×

ผู้ตัดสินต้องมีคำอธิบายคำตัดสิน VAR แก่ผู้ชม! และผลการประชุม IFAB อื่นๆ ที่น่าสนใจ

19.01.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • จะมีการทดสอบให้ผู้ตัดสินที่อยู่ในสนามอธิบายถึงเหตุผลในการตัดสินผ่านไมโครโฟนแก่ผู้ชมในสนาม (และผู้ชมทางโทรทัศน์)
  • มาร์ค บัลลิงแฮม ในฐานะซีอีโอของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) และบอร์ดของ IFAB ให้ความเห็นว่า “เราคิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อความโปร่งใสและจะมีส่วนช่วยผู้ชมในสนามที่ไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ดังนั้นนี่จึงเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญมาก”
  • IFAB ปฏิเสธการใช้การจับเวลาแบบนาฬิกาจับเวลา (Countdown Clock) เพื่อรักษาเวลาในการแข่งขัน แต่ขอให้ใช้แนวทางเดียวกับฟุตบอลโลก

เกมฟุตบอลมีการนำระบบ Video Assistant Referee หรือ VAR มาใช้ได้หลายปีแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินในสนามให้มีความแม่นยำและชัดเจนมากขึ้นใน ‘จังหวะหรือเหตุการณ์ที่มีความคลุมเครือ’

 

เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดมา โดยเฉพาะในบางรายการอย่างพรีเมียร์ลีก VAR กลายเป็น ‘แดนสนธยา’ ที่ไม่มีใครรู้ได้ว่าตกลงแล้วการตัดสินจังหวะนั้นๆ ผู้ตัดสินตัดสินด้วยเหตุผลอะไร เพราะคนที่รู้จริงๆ มีเพียง 2 ฝ่ายเท่านั้น คือ ผู้ตัดสินที่ 1 ซึ่งอยู่ในสนาม และผู้ตัดสิน VAR ที่ทำหน้าที่อยู่หน้าจอ

 

เมื่อสิ่งที่ควรชัดเจนกลายเป็นความไม่ชัดเจน ทำให้มีการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยว่าการพูดคุยกันระหว่างผู้ตัดสินทั้งสองฝั่งนั้นเป็นอย่างไร อย่างน้อยที่สุดผู้ชมที่อยู่ในสนามไปจนถึงผู้ชมที่อยู่ทางบ้านจะได้เข้าใจในเหตุผลของการตัดสิน

 

เรื่องนี้ได้ถูกผลักดันไปถึงบนโต๊ะการประชุมของ Inter National FA Board หรือ IFAB ในฐานะ ‘ผู้คุมกฎ’ ของเกมฟุตบอล ที่กรุงลอนดอน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ปรากฏว่า IFAB ได้มีการผ่านมติสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความชัดเจนในการตัดสินโดย VAR

 

สิ่งที่จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นคือ ‘คำอธิบาย’ จากผู้ตัดสิน โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

  • ผู้ตัดสินที่อยู่ในสนามจะต้องอธิบายถึงเหตุผลในการตัดสินผ่านไมโครโฟนแก่ผู้ชมในสนาม (และผู้ชมทางโทรทัศน์)
  • บทสนทนาระหว่างผู้ตัดสินในสนามกับผู้ตัดสิน VAR ยังถูกสงวนไว้เป็นการส่วนตัว
  • จะมีการทดสอบเป็นครั้งแรกในการแข่งขันฟุตบอลคลับเวิลด์คัพ หรือรายการชิงแชมป์สโมสรโลกที่ประเทศโมร็อกโก
  • อาจมีการทดสอบในการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงที่ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในช่วงฤดูร้อนนี้

 

มาร์ค บัลลิงแฮม ในฐานะซีอีโอของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) และบอร์ดของ IFAB ให้ความเห็นว่า “เราคิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อความโปร่งใสและจะมีส่วนช่วยผู้ชมในสนามที่ไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ดังนั้นนี่จึงเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญมาก”

 

“บทสนทนากับผู้ตัดสิน VAR จะถูกสงวนไว้เป็นการส่วนตัว แต่ผู้ตัดสินจะต้องสื่อสารกับผู้ชมในสนาม นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น”

 

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ผู้ตัดสินอธิบายคำตัดสินจะช่วยลดความคลางแคลงใจต่อผู้ชมทั้งในสนามและทางบ้านได้หรือไม่ และจะสามารถสื่อสารหรือชี้แจงได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสกิลที่ผู้ตัดสินจะต้องฝึกฝนต่อจากนี้

 

ปฏิกิริยาของผู้ชมในสนามเองก็น่าสนใจ เพราะหากการตัดสินเกิดค้านความรู้สึกขึ้นมา คำอธิบายจากผู้ตัดสินจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือว่าจะเป็นการราดน้ำมันลงบนกองไฟกันแน่ ซึ่งก็ต้องคอยติดตามในการทดสอบที่ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก

 

สำหรับมติอื่นๆ ในการประชุมของ IFAB ที่น่าสนใจยังมี

 

  • IFAB ปฏิเสธข้อเสนอจากพรีเมียร์ลีก เมเจอร์ลีก และลีกเอิง ในการทดสอบการเปลี่ยนตัวสำรองชั่วคราวในกรณีที่นักฟุตบอลได้รับความกระทบกระเทือนที่ศีรษะ เหมือนในรักบี้ที่นักรักบี้ที่มีอาการจะสามารถเปลี่ยนตัวออกไป 10 นาที เพื่อให้แพทย์ดูอาการว่าสามารถกลับมาลงสนามได้หรือไม่ โดยยืนยันจะใช้การเปลี่ยนตัวแบบถาวรไปเลยในโควตา Concussion Substitutes
  • IFAB ปฏิเสธการใช้การจับเวลาแบบนาฬิกาจับเวลา (Countdown Clock) เพื่อรักษาเวลาในการแข่งขัน แต่ขอให้ใช้แนวทางเดียวกับฟุตบอลโลกคือ หากมีการหยุดเกม ผู้ตัดสินจะต้องมีการคำนวณเวลาที่เสียไป และเพิ่มไปในช่วงทดเวลาการแข่งขัน
  • IFAB ยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎ ‘ล้ำหน้า’ แต่อย่างใด หลังเกิดเหตุการณ์ประตูของ บรูโน แฟร์นันด์ส ในเกมที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เอาชนะแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มีการวิพากษ์อย่างมาก หลัง มาร์คัส แรชฟอร์ด ถูกมองว่าอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้าและมีส่วนต่อการเล่น

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising