ประธานแบงก์ชาติสิงคโปร์กล่าวว่า ‘ภาวะถดถอย’ คือราคาที่ต้องจ่าย สำหรับการประเมินเงินเฟ้อผิดพลาดในปีที่แล้ว สอดคล้องกับ IMF ที่ประเมินว่า ราว 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะหดตัวอย่างน้อยสองไตรมาสติดต่อกันในปีนี้และปีหน้า
Tharman Shanmugaratnam รัฐมนตรีอาวุโสสิงคโปร์ และประธานธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจโลกอ่อนแอในปัจจุบันเป็นผลมาจากประเมินอัตราเงินเฟ้อที่ผิดพลาดของธนาคารกลางทั่วโลกในปีที่แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มี 7 ปัจจัย ที่รอบนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 2008
- เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
“ภาวะถดถอยเป็นราคาที่ต้องจ่าย สำหรับการประเมินแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ผิดพลาด” Tharman กล่าวโดยอ้างถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว อันเป็นผลมาจากการคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
เมื่อเดือนที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าเหลือ 2.7% จาก 3.8% ในรายงานเดือนมกราคม นอกจากนี้ IMF ยังเห็นความน่าจะเป็นถึง 25% ว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวลงเหลือโตน้อยกว่า 2% ในปีหน้า
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ถือเป็นหนึ่งในธนาคารกลางแรกๆ ที่จะเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว MAS ได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อมาแล้วถึง 5 ครั้ง
การคำนวณของ IMF ยังแสดงให้เห็นว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะหดตัวอย่างน้อย 2 ไตรมาสติดต่อกัน (หรือเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค) ในปีนี้และปีหน้า และโดยผลผลิต (Output) ที่สูญเสียไปจนถึงปี 2026 จะอยู่ที่ 4 ล้านล้านดอลลาร์
อ้างอิง: