ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นมาตรการเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว คาดว่าจะกระตุ้นการซื้อขายที่อยู่อาศัยเพื่อให้ทันก่อนมาตรการใหม่บังคับในเดือนเมษายน 2562
หลังจากที่แบงก์ชาติประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เลื่อนวันประกาศใช้เกณฑ์ใหม่สำหรับสัญญากู้ซื้อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน 2562 จากเดิมที่จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2562 โดยจะยกเว้นกรณีที่มีสัญญาจะซื้อจะขาย หรือมีการผ่อนดาวน์ก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2561 ซึ่งถือเป็นการผ่อนคลายเพื่อลดแรงกดดันต่อตลาดที่อยู่อาศัยและทิศทางการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน รวมถึงลดผลกระทบต่อผู้ที่วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยหรือผ่อนดาวน์อยู่ก่อนแล้ว
ขณะเดียวกันได้ปรับการคำนวณสัดส่วน Loan to Vaue (LTV) โดยให้นับรวมสินเชื่อเพิ่มเติมหรือท็อปอัพ โดยจะยกเว้นให้กับสินเชื่อท็อปอัพบางรายการ ได้แก่ สินเชื่อประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และสินเชื่อธุรกิจ SME ซึ่งผู้ประกอบการจะมีเวลาเพิ่มขึ้นในการเร่งทำตลาดตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยบางรายได้เพิ่มสัดส่วนเงินดาวน์ในโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่และการเร่งทำแคมเปญการตลาดเพื่อปิดการขาย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2561 ประมาณ 1.86 แสนหน่วย เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ 14.1% ขณะที่แนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงไตรมาส 1/2562 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 8.9% หรือมีจำนวนกว่า 4.58 หมื่นหน่วย ขณะที่ไตรมาสอื่นๆ หลังจากนั้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจจะพบกับปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าทั้งปี 2562 การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะมีจำนวนเกือบ 1.8 แสนหน่วย หดตัวลง 3.6% เมื่อเทียบกับปี 2561
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะโต 7% ในปี 2561 และขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องในไตรมาส 1/2562 ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายก่อนที่เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่จะมีผลบังคับใช้ ขณะที่ช่วงที่เหลือของปี 2562 ทิศทางการปล่อยสินเชื่อใหม่อาจชะลอลง ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะต้องติดตามประเด็นความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งอาจจะมีผลต่อคุณภาพของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอย่างใกล้ชิด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย