หมายเหตุ: ปรับปรุงเนื้อหาล่าสุดวันที่ 16 สิงหาคม 2564
ผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ หากตรวจพบเชื้อมาเกิน 7 วันแล้วไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมักจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่เมื่อหายดีแล้วยังมีความกังวลว่าจะต้องแยกกักตัวจากคนในบ้านต่ออีกกี่วัน หรือเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วจะกลับไปทำงานได้เมื่อไร หากติดเชื้อแล้วยังต้องฉีดวัคซีนอีกหรือไม่ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ผู้เขียนพบบ่อย จึงขอรวบรวมคำตอบไว้ในบทความนี้
เมื่อไรถึงเรียกว่าหายป่วยจากโควิด
ผู้ติดเชื้อโควิดจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (ข้อมูลจากกรมการแพทย์พบประมาณ 25% ของผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล) และผู้ติดเชื้อที่มีอาการ ส่วนการดูแลผู้ติดเชื้อมี 2 ส่วน คือ การรักษา และการแยกกักโรค โดยระยะเวลาใน ‘การรักษา’ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ (ซึ่งมักพิจารณาจากอาการเป็นหลัก) ในขณะที่ระยะเวลาใน ‘การแยกกักโรค’ จะขึ้นกับระยะเวลาแพร่เชื้อ
‘ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ’ จะดูแลด้วยการสังเกตอาการเป็นหลัก ไม่ได้รับประทานยา การพิจารณาว่าหายป่วยจะขึ้นกับระยะเวลาในการแยกกักโรค ซึ่งในปัจจุบันกรมการแพทย์ใช้เกณฑ์ ‘ครบ 14 วัน’ นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ไม่มีอาการเลย ตรวจพบเชื้อในวันที่ 1 สิงหาคม ดังนั้น จะถือว่าหายป่วยในวันที่ 15 สิงหาคม (นับวันที่ตรวจพบเชื้อเป็นวันที่ 0 หรือจะ +14 จากวันที่ตรวจพบเชื้อก็ได้)
‘ผู้ติดเชื้อที่มีอาการ’ โดยอาจมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ (พบประมาณ 50% ของผู้ป่วยทั้งหมด) หรืออาการหนักจนต้องรักษาในโรงพยาบาล การพิจารณาว่าหายป่วยจะขึ้นกับ 2 เกณฑ์ร่วมกันประกอบด้วย 1. อาการดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง 2. ครบ 14 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ หมายความว่า เริ่มมีอาการแรกวันไหนให้เริ่มนับจากวันนั้น โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายก่อนครบ 14 วัน
เช่น นาย ก. (คนเดิม) เริ่มมีไข้วันที่ 3 สิงหาคม ต่อมามีอาการไอ น้ำมูก แล้วหายดีในอีก 5 วันถัดมา นาย ก. จะถือว่าหายป่วยในวันที่ 3+14 = 17 สิงหาคม แต่ถ้ามีเงื่อนไขอื่นๆ จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
ทั้งนี้ ผู้ที่หายป่วยแล้วไม่ต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ (เน้นตัวหนา) เพราะผู้ที่ครบเกณฑ์ข้างต้นจะไม่แพร่เชื้อแล้ว โดยจากการวิจัยพบว่าอาจตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสในทางเดินหายใจของผู้ที่หายป่วยแล้วได้นานถึง 3 เดือน แต่ไวรัสที่ตรวจพบจะไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ หรือที่เรียกว่า ‘ซากเชื้อ’ แนวทางนี้สอดคล้องกับของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐฯ ซึ่งใช้เกณฑ์ ‘ครบ 10 วัน’
การปฏิบัติตัวหลังครบกำหนด 14 วัน
ผู้ติดเชื้อบางรายได้รับการรักษาในโรงพยาบาลจนอาการดีขึ้นแล้ว แพทย์อาจให้กลับมาแยกกักตัวต่อที่บ้าน (Home Isolation) จนครบ 14 วัน เช่น แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านในวันที่ 10 แต่ระหว่างนี้จะต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างจากผู้อื่นในครอบครัว โดยแยกรับประทานอาหาร แยกห้องนอน แยกห้องน้ำ และแยกขยะติดเชื้อต่ออีก 4 วัน เพื่อให้ครบ 14 วันตามเกณฑ์ ‘ผู้ที่หายป่วยจากโควิด’ ก่อน
หลังจากนั้นผู้ติดเชื้อสามารถปฏิบัติตัวเหมือนคนทั่วไปคือ อาศัยอยู่ในบ้านและไปทำงานตามปกติ แต่เมื่อออกนอกบ้านยังต้องสวมหน้ากากหรือปฏิบัติตัวแบบ New Normal อยู่ เพราะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ จนกว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ (กรณีการควบคุมโรคที่เป็นไปได้ เช่น ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันหมู่ หรือมีวัคซีนหรือยารักษาโรคโควิดที่มีประสิทธิผล เป็นต้น)
สำหรับการติดเชื้อซ้ำ ในปัจจุบันยังมีรายงานน้อย แต่คาดว่าเมื่อเวลาผ่านไปจะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้มากขึ้นจากระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงเหมือนการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นในมนุษย์ และไวรัสยังมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ทำให้มีรายงานการติดเชื้อซ้ำในบราซิล อังกฤษ และแอฟริกาใต้ ซึ่งไวรัสมีการกลายพันธุ์จนมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น
ดังนั้น ผู้ที่หายป่วยแล้วยังควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งตามแนวทางของกรมควบคุมโรคฉบับสิงหาคม 2564 แนะนำให้
- ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 1 เข็ม โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อ 1-3 เดือน
- สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้วแต่พบว่าติดเชื้อก่อนฉีดเข็มที่ 2 ให้รักษาอาการป่วยให้หายก่อน แล้วสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อ 1-3 เดือนเช่นกัน
- ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วไม่ต้องฉีดเพิ่มอีก
อาการระยะยาวของโควิด
ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายในระยะสั้น แต่บางรายอาจมีภาวะลองโควิด (Long COVID) หรืออาการระยะยาวของโควิดได้ ซึ่งเป็นอาการที่พบหลังจากการติดเชื้อไปแล้ว 4-12 สัปดาห์ ซึ่งภาวะนี้อาจไม่สัมพันธ์กับอาการในระยะแรก หรือผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการก็สามารถมีภาวะลองโควิดได้ สำหรับอาการที่พบ ได้แก่
- เหนื่อยหรืออ่อนเพลีย
- หายใจลำบาก
- เจ็บหรือแน่นหน้าอก
- ปัญหาเกี่ยวกับความจำและสมาธิ
- นอนไม่หลับ
- ใจสั่น
- เวียนศีรษะ
- เหน็บชา
- ปวดข้อ
- ซึมเศร้า และวิตกกังวล
- เสียงในหู ปวดหู
- ถ่ายเหลว ปวดท้อง เบื่ออาหาร
- ไข้ ไอ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น หรือไม่รับรส
- ผื่น
ปัจจุบันยังมีข้อมูลน้อยเกี่ยวกับกลไกการเกิดภาวะนี้รวมถึงการรักษา ซึ่งอาจหายได้เองหรือรักษาด้วยการกายภาพบำบัด อาการข้างต้นเป็นอาการที่ไม่จำเพาะกับโรคใดโรคหนึ่ง ผู้ที่มีอาการเฉียบพลัน เช่น เจ็บหรือแน่นหน้าอก เหนื่อย หายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกกับโรคอื่นที่มีอันตรายมากกว่า ส่วนอาการอื่นที่ไม่รุนแรงแต่รบกวนชีวิตประจำวัน อาจไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา
กรณีผู้เอาประกันภัยแบบเจอ-จ่าย-จบ
ในกรณีที่ผู้ที่หายป่วยเป็นผู้เอาประกันภัยเจ็บป่วยหรือตรวจพบเชื้อโควิดแบบ ‘เจอ-จ่าย-จบ’ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกประกาศให้บริษัทใช้เอกสารการตรวจพบเชื้อด้วยวิธี RT-PCR แทนใบรับรองแพทย์แล้ว ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ที่เข้าไม่ถึงการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้ ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ที่ใช้ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง (ATK)
โดยสรุป ผู้ที่หายป่วยจากโควิดจะต้องแยกกักตัวให้ครบ 14 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ ร่วมกับอาการดีขึ้น 24-48 ชั่วโมง หรือนับจากวันตรวจพบเชื้อ หากไม่มีอาการ หลังจากนั้นผู้ที่หายป่วยสามารถใช้ชีวิตในบ้านหรือไปทำงานได้ตามปกติ แต่ยังต้องปฏิบัติตัวแบบ New Normal เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 1 เข็ม โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อ 1-3 เดือน
อ้างอิง:
- แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564 https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=146
- Interim Guidance on Ending Isolation and Precautions for Adults with COVID-19 https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/hcp/duration-isolation.html
- แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาด ปี 2564 ของประเทศไทย ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/11/1628849610213.pdf
- Long-term effects of coronavirus (long COVID) https://www.nhs.uk/conditions/coronavirus-covid-19/long-term-effects-of-coronavirus-long-covid/
- Long covid—mechanisms, risk factors, and management https://www.bmj.com/content/374/bmj.n1648
- เลขาธิการ คปภ. ปลดล็อคปมเอกสารพิสูจน์การติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเคลมประกันแบบ “เจอ-จ่าย-จบ” https://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/92240