วานนี้ (10 มีนาคม) ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ออกประกาศเรื่อง การปฏิบัติตัวของประชาชนในช่วงวิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 โดยระบุว่า
เป็นที่ทราบและตระหนักกันดีถึงพิษภัยต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ทั้งผลเฉียบพลันและผลเรื้อรัง ไม่เฉพาะผลต่อระบบการหายใจที่เป็นช่องทางนำพาฝุ่นเข้าสู่ร่างกายเท่านั้น ฝุ่น PM2.5 ยังมีผลต่อการเกิดโรคระบบต่างๆ เช่น ระบบหลอดเลือดและหัวใจ ระบบประสาท หลอดเลือดสมอง และโรคไต
ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายได้มากคือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (โรคปอด หัวใจ สมอง และไต) ในขณะที่ทุกภาคส่วนกำลังระดมสมองแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ประชาชนควรดูแลสุขภาพของตัวเองในช่วงที่ฝุ่นมีปริมาณสูง ดังนี้
- หมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลของรัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอ หรือใช้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพา เพื่อวางแผนกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม และให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสูด PM2.5 โดยการจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone)
- เมื่อค่า PM2.5 ในขณะนั้น (ค่ารายชั่วโมง) ขึ้นสูงเกินเกณฑ์ คือ
ก.) สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ ลบ.ม.) กลุ่มเสี่ยงควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง บุคคลทั่วไปควรลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
ข.) สูงกว่า 100 มคก./ ลบ.ม. ทุกคนควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นผู้ที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะกลางแจ้ง ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา
ค.) สูงกว่า 150 มคก./ลบ.ม. ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นผู้ที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะกลางแจ้ง ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที
- ขณะที่ปริมาณฝุ่นภายนอกขึ้นสูง ภายในตัวอาคารควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสเจ็บป่วย แต่ขณะที่ปริมาณฝุ่นขึ้นสูงควรหลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้งตามระดับเตือนภัยในข้อ 2 หรือออกกำลังกายในร่มที่มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ จะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM2.5 ที่เล็ดลอดเข้ากระแสเลือดออกไปทางไตในรูปของปัสสาวะได้มากขึ้น
- การอยู่ในบริเวณที่มีต้นไม้ใบเขียว จะช่วยการดูดซับฝุ่นในอากาศได้เพิ่มมากขึ้น