ตลาดหุ้นจีนปี 2564 ดูเหมือนจะเป็นคนละภาพกับปี 2563 ที่ดัชนีเป็นขาขึ้นชัดเจน โดยดัชนี CSI 300 ปัจจุบันเทียบกับต้นปีปรับลดลงมาแล้ว -4.82% และหากเทียบกับจุดสูงสุดของปี (ระดับ 5,807 จุด เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์) พบว่าดัชนีร่วงลงมาแล้ว -13.67%
สาเหตุหลักที่ทำให้ดัชนีปรับฐานครั้งใหญ่ในช่วงต้นปี และพักฐานเป็นระยะ เนื่องจากรัฐบาลจีนเข้ามาควบคุมและปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ ของภาคธุรกิจ โดยเริ่มต้นจากกลุ่มเทคโนโลยี ลุกลามมากลุ่มการศึกษาและเกมออนไลน์ ขณะที่มีข้อมูลจากหลายที่เริ่มคาดการณ์ว่า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธนาคารก็อาจจะถูกเข้าควบคุมในเร็วๆ นี้
ความโกลาหลที่ทางการจีนก่อขึ้นทำให้นักลงทุนสถาบันต่างประเทศปรับท่าทีการลงทุนในตลาดหุ้นจีน นำโดย Ark Innovation ETF ซึ่งเป็นกองทุนที่บริหารโดย แคธี วูด ที่ชิงปรับลดน้ำหนักการถือครองหุ้นบริษัทเทคโนโลยีของจีนลงสู่ระดับต่ำกว่า 1% จากระดับ 8% ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา
ขณะที่กองทุน Ark Next Generation Internet ETF ได้ลดการถือครองหุ้นบริษัทเทคโนโลยีจีนลงเหลือ 5.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ส่วนกองทุน ETF ของ Ark ที่มุ่งเน้นลงทุนในเทคโนโลยีด้านการเงิน (ฟินเทค) ยังคงถือครองหุ้นบริษัทเทคโนโลยีในระดับเดิมที่ 18%
โดย แคธี วูด ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างประเทศว่า “นี่เป็นเรื่องของการปรับกลยุทธ์การลงทุน โดยเมื่อพิจารณาในแง่ของมูลค่าแล้ว คิดว่าหุ้นเหล่านี้มีมูลค่าลดลง และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง” และระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าการลดน้ำหนักลงทุนของ Ark ครั้งนี้ รวมถึงบริษัท เทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และ JD.com ด้วย แต่ล่าสุด แคธี วูด เองก็เริ่มที่จะกลับเข้าไปลงทุนในหุ้นจีนบ้างแล้ว
นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ BlackRock บริษัทจัดการการลงทุนชื่อดังในนิวยอร์ก ที่มีทรัพย์สินอยู่ในการดูแลกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกมาระบุว่า จีนไม่ควรถูกมองว่าเป็นตลาดเศรษฐกิจกำลังพัฒนา หรือ Emerging Market อีกต่อไป พร้อมแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์จีนได้ถึง 3 เท่าจากปัจจุบัน และล่าสุด BlackRock ยังได้ปักธงรุกธุรกิจกองทุนรวมในประเทศจีนอีกด้วย
ศรชัย สุเนต์ตา CFA ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB-CIO และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า บล.ไทยพาณิชย์ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นจีนในระยะกลาง-ยาว หรือมากว่า 1-2 ปี เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจและกำลังซื้อของจีนจะเป็นพลวัตสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของโลก โดยมองว่าการเข้ามาควบคุมและปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับภาคธุรกิจ ไม่ได้มีเจตนาให้ภาคธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดได้ แต่เพื่อปรับโครงสร้างเชิงสังคมครั้งใหญ่ เป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชากรชนชั้นกลางของประเทศซึ่งมีอยู่จำนวนมาก
“เรื่องการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือการเข้าควบคุมธุรกิจโดยทางการจีน จะเป็นปัจจัยเสี่ยงระยะยาวของตลาดหุ้นต่ออีกระยะ และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร แต่หากดูที่เจตนาของรัฐบาลแล้วจะพบว่า รัฐต้องการเข้ามาจัดระเบียบภาคธุรกิจเพื่อปรับโครงสร้างทางสังคมให้เหมาะสมกับการเติบโตระยะยาว ในระยะกลาง-ยาว ตลาดจีนไม่ใช่ตลาดที่จะเพิกเฉยได้ แต่ในระยะสั้นๆ ก็ยังคงเป็นตลาดที่ความผันผวนสูงอยู่ และช่วงนี้ยังจะปรับฐานอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ หากนักลงทุนเชื่อมั่นใจโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน สามารถเข้าลงทุนในตลาดหุ้นจีนในจังหวะนี้ได้ โดยแนะนำให้เลือกกองทุนหุ้นจีนที่เน้นลงทุนใน A-Share เนื่องจากในตลาดหุ้น A-Share นั้นมีส่วนผสมของหุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภคและกำลังซื้อในประเทศเป็นส่วนมาก เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มโรงพยาบาล เป็นต้น ทำให้ได้รับผลกระทบจาก Regulatory Risk น้อยกว่า
โดย บล.ไทยพาณิชย์ แนะนำกองทุนเปิดเคแทม ไชน่า อิควิตี้ ฟันด์ ชนิดสะสมมูลค่า หรือ KT-CHINA-A
ปิยะภัทร์ ภัทรภูวดล ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า โอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นระยะกลางในตลาดหุ้นจีนนั้นยังมีอยู่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหุ้นจีนปรับตัวลดลงจาก Regulatory Risk มาค่อนข้างมาก แต่เมื่อเร็วๆ นี้ หุ้น A-Share ก็รีบาวด์ขึ้นมาจนใกล้กับดัชนีช่วงต้นปีแล้ว สะท้อนว่าตลาดรับรู้ความเสี่ยงเรื่องนี้ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่เข้าลงทุนตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ จังหวะนี้อาจไม่ใช่จังหวะขาย เพราะผลตอบแทนอาจจะติดลบมาระดับหนึ่ง จึงแนะนำให้ถือลงทุนต่อเพื่อรับผลตอบแทนในระยะยาว
“ตอนนี้มุมมองต่อตลาดหุ้นจีนในสายตานักลงทุนสถาบันและกองทุนป้องกันความเสี่ยงระดับโลก กำลังแตกออกเป็น 2 ทาง ดังนั้นในการพิจารณานักลงทุนก็ต้องดู Time Frame การลงทุนของตัวเองว่ามีระยะเวลาในการลงทุนเท่าไร มีการกระจายความเสี่ยงมากแค่ไหน และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เท่าทันนักลงทุนรายใหญ่หรือไม่”
ปิยะภัทร์กล่าวเพิ่มว่า ใน 2-3 เดือนจากนี้ มองว่า Emerging Market (EM) จะน่าสนใจมากขึ้น หลังจากการทำ QE Tapering ของ Fed ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะไม่เกิดขึ้นในเดือนนี้ แต่น่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนมากกว่า ทำให้ความเสี่ยงจากการที่ฟันด์โฟลว์จะไหลออกจาก EM ลดลง ประกอบกับสถานการณ์โควิด และการกระจายวัควีนในเอเชียก็ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นจังหวะลงทุนในตลาดหุ้นจีนเช่นกัน
โดยแนะนำกองทุนหุ้นที่เน้นลงทุนใน A-Share ดังนี้
- กองทุนเปิดทีเอ็มบี อีสท์สปริง China A Active หรือ TMB-ES-CHINA-A
- กองทุนเปิดธนชาต อีสท์สปริง China A Active หรือ T-ES-CHINA A
- กองทุนเปิดเคแทม ไชน่า อิควิตี้ ฟันด์ ชนิดสะสมมูลค่า หรือ KT-CHINA-A
ด้าน อภิวัฒน์ น้าประทานสุข ผู้บริหารกลยุทธ์ด้านการลงทุน ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ TTB กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบของทางการจีนยังไม่จบเร็วๆ นี้ และมีแนวโน้มที่จะเข้าควบคุมภาคธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ได้เข้าควบคุมและเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของธุรกิจด้านเทคโนโลยี การศึกษา และสุขภาพไปแล้ว โดยมีแหล่งข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ ประเมินว่าทางการจีนเองกำลังเตรียมจะเข้ามากำกับดูแลและปรับปรุงกฎระเบียบกลุ่มธนาคารจีนด้วย
ทั้งนี้ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงจากการลงทุนในจีนทั้งหมด ทั้ง A-Share, H-Share เนื่องจากตลาดจีนมีความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนที่อยู่ในระดับสูง และความไม่แน่นอนของกฎระเบียบและนโยบายต่างๆ
โดยแนะนำให้รอติดตามความชัดเจนอีก 2-3 เดือนจากนี้ และเริ่มกลับเข้าไปลงทุนในหุ้นจีนอีกครั้งในเดือนธันวาคม ซึ่งคาดว่าจะตลาดจีนจะปรับลดลงทำจุดต่ำสุดพอดี และน่าจะรีบาวด์ขึ้นในต้นปี 2565 หลังจากกฎระเบียบต่างๆ เริ่มนิ่งมากขึ้น นอกจากนี้ในช่วงต้นปี ตลาดหุ้นจีนมักจะรีบาวด์ขึ้นมาเพื่อสอดรับเทศกาลตรุษจีนอีกด้วย โดยแนะนำให้ลงทุนในหุ้นจีนเพียง 10% ของพอร์ตลงทุนหุ้นต่างประเทศ
ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร