×

Reciprocal Tariff กับโลกภาพยนตร์ที่ไม่เหมือนเดิม เมื่อภาษีตอบโต้กำลังเปลี่ยนเงื่อนไขของเรื่องเล่า

06.05.2025
  • LOADING...
ภาพประกอบแสดงความเชื่อมโยงระหว่างนโยบาย Reciprocal Tariff ของทรัมป์กับการส่งออกภาพยนตร์ไทยในตลาดต่างประเทศ

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • ความไม่แน่นอนในการปรับขึ้นหรือลดภาษี การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของกฎระเบียบ หรือการที่แต่ละประเทศตั้งกำแพงการค้าแบบไม่คาดคิด ล้วนทำให้การวางแผนผลิตหรือส่งออกภาพยนตร์ไปต่างประเทศกลายเป็นเกมที่เต็มไปด้วย ‘ตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้’
  • หนึ่งในผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดจากระบบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป คือความเปราะบางของดีลระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ผู้ซื้อ ผู้จัดจำหน่าย และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรายใหญ่ต่างเริ่มระมัดระวังในการลงทุนกับหนังต่างประเทศมากขึ้น ไม่ใช่เพราะเนื้อหาของหนังเสี่ยง แต่เพราะเงื่อนไขแวดล้อม ทั้งต้นทุนภาษีนำเข้า ค่าโอนเงินระหว่างประเทศ ค่าขนส่ง หรือแม้แต่ข้อจำกัดในระบบสิทธิ์การจัดจำหน่ายต่างหากที่ “ไม่นิ่งพอ” จะทำให้ดีลเดินหน้าได้อย่างราบรื่น
  • ไทยอาจไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งทางการค้าโดยตรงกับมหาอำนาจใด แต่ความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลกส่งผลมาถึงเราโดยอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนังไทยที่เคยเดินสายขายทั่วโลกในยุคที่ต้นทุนและเงื่อนไขการค้าเสถียร วันนี้ต้องเผชิญกับคำถามใหม่ เช่น จะวางแผนต้นทุนอย่างไรเมื่อค่าอุปกรณ์และภาษีนำเข้าเปลี่ยนทุกไตรมาส ฯลฯ

โลกในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยพลังของตลาดเสรีเพียงลำพังอีกต่อไป แต่มันถูกกำกับควบคุมด้วยนโยบายภาษี มาตรการกีดกันทางการค้า และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลก Reciprocal Tariff หรือ “ภาษีตอบโต้แบบเท่าเทียม” ซึ่งแต่เดิมมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมหนัก เช่น รถยนต์ เหล็ก หรือเทคโนโลยี กำลังขยายอิทธิพลเข้าสู่พื้นที่ของ “เรื่องเล่า” อย่างเงียบเชียบ

 

ภาพประกอบแสดงความเชื่อมโยงระหว่างนโยบาย Reciprocal Tariff ของทรัมป์กับการส่งออกภาพยนตร์ไทยในตลาดต่างประเทศ

 

ในยุคที่ภาพยนตร์ไม่ใช่เพียงงานศิลปะหรือความบันเทิง แต่กลายเป็น “สินค้าวัฒนธรรม” ที่มีมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจและการสร้างอิทธิพลระดับโลก เรื่องเล่าในหนังจึงถูกแปรค่าเป็นผลประโยชน์ ส่งออก และข้อตกลงระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด กำลังบีบให้ธุรกิจภาพยนตร์ต้องคิดให้ลึกขึ้นกว่าคำว่า “ตลาดเสรี”

 

หากมองผิวเผิน Reciprocal Tariff คือการเก็บภาษีนำเข้าแบบเท่ากันระหว่างประเทศคู่ค้า เพื่อสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ แต่มาตรการนี้ยังส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาต่อการลงทุนระหว่างประเทศและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างภาพยนตร์

 

ความไม่แน่นอนในการปรับขึ้นหรือลดภาษี การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของกฎระเบียบ หรือการที่แต่ละประเทศตั้งกำแพงการค้าแบบไม่คาดคิด ล้วนทำให้การวางแผนผลิตหรือส่งออกภาพยนตร์ไปต่างประเทศกลายเป็นเกมที่เต็มไปด้วย ‘ตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้’

 

 

สิทธิ์การจัดจำหน่ายที่แคบลง และดีลระหว่างประเทศที่เปราะบาง

 

หนึ่งในผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดจากระบบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป คือความเปราะบางของดีลระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

 

ผู้ซื้อ ผู้จัดจำหน่าย และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรายใหญ่ต่างเริ่มระมัดระวังในการลงทุนกับหนังต่างประเทศมากขึ้น ไม่ใช่เพราะเนื้อหาของหนังเสี่ยง แต่เพราะเงื่อนไขแวดล้อม ทั้งต้นทุนภาษีนำเข้า ค่าโอนเงินระหว่างประเทศ ค่าขนส่ง หรือแม้แต่ข้อจำกัดในระบบสิทธิ์การจัดจำหน่ายต่างหากที่ “ไม่นิ่งพอ” จะทำให้ดีลเดินหน้าได้อย่างราบรื่น

 

ตัวอย่างเช่น ดีลซื้อสิทธิ์ฉายหนังไทยในบางประเทศที่เคยเซ็นสัญญาล่วงหน้าเป็นเดือน ปัจจุบันถูกเลื่อนหรือ “รอความชัดเจนของภาษีและต้นทุนรวม” ก่อนจะตัดสินใจขั้นสุดท้าย หลายโปรเจกต์ที่เคยขายได้ทั่วโลก ต้องหดสิทธิ์เหลือเพียงบางภูมิภาคเพื่อลดความเสี่ยงจากค่าดำเนินการแฝง

