ฤดูร้อนของไทยปีนี้คงต้องระมัดระวัง ด้วยสภาพอากาศวันที่ 24 มีนาคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนไทยเจออากาศที่ร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดถึง 40 องศาเซลเซียส ด้วยสภาพอากาศร้อนๆ เช่นนี้ แน่นอนว่าการใช้ไฟฟ้าย่อมสูงขึ้น ทั้งภาคครัวเรือนและการชาร์จรถยนต์ EV ที่มีมากขึ้น ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานประเมินว่า ปีนี้คนไทยใช้ไฟฟ้าถึงจุดพีคสูงถึง 35,000 เมกะวัตต์ อาจทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยประมาณการความต้องการใช้พลังงานในปี 2567 เพิ่มขึ้น 3.1% ตามการคาดการณ์ของเศรษฐกิจปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 2.2-3.2% โดยเพิ่มขึ้นทั้งการใช้น้ำมัน 3.1%, การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่ม 2.5%, การใช้ถ่านหินหรือลิกไนต์จะเพิ่ม 2.4%, การใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นอีก 3.3% จากปัจจัยของสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และปัจจัยเสี่ยงของสภาพอากาศ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลต่อสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ
วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ส่องค่าไฟไทยเทียบเพื่อนบ้าน ปี 2024 ไทยอยู่ตรงไหน สัดส่วนผลิตไฟฟ้ามาจากไหนบ้าง
- ‘เศรษฐา’ รับปากขุดขุมทรัพย์ 20 ล้านล้านบาท บนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน
- FDI อินโดฯ-เวียดนามพุ่ง สวนทาง ‘ไทย’ หากเดินช้าเสี่ยงหลุดสถานะผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน
หากเทียบปีที่ผ่านมา มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. ที่ 34,827 เมกะวัตต์ จากรีเสิร์ชมาร์จิ้น 30% ขณะที่ปีนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 เวลา 19.47 น. มีการใช้ไฟฟ้าพีคกว่า 32,000 เมกะวัตต์ สูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 15-16%
ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้การใช้ไฟฟ้าจะมีช่วงพีคสูงสุดถึง 35,000 เมกะวัตต์ ทุบสถิติสูงสุด ดังนั้นปีนี้แม้มีไฟฟ้าสำรองที่เพียงพอในระบบ แต่อาจจะเห็นสำรองไฟที่ลดลง ซึ่งอาจมาจากหลายปัจจัย
ไม่ว่าจะเป็น 1. กลุ่มอุตสาหกรรมและประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์มากขึ้น, 2. การชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มากขึ้นกว่า 85% จะชาร์จในเวลากลางคืน และ 3. การใช้ไฟฟ้าของกลุ่มโรงแรมที่สูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
“ปีนี้การใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะเป็นปีที่เหนื่อยแน่ๆ เพราะต้องบริหารจัดการ ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้น การใช้ไฟฟ้าพีค ซึ่งน่าจะเป็นช่วงกลางคืนด้วย ส่วนนี้ต้องเฝ้าติดตามว่าจะบริหารจัดการอย่างไร”
วีรพัฒน์ระบุแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าปี 2567 คาดทุบสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี
สำหรับความคืบหน้าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ สนพ. กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำสัดส่วนให้เหมาะสมและรองรับการใช้ไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว
กฟผ. อุ้มต้นทุนค่าไฟฟ้าคงค้างเหลือ 99,689 ล้านบาท
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ คนที่ 16 กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567
“กฟผ. มองว่า ค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนของทุกกิจกรรม ทั้งค่าไฟฟ้าบ้านและอุตสาหกรรม ไม่ควรปรับไปปรับมาบ่อยๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้การคิดต้นทุนสินค้าของธุรกิจ เพราะถ้าค่าไฟแพงบ้างถูกบ้างจะคำนวณยาก ธุรกิจก็ต้องคิดค่าไฟแพงเป็นต้นทุนไว้ก่อน สุดท้ายต้นทุนนี้ก็จะถูกบวกอยู่ในราคาสินค้าส่งต่อมายังผู้บริโภค”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กฟผ. แบกรับภาระต้นทุนคงค้างเหลือ 99,689 ล้านบาท ลดลงจากช่วงปลายปี 2566 อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท หาก กฟผ. ได้รับคืนต้นทุนคงค้าง 7 งวด โดยหากค่าไฟยังคงอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยตามที่กำหนดชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะยิ่งช่วยลดปัญหาสภาพคล่องได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจ คือ
- รักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า และพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization)
- พัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center)
- บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้
- สนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ
- ศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ประโยชน์