×

แอร์โดอันถูกตั้งคำถามหนัก เก้าอี้ประธานาธิบดีอาจสั่นคลอน หลังล้มเหลวรับมือแผ่นดินไหวตุรกี

โดย THE STANDARD TEAM
11.02.2023
  • LOADING...
Recep Tayyip Erdoğan

แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของตุรกีนับตั้งแต่ปี 1939 ทำให้เกิดคำถามใหญ่ว่า ประเทศตุรกีสามารถหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมขนาดใหญ่เช่นนี้ได้หรือไม่ และรัฐบาลของประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่เพื่อช่วยชีวิตประชาชน ขณะที่ดูเหมือนว่าความล้มเหลวในการรับมือแผ่นดินไหวของรัฐบาลกำลังทำให้อนาคตบนเส้นทางการเมืองของผู้นำตุรกีตกอยู่ในความเสี่ยง หลังจากที่เขาครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 20 ปี 

 

ประธานาธิบดีแอร์โดอันยอมรับว่าการตอบสนองต่อเหตุแผ่นดินไหวมีความบกพร่อง โดยหลายเมืองในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวนั้นปกครองและบริหารโดยพรรค AKP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลภายใต้การนำของแอร์โดอัน ขณะเดียวกันผู้นำตุรกีกลับโทษโชคชะตาในระหว่างการลงพื้นที่เขตภัยพิบัติแห่งหนึ่ง “เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอ มันเป็นส่วนหนึ่งของโชคชะตา”

 

ตุรกีมีประสบการณ์รับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวมากกว่าหลายประเทศในโลก แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าความล้มเหลวในการจัดการเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นผลมาจากการเมืองเข้ามาแทรกแซง

 

ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของตุรกีเมื่อเดือนสิงหาคม 1999 กองกำลังติดอาวุธเป็นผู้นำปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย แต่รัฐบาลแอร์โดอันพยายามควบคุมอำนาจของกองกำลังเหล่านี้ในสังคมตุรกี

 

“ในทั่วโลกนั้นองค์กรที่มีการจัดการและมีอำนาจด้านโลจิสติกส์มากที่สุดคือกองกำลังติดอาวุธ พวกเขามีเครื่องมือมากมายอยู่ในมือ” นาซูห์ มาห์รูกี หัวหน้ามูลนิธิ AKUT ซึ่งเป็นกลุ่มอาสากู้ภัยกล่าว “ดังนั้นคุณต้องใช้สิ่งนี้เมื่อเกิดภัยพิบัติ”

 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบการกู้ภัยแผ่นดินไหวของตุรกีคือหน่วยงานพลเรือน ที่มีเจ้าหน้าที่เพียงประมาณ 10-15,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการตอบสนองแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ครั้งล่าสุด ทำให้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มต่างๆ ที่อยู่นอกภาครัฐ เช่น AKUT ซึ่งมีอาสาสมัคร 3,000 คน

 

มาห์รูกีกล่าวเพิ่มเติมว่า ศักยภาพของกองทัพในขณะนี้ยิ่งใหญ่กว่าในปี 1999 แต่เนื่องจากไม่ได้ถูกรวมอยู่ในแผน จึงต้องรอคำสั่งของรัฐบาลก่อนจึงจะเริ่มปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยได้ 

 

“สิ่งนี้ทำให้การเริ่มต้นปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยล่าช้า” เขากล่าว

 

ขณะที่ เคมัล คิลิกดาโรกลู หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านหลักในตุรกี ก็ออกมาวิจารณ์ประธานาธิบดีแอร์โดอันเช่นกัน โดยกล่าวว่า “เรามาถึงจุดนี้ก็เพราะการเมืองของเขา” 

 

การหาเสียงเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมยังไม่เริ่มต้นขึ้น แต่คิลิกดาโรกลูเผยว่าพรรคของเขาพร้อมจับมือกับพรรคฝ่ายค้านที่เหลืออีก 5 พรรค เพื่อประกาศรายชื่อผู้สมัครที่เป็นเอกภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อล้มประธานาธิบดีแอร์โดอัน

 

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีแอร์โดอันยอมรับว่าความพยายามในการค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตไม่ได้เร็วอย่างที่รัฐบาลต้องการ แม้ว่าปัจจุบันตุรกีจะมี ‘ทีมค้นหาและกู้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ ก็ตาม 

 

ขณะเดียวกันผู้นำตุรกีเรียกร้องให้คนในชาติมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่คำวิงวอนของแอร์โดอันไม่ได้รับการเหลียวแล เมื่อเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับการรับมือกับภัยพิบัติของรัฐบาล ซึ่งเขาประณามว่าเป็นเรื่องน่าอัปยศ

 

“ผมทนไม่ได้กับผู้คนที่ออกมาสร้างกระแสโจมตีเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง” เขาบอกกับนักข่าวในเมืองฮาทาย ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

 

ทั้งนี้ แอร์โดอันครองอำนาจมายาวนานถึง 20 ปี ตอนแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี และจากนั้นในฐานะประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งและมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ เขากลายเป็นคนไม่ยอมรับคำวิจารณ์ หลายคนที่อยู่ตรงข้ามกับเขาต้องติดคุกหรือไม่ก็หนีไปต่างประเทศ 

 

สำหรับหนึ่งในมาตรการแรกๆ ของรัฐบาลในการตอบสนองต่อแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้คือการบล็อก Twitter ชั่วคราว ทั้งๆ ที่ Twitter ถูกใช้เป็นช่องทางในการช่วยหน่วยกู้ภัยค้นหาผู้รอดชีวิต โดยรัฐบาลให้เหตุผลที่ตัดสินใจดำเนินการดังกล่าวว่าเป็นเพราะมีการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน และตำรวจได้ควบคุมตัวนักรัฐศาสตร์รายหนึ่ง ฐานโพสต์วิจารณ์การรับมือเหตุฉุกเฉินของรัฐบาล

 

เดนิซ ยูเซล นักข่าวชาวตุรกีซึ่งเคยถูกจำคุกเป็นเวลา 1 ปีก่อนการพิจารณาคดี และปัจจุบันได้ลี้ภัยไปเยอรมนี ระบุว่า ผลพวงของแผ่นดินไหวในตุรกีเมื่อปี 1999 ช่วยผลักดันให้แอร์โดอันขึ้นสู่อำนาจ

 

นักข่าวรายนี้เชื่อว่าหายนะครั้งล่าสุดอาจเข้ามามีบทบาทชี้ชะตาการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนปีนี้ด้วยเช่นกัน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าอย่างไร

 

ภาพ: Ozkan Bilgin / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X