 

ระบบ pre-sale ที่เคยเป็นกลไกสำคัญในการระดมทุนก็เริ่มชะลอตัว เพราะผู้ซื้อไม่สามารถประเมินต้นทุนหรือความคุ้มค่าจากสิทธิ์ที่ซื้อล่วงหน้าได้เหมือนในอดีต

 

ภาพประกอบแสดงความเชื่อมโยงระหว่างนโยบาย Reciprocal Tariff ของทรัมป์กับการส่งออกภาพยนตร์ไทยในตลาดต่างประเทศ

 

ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นในเงามืด

 

นอกจากผลกระทบด้านการขาย หนังยังต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากระบบภาษีที่แปรปรวน อันประกอบด้วย

 

  • อุปกรณ์ถ่ายทำ ซอฟต์แวร์ตัดต่อ เครื่องบันทึกเสียง หรือระบบ VFX ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงภาษีนำเข้าเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ อาจทำให้ต้นทุนหนังเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสนหรือหลักล้านบาท
  • ค่าลิขสิทธิ์เพลง ฟุตเทจ หรือบริการโปรดักชันจากต่างประเทศ ก็อาจต้องเสียภาษีซ้อนหรือค่าธรรมเนียมระหว่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่คาดคิด
  • ค่าจ้างต่างๆ เนื่องจากผลพวงจากสงครามการค้าย่อมทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยตรงคือ การเรียกร้องค่าแรงที่สัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้น

 

 

หนังไทยจะอยู่ตรงไหนในโลกที่ต้อง “รับมือ” กับความไม่แน่นอน

 

ไทยอาจไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งทางการค้าโดยตรงกับมหาอำนาจใด แต่ความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลกส่งผลมาถึงเราโดยอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนังไทยที่เคยเดินสายขายทั่วโลกในยุคที่ต้นทุนและเงื่อนไขการค้าเสถียร วันนี้ต้องเผชิญกับคำถามใหม่ อย่าง

 

  • จะวางแผนต้นทุนอย่างไรเมื่อค่าอุปกรณ์และภาษีนำเข้าเปลี่ยนทุกไตรมาส
  • จะดีลกับผู้ซื้ออย่างไร หากปลายทางไม่สามารถประเมินต้นทุนการจัดจำหน่ายได้
  • จะรักษาสิทธิ์การจัดจำหน่ายในระดับสากลอย่างไร เมื่อผู้ซื้อหลายรายลดขนาดสิทธิ์ลงเพื่อเลี่ยงความเสี่ยง

 

 

ทางออกที่ต้องกล้าคิด: ไม่ใช่แค่เล่าให้ดีแต่ต้องวางแผนให้ลึก

 

  1. การคิดแบบภูมิภาคนิยม (Regionalism) มากกว่าท้องถิ่นนิยม (Localism)

เมื่อตลาดภายในประเทศอย่างโรงภาพยนตร์จะเกิดภาวะซึมยาว อันเนื่องมาจาก ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้คนเข้าโรงภาพยนตร์น้อยลง การคาดหวังรายได้ภายในประเทศอย่างเดียว จึงมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นการมองธุรกิจในเชิงภูมิภาคนิยม ที่ให้ความสำคัญกับตลาดในภูมิภาคอาเซียน ที่หนังไทยยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จึงอาจเป็นทางออกสำคัญในการลดความเสี่ยงลงได้ สิ่งที่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยต้องรีบทำ คือความพยายามเจาะตลาดเพื่อนบ้านที่ธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังแข็งแรงอยู่ อย่างเวียดนามและอินโดนีเซียให้ได้ ผ่านการอำนวยความสะดวกของภาครัฐในรูปแบบของการจัดพื้นที่พบปะผู้ผลิตและผู้ซื้อในภูมิภาค

 

  1. ร่วมผลิตกับประเทศที่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับไทย

การทำงานร่วมกับประเทศที่มี FTA กับไทย เช่น ประเทศในอาเซียนด้วยกัน จะช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงจากการนำเข้าอุปกรณ์และบริการหลังการผลิต

 

  1. สร้างระบบการเงินและโลจิสติกส์ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

ผู้ผลิตควรเรียนรู้ที่จะคำนวณต้นทุนแฝงจากภาษี ค่าขนส่ง และการจัดจำหน่ายข้ามพรมแดน ตั้งแต่ก่อนปิดกล้อง

 

 

บทส่งท้าย: หนังไม่ใช่แค่ภาพเล่าเรื่องอีกต่อไป แต่เป็น “ผลิตภัณฑ์ส่งออก” ที่ต้องเอาตัวรอดในโลกที่ไม่แน่นอน

 

Reciprocal Tariff ไม่ได้เปลี่ยนแค่เกมการค้า แต่มันกำลังเปลี่ยนความหมายของการทำหนัง การที่หนังไทยจะสามารถอยู่รอดในโลกใหม่นี้ ไม่ใช่แค่ต้องเล่าเรื่องได้ดี แต่ต้องเข้าใจว่า “หนัง” คือสินค้าในระบบโลจิสติกส์และเศรษฐกิจโลก ที่ต้องคิดทั้งต้นทุน ภาษี และความเสี่ยง เหมือนกับนักธุรกิจระดับโลกทุกคน

 

ภาพ: GDH, เนรมิตรหนัง ฟิล์ม, มงคลเมเจอร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising