสติด
จนถึงปัจจุบัน ณ สิ้นไตรมาส 1/67 มีจำนวนที่อยู่อาศัยคงค้าง 213,429 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 1,217,916 ล้านบาท จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 16.4% ขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 36.5%
ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรายงานผลสำรวจภาคสนามอุปทานและอุปสงค์ของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย สำหรับรายไตรมาส 1/67 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑล โดยสำรวจเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่น้อยกว่า 6 หน่วย
ขณะที่อัตราดูดซับในไตรมาส 1/67 ลดลงมาอยู่ที่ 2.3% หรือต้องใช้ระยะเวลาในการขายจนหมดถึงประมาณ 40 เดือน ในขณะที่อัตราดูดซับไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 3.5% หรือต้องใช้ระยะเวลาในการขายจนหมดเพียงประมาณ 25 เดือน
ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า อัตราดูดซับในไตรมาสนี้อยู่ในระดับต่ำที่ต่ำกว่าช่วงสถานการณ์โควิด ที่มีอัตราการดูดซับประมาณ 2.5-2.7%
“ควรเฝ้าระวังสต็อกคงเหลือ และอัตราการดูดซับที่ต่ำลงในหลายพื้นที่ ซึ่งต้องประเมินความเสี่ยงในการลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะทำเลที่มีอัตราการดูดซับลดลง”
เปิดประมาณการทั้งปี 2567
หลังจากผ่านไตรมาส 1/67 ตัวเลขภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ และเครื่องชี้ภาคอสังหาเป็นไปในทิศทางชะลอตัวลง ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดว่า ภาพรวมทั้งปี 2567 ยอดขายได้ใหม่คาดว่าจะมีจำนวน 67,696 หน่วย มูลค่า 342,299 ล้านบาท หรือลดลง -8.4% และ -11.2% ตามลำดับ
โดยอัตราดูดซับโดยรวมของตลาดจะลดลงมาอยู่ที่ 1.8% ทั้งประเภทโครงการบ้านจัดสรรและอาคารชุด ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยเหลือขายมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 246,280 หน่วย มูลค่า 1,393,395 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.3% และ 18.6% ตามลำดับ
อนึ่ง ผลจากยอดขายได้ใหม่มีทิศทางปรับตัวลดลงจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงมีทิศทางชะลอตัว และปัจจัยลบต่างๆ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อยอดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 678,151 ล้านบาท หรือลดลง -0.03% และจะกระทบจำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 372,877 หน่วย มูลค่า 1,074,080 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.6% และ 2.6% ตามลำดับ