วันนี้ (16 กรกฎาคม) เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด สาระสำคัญคือ ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มีประกาศเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ซึ่งได้ให้สภากาชาดไทยเป็นหน่วยงานหนึ่งในการสั่งนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชน ดังความแจ้งแล้วนั้น
ขณะนี้สภากาชาดไทยได้สั่งจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด Moderna จำนวนหนึ่งจากผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยผ่านองค์การเภสัชกรรม เพื่อนำมาฉีดบริการให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มต่างๆ โดยไม่คิดมูลค่า ตามพันธกิจของสภากาชาดไทย ทั้งนี้ สภากาชาดไทยจะได้จัดสรรโควตาวัคซีนจำนวนหนึ่งให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าต้องดำเนินการฉีดให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และแผนการฉีดวัคซีนดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด และเงื่อนไขอื่นๆ รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
สภากาชาดไทยจึงขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดได้แจ้งให้ อบจ. ในพื้นที่ที่มีความประสงค์จะซื้อวัคซีนไปฉีดบริการให้กับประชาชนตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น และกรุณาแจ้งมายังสภากาชาดไทยภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 นี้ด้วย
แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนสำหรับประชาชนของสภากาชาดไทย มีรายละเอียดดังนี้
สภากาชาดไทยเป็นองค์กรด้านสาธารณกุศล ดำเนินกิจกรรมด้านมนุษยธรรม มีนโยบายในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยสนันสนุนการดำเนินงานของรัฐ ด้วยการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด Moderna จำนวนหนึ่ง ให้แก่ อบจ. ที่มีความประสงค์จะซื้อวัคซีนไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายโดยไม่คิดมูลค่า โดยมีเงื่อนไขดำเนินการ ดังนี้
- อบจ. ต้องจัดทำ ‘แผนการขอรับการจัดสรรวัคซีน’ เพื่อนำวัคซีนไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ตามที่สภากาชาดไทยกำหนด พร้อมจำนวนคนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 5 กลุ่ม ตามลำดับ ได้แก่
- คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีตั้งครรภ์ ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดมาก่อน
- ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดมาก่อน
- บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร
- ผู้ที่ทำงานประจำอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนในโรงเรียนอนุบาล หรือครู อาจารย์ ผู้ที่ทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียน ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดมาก่อน
- บุคลากรที่ต้องออกปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน ตามโครงการฉีดวัคซีนของ อบจ. ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดมาก่อน และบุคคลที่ยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบหรือกฎหมาย
- อบจ. ต้องเสนอ ‘แผนการขอรับการจัดสรรวัคซีน’ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด
- เงื่อนไขที่สำคัญที่ อบจ. ต้องดำเนินการดังนี้
- อบจ. ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการกับสภากาชาดไทย ต้องสนับสนุนงบประมาณค่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด Moderna ราคา 1,300 บาทต่อโดส ให้แก่สภากาชาดไทย เพื่อนำไปจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด Moderna มาให้ อบจ. สำหรับเงินค่าวัคซีนโดสละ 1,300 บาท นั้น เมื่อหักต้นทุนวัคซีนและค่าบริหารจัดการตามโครงการแล้ว เงินส่วนที่เหลือจากคำาใช้จ่ายดังกล่าวจะได้นำเข้าสมทบใน ‘กองทุนสภากาชาดไทย เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19 และยารักษาโรคโควิด-19 สำหรับประชาชน’ ต่อไป
- อบจ. ต้องจัดบริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายโดยไม่คิดมูลค่า และห้ามนำไปจำหน่ายโดยเด็ดขาด
- เมื่อสภากาชาดไทยแจ้งการจัดสรรโควตาให้ อบจ. แล้ว ขอให้ชำระเงินเต็มตามจำนวนที่ได้รับอนุมัติจากสภากาชาดไทย ภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ก่อนเวลา 12.00 น.
- สภากาชาดไทยจะทยอยจัดสรรวัคซีนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
หมายเหตุ: หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด และ/หรือวิทยาการความก้าวหน้าของวัคซีนป้องกันโรคโควิดเปลี่ยนแปลงไป สภากาชาดไทยจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป