สื่อจีนระบุ หลายชาติเร่งเครื่องส่งออกทุเรียนตีตลาดจีนในปีนี้คึกคัก ซึ่งอาจทำให้ ‘ทุเรียนไทย’ เสี่ยงหลุดสถานะแชมป์ เหตุจากไทยเพาะปลูกในครัวเรือน ขณะที่เพื่อนบ้านปลูกในระดับอุตสาหกรรมและเน้นส่งออก วันนี้เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย จึงกลายเป็นคู่แข่งสำคัญที่กำลังเข้าสู่สมรภูมิตลาดจีนอย่างดุเดือด
สำนักข่าว Xinhua รายงานว่า หลังจากที่ด่านโหย่วอี้กวนหรือด่านมิตรภาพบนพรมแดนจีน-เวียดนาม ณ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนสดในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้รวม 48,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.85 พันล้านหยวน (ราว 9.25 พันล้านบาท)
โดยมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดข้างต้นแบ่งเป็นนำเข้าจากเวียดนาม 35,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1.28 พันล้านหยวน (ราว 6.4 พันล้านบาท) และนำเข้าจากไทย 13,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 570 ล้านหยวน (ราว 2.85 พันล้านบาท) ซึ่งลดลงร้อยละ 59.5 และร้อยละ 63.5 เมื่อเทียบปีต่อปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทั้งนี้ ด่านโหย่วอี้กวนของกว่างซีจ้วงจัดเป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุดในการนำเข้าทุเรียนและจุดสังเกตกระแสการบริโภคทุเรียนของตลาดจีน โดยศุลกากรนครหนานหนิงระบุว่า มูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดผ่านด่านแห่งนี้ในปี 2023 รวมอยู่ที่ 2.25 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.12 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 353 เมื่อเทียบปีต่อปี
ด้านสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่า จีนนำเข้าทุเรียนสดในปี 2023 ราว 1.42 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.47 แสนล้านบาท) โดยปริมาณทุเรียนที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวนคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณทุเรียนนำเข้าทั้งหมดของจีน
สถานะ ‘ผู้นำ’ ของทุเรียนไทยในตลาดจีนกำลังสั่นคลอน
บรรดาคนวงในอุตสาหกรรมมองว่า ปริมาณทุเรียนสดนำเข้าจากไทยผ่านด่านโหย่วอี้กวนที่ลดลงในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนล่าช้ากว่าปกติ กอปรกับสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่นไทยส่งผลกระทบต่อผลผลิตทุเรียน
กระทั่งข้อมูลการบริโภคทุเรียนของตลาดจีนชี้ว่า สถานะ ‘ผู้นำ’ ของทุเรียนไทยในตลาดจีนกำลังสั่นคลอน เนื่องด้วยผลกระทบจากการส่งออกทุเรียนสู่จีนของแหล่งผลิตทุเรียนที่พัฒนามาทีหลังอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ ทำให้ทุเรียนไทยในตลาดจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันอันดุเดือดยิ่งขึ้น
ภาพ: Jethuynh / Getty Images
ช่ายเจิ้นอวี่ ผู้จัดการของบริษัท กว่างซี โอวเหิง อินเตอร์เนชันแนล โลจิสติกส์ จำกัด เผยว่า ช่วงก่อนปี 2023 บริษัทฯ นำเข้าทุเรียนจากไทยเท่านั้น แต่พอปี 2023 ทุเรียนที่นำเข้ามากกว่า 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ แบ่งเป็นทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามอย่างละครึ่ง โดยบริษัทฯ เลือกแหล่งผลิตตามความต้องการของผู้บริโภคทั่วจีน
เวียดนามเน้นปลูกพื้นที่ขนาดใหญ่ ระยะทางขนส่งสั้น มีความเป็นอุตสาหกรรมระดับสูง
ช่ายกล่าวว่า การปลูกทุเรียนในไทยมักปลูกโดยครัวเรือนทั่วไปหรือกลุ่มหมู่บ้าน แต่การปลูกทุเรียนของเวียดนามมุ่งเน้นการเพาะปลูกขนาดใหญ่ รวมถึงใช้ข้อได้เปรียบจากระยะทางขนส่งสั้น ความเป็นอุตสาหกรรมระดับสูง และต้นทุนต่ำกว่า ทำให้ทุเรียนเวียดนามมีโอกาสรุกเข้าท้าชิงส่วนแบ่งตลาดจีน
คนวงในอุตสาหกรรมเผยว่า ช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายประเทศอาเซียนได้รับอนุญาตส่งออกทุเรียนสดสู่จีน ทำให้โครงสร้างตลาดทุเรียนของจีนเปลี่ยนแปลงไป โดยก่อนหน้านี้ทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งตลาดจีนมากที่สุดเสมอ จนกระทั่งเวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนสดสู่จีนในเดือนกันยายน 2022 ทำให้ทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งตลาดจีนลดลง
สำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่า ปี 2022 จีนนำเข้าทุเรียน 825,000 ตัน ซึ่งเป็นทุเรียนไทยมากกว่า 780,000 ตัน หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 95 ต่อมาปี 2023 จีนนำเข้าทุเรียน 1.42 ล้านตัน ซึ่งเป็นทุเรียนไทย 929,000 ตัน และทุเรียนเวียดนาม 493,000 ตัน ทำให้ทุเรียนเวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดจีนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 ภายในหนึ่งปี และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ฟิลิปปินส์ส่งออกทุเรียนสดเพิ่ม เน้นส่งทางอากาศลดต้นทุน ช่วยการันตีรสชาติ
ขณะเดียวกัน แม้ปริมาณทุเรียนสดส่งออกจากฟิลิปปินส์สู่จีนไม่ได้สูงมาก แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยศุลกากรนครหนานหนิงระบุว่า ปริมาณการขนส่งทุเรียนด่วนผ่านท่าอากาศยานนานาชาติหนานหนิงอู๋ซวีในไตรมาสแรกของปีนี้รวมอยู่ที่ 1,201 ตัน ซึ่งมาจากไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยการนำเข้าทุเรียนฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีต่อปี
สวี่เฉียง รองผู้จัดการบริษัทที่ให้บริการขนส่งทุเรียนทางอากาศ เผยว่า มีการนำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์ทางอากาศทุกวัน คิดเฉลี่ยราว 4 ตันต่อเที่ยวบิน โดยต้นทุนการขนส่งไม่สูงเพราะเป็นเที่ยวบินขากลับ และการขนส่งทางอากาศช่วยการันตีรสชาติสดใหม่ด้วย
มาเลเซียและจีนชิงพัฒนาแผนการผลิตร่วมกัน
นอกจากเวียดนามและฟิลิปปินส์แล้ว ทุเรียนมาเลเซียกำลังบุกตลาดจีนเช่นกัน โดยมาเลเซียส่งออกผลิตภัณฑ์ทุเรียนแช่แข็งสู่จีนตั้งแต่ปี 2011 และส่งออกทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกสู่จีนในปี 2019
ข้อมูลจากหอการค้าแห่งประเทศจีนเพื่อการนำเข้าและส่งออกอาหาร ผลผลิตพื้นเมือง ผลผลิตพลอยได้จากสัตว์ ระบุว่า ปริมาณการส่งออกทุเรียนมาเลเซียแช่แข็งสู่จีนในปี 2023 อยู่ที่ 25,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.96 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบปีต่อปี
ฟาทิล อิสมาอิล กงสุลใหญ่มาเลเซียประจำนครหนานหนิง กล่าวว่า จีนกลายเป็นตลาดแห่งสำคัญของทุเรียนมาเลเซียหลังจากพัฒนามานานหลายปี โดยปัจจุบันมาเลเซียและจีนกำลังทำงานร่วมกันเพื่อการส่งออกทุเรียนสดจากมาเลเซียสู่จีน
คนวงในอุตสาหกรรมทิ้งท้ายว่า ตลาดผู้บริโภคทุเรียนของจีนมีขนาดใหญ่ และความต้องการทุเรียนไทยจะยังคงเพิ่มขึ้น แต่ทุเรียนไทยกำลังเผชิญการแข่งขันกับอีกหลายประเทศ ทำให้ไทยต้องเร่งรักษาข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยนอกจากควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันเพื่อลดผลกระทบต่อสถานะ ‘ผู้นำ’ ในตลาดจีน
กรมวิชาการเกษตรคุมเข้มการสวมสิทธิใบรับรอง GAP
อย่างไรก็ตาม สำหรับไทย แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งในตลาดจีนก็ตาม ในปีนี้ สำนักงานศุลกากรของจีน (GACC) ขึ้นทะเบียนสวนทุเรียน GAP จำนวน 76,948 สวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำชับการสวมสิทธิใบรับรอง GAP หรือการให้เช่าโรงคัดบรรจุพร้อมกับใบรับรอง GMP-DOA
โดยสถิติการส่งออกทุเรียนไปจีนในปี 2023 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนทั้งหมด 57,000 ตู้ / ชิปเมนต์ ปริมาณสูงถึง 945,900 ตัน มูลค่า 120,469.34 ล้านบาท โดยส่งออกทางรถยนต์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 63.90 รองลงมาคือ ทางเรือ ร้อยละ 31.72 ทางอากาศ ร้อยละ 3.21 และทางรถไฟ ร้อยละ 1.17 ส่งออกจากประเทศไทยจากด่านนครพนมมากที่สุด รองลงมาคือ ด่านเชียงของ และด่านท่าเรือแหลมฉบัง
อ้างอิง:
- https://www.xinhuathai.com/china/433913_20240503
- กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์