×

ประธานาธิบดีตุรกีตัดสินใจไม่วีโต้ฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิก NATO

โดย THE STANDARD TEAM
19.03.2023
  • LOADING...
Recep Tayyip Erdoğan

เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ยกเลิกการใช้สิทธิยับยั้งการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ของฟินแลนด์ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถของตะวันตกในการต้านทานภัยคุกคามของรัสเซียข้ามทะเลบอลติกในอนาคต อย่างไรก็ดี สวีเดนที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO พร้อมกับฟินแลนด์ ยังคงไม่ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี

 

แอร์โดอันกล่าวหลังจากการประชุมร่วมกับประธานาธิบดีซาอูลี นีนีสเตอะของฟินแลนด์ ในกรุงอังการา ว่าเขาจะเสนอให้รัฐสภาตุรกีลงมติสนับสนุนการสมัครเข้าร่วม NATO ของฟินแลนด์ และแสดงความหวังว่าการลงมติดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งตุรกีในเดือนพฤษภาคม

 

ทั้งนี้ หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน ฟินแลนด์ซึ่งมีพรมแดนติดกับรัสเซียเป็นระยะทางยาว 1.340 กิโลเมตร ถูกบีบให้ต้องพิจารณานโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศใหม่ ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิก NATO ซึ่งหากไม่ติดขัดอะไร ฟินแลนด์จะเข้าเป็นสมาชิกชาติที่ 31 ของกลุ่มพันธมิตรด้านการทหารของชาติตะวันตก

 

ในการแถลงข่าวร่วมกัน แอร์โดอันกล่าวว่าความกังวลของตุรกีเกี่ยวกับกิจกรรมการก่อการร้ายของกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดในฟินแลนด์ได้รับการแก้ไขแล้ว ฟินแลนด์ดำเนิน ‘ขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมและแท้จริง’ เพื่อตอบสนองต่อข้อกังวลด้านความมั่นคงของตุรกี พร้อมระบุว่า การเข้าเป็นสมาชิกของฟินแลนด์จะทำให้ NATO แข็งแกร่งขึ้น

 

ด้านนีนีสเตอะกล่าวกับแอร์โดอันว่า “ตอนนี้เราได้คำตอบแล้ว ขอบคุณ” แต่เขากล่าวเสริมว่า “การเป็นสมาชิก NATO ของฟินแลนด์จะไม่สมบูรณ์หากไม่มีสวีเดน” พร้อมแสดงความหวังว่าทั้งสองประเทศจะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม NATO ในการประชุมสุดยอดที่วิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย ในเดือนกรกฎาคม

 

ทั้งนี้ปัจจุบันฮังการีเป็นสมาชิก NATO ชาติเดียวที่ยังไม่อนุมัติการเป็นสมาชิกของฟินแลนด์ แต่คาดว่าจะยอมอ่อนท่าทีในสัปดาห์หน้า เพื่อที่ฮังการีจะไม่ต้องโดดเดี่ยวและถูกมองว่าปิดกั้นการขยายตัวของกลุ่มพันธมิตร โดยเจ้าหน้าที่ของฮังการีเผยว่า รัฐสภาจะหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ในวันจันทร์ (20 มีนาคม)

 

ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลด้านการทูตและความมั่นคงเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว สวีเดนและฟินแลนด์ได้ยื่นแสดงความจำนงต้องการสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ NATO พร้อมกัน แต่หลังจากการหารือกับสวีเดน ในเวลาต่อมาฟินแลนด์จึงตัดสินใจเดินหน้าสมัครสมาชิกด้วยตัวเอง

 

นายกรัฐมนตรี อูล์ฟ คริสเตอร์สสัน ของสวีเดน กล่าวเมื่อวันพุธ (15 มีนาคม) ว่า “ผมไม่ปิดบังความจริงว่าเราต้องการให้สัตยาบันร่วมกันและจับมือกัน แต่เราเคารพที่แต่ละประเทศตัดสินใจให้สัตยาบันของตนเอง” 

 

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO ยอมรับว่า การตัดสินใจครั้งนี้ทำให้การวางแผนการป้องกันของกลุ่มพันธมิตรซับซ้อนขึ้น แต่ความซับซ้อนนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ตุรกีปล่อยให้สวีเดนรอ พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า ตนนึกภาพไม่ออกว่า NATO จะไม่เข้าร่วมการป้องกันสวีเดน หากสวีเดนถูกรัสเซียโจมตี

 

ก่อนหน้านี้ ผู้นำตุรกีใช้สิทธิวีโต้คัดค้านฟินแลนด์และสวีเดน เนื่องจากมองว่าทั้งสองประเทศต่างดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นมิตรต่อตุรกี อีกทั้งยังต่างเป็นแหล่งกบดานให้กับผู้ก่อการร้ายอย่างกลุ่มกบฏชาวเคิร์ด (PKK) ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ประกาศเอกราชจากตุรกี และสร้างความไม่สงบภายในตุรกีตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งสวีเดนและฟินแลนด์จำเป็นต้องยุติการสนับสนุนกลุ่มชาวเคิร์ดในประเทศของตน และยกเลิกข้อจำกัดในการจำหน่ายอาวุธให้กับตุรกี เพื่อแลกเปลี่ยนกับการสนับสนุนให้ทั้งสองประเทศสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ NATO ได้ 

 

จนกระทั่งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ฟินแลนด์ได้ผ่อนคลายคำสั่งห้ามส่งออกอาวุธไปยังตุรกีที่บังคับใช้อย่างเข้มงวดมาตั้งแต่ปี 2019 หลังตุรกีโจมตีทางตอนเหนือของซีเรีย

 

ทั้งนี้แอร์โดอัน ซึ่งกำลังเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความนิยมที่ตกลงก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม หวังว่าการยอมรับฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิก NATO จะแสดงให้ชาวตุรกีเห็นว่าเขาสามารถร่วมมือกับตะวันตก และขจัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่านโยบายชาตินิยมของเขาทำลายเศรษฐกิจของประเทศ

 

ภาพ: Emin Sansar / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising