ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) คือความสำเร็จของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมา RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศในประชาคมอาเซียน ร่วมกับจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (ครอบคลุมประชากรกว่า 48% ของโลก และ 1 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก รวมถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าเงินลงทุนระหว่างประเทศที่ไหลเวียนอยู่ทั่วโลก) ได้ริเริ่มความร่วมมือมาตั้งแต่ปี 2012 และเริ่มต้นการเจรจาในปี 2013 ซึ่งเดิมเคยกำหนดไว้ว่าจะสามารถหาข้อสรุปในการเจรจาได้ตั้งแต่ปี 2015 แต่ก็ไม่สามารถทำสำเร็จได้ จนกระทั่งภารกิจนี้ตกมาสู่มือของไทยในฐานะประธานการประชุมที่สามารถผลักดันจนสำเร็จลุล่วงได้
หลายๆ ฝ่ายอาจมองว่า เป็นความสำเร็จจริงหรือ ในเมื่อไม่ได้มีการลงนามข้อตกลง ผมขออนุญาตอธิบายดังนี้ครับ
RCEP อุปมาเปรียบเสมือนทั้ง 16 ประเทศสมาชิก คือโต๊ะอาหารขนาดใหญ่ที่ควรจะมีอาหารวางเต็มโต๊ะ แล้วทุกคนมาร่วมวงแบ่งกันรับประทานจากผลประโยชน์ของตลาดสินค้าและบริการ รวมทั้งแหล่งทรัพยากรขนาดมหึมา แต่ในช่วงปี 2013-2018 สมาชิกได้แต่เพียงมาเขียนเมนูเอาไว้บนบอร์ดว่าเราอยากจะมีรายการอาหารอะไรบ้าง แต่การลงมือทำอาหารก็ยังก๊อกๆ แก๊กๆ ไม่ได้มีความก้าวหน้ามากนัก ล่วงมาถึงปี 2019 ที่ไทยเป็นประธานการเจรจา ไทยนี่แหละคือผู้ที่ไปจ่ายตลาด ซื้อผัก ซื้อปลา และลงมือหุงข้าว ทำอาหารจนสำเร็จ วางจานอาหารเต็มโต๊ะ พร้อมลงมารับประทาน
ถ้านาทีนี้ที่ยังไม่ลงนามครบทั้ง 16 ประเทศ ก็เสมือนกับโต๊ะอาหารนี้ยังขาดแจกันดอกไม้ตกแต่งให้สวยงาม กลายเป็นโต๊ะอาหารที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้น เราจึงไม่รีบร้อน รอให้อินเดียไปจัดดอกไม้มาวางให้โต๊ะนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และจะเริ่มลงมือรับประทานอาหารร่วมกัน และแบ่งปันผลประโยชน์ในต้นปีหน้า 2020
ไม่เกินไปนะครับที่เราจะบอกว่า ไทยคือคนลงมือกะเกณฑ์ให้การจ่ายตลาด การทำอาหารเกิดขึ้นได้จริง เพราะตั้งแต่เรารับไม้การเป็นประธานมาในช่วงต้นปี 2019 เราคือผู้เปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมการเจรจา จากเดิมที่คณะกรรมการเจรจาการค้า (Trade Negotiation Committee: TNC) จะประชุมกันปีละ 2-3 ครั้ง ไทยเริ่มกำหนดตารางเวลาให้ TNC ต้องเจรจากันทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งระดับที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และไทยได้วาง Roadmap ไว้ด้วยว่า ในแต่ละเดือนจะต้องมีอะไรก้าวหน้าบ้าง
ในขณะที่เดิมที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ RCEP ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการตัดสินใจ ประชุมกันปีละครั้ง บางปีอาจจะ 2 ครั้ง แต่พอถึงรอบของประเทศไทย เราขอให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2019 ที่เริ่มประชุมกันตั้งแต่บ่าย และยาวไปจนรัฐมนตรีทั้ง 16 ประเทศ ไม่ได้ไปร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำแบบ Gala Dinner และเมื่อเสร็จจากงานเลี้ยงอาหารค่ำ ผู้นำที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอีก 15 ประเทศ ก็ขอตัวจากงานเลี้ยงไปนั่งประชุมร่วมกับรัฐมนตรี จนในที่สุดประชุมกันจนถึง 23.45 น. ของคืนวันนั้น
และในที่สุดในวันที่ 4 พฤศจิกายน อาหารชุดนี้ก็ได้รับการวางบนโต๊ะอย่างสมบูรณ์เพียบพร้อม ที่ผมกล่าวว่าสมบูรณ์เพียบพร้อมเพราะอะไร เพราะการเจรจาการค้าในกรอบ RCEP แบ่งการเจรจาออกเป็น 2 กรอบ (Tracks) โดยกรอบแรกจะเป็นการเจรจาในประเด็นการเปิดและการเข้าสู่ตลาด (Market Access) สำหรับการค้าสินค้าและบริการ
โดยเฉพาะเรื่องของการค้าสินค้าที่จะเจรจาในเรื่องกรอบระยะเวลาการลดภาษี จำนวนรายการสินค้าที่จะนำมาลด ละ เลิกมาตรการทางการค้าประเภทต่างๆ ในขณะที่ภาคบริการก็จะเป็นการระบุถึงการเปิดเสรีและข้อจำกัดต่างๆ ในการให้ผู้ให้บริการเข้ามาดำเนินธุรกิจในแต่ละประเทศสมาชิกในรูปแบบต่างๆ
การเจรจาในกรอบนี้จะให้แต่ละประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศ เจรจากันเป็นคู่ๆ ในลักษณะทวิภาคี โดยคณะของไทยจะนำโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำงานหนักและมีความตั้งใจอย่างเต็มที่ในการรักษาผลประโยชน์ของไทย และผลักดันให้การเจรจาทั้ง 100% ของรายการสินค้าที่มีการซื้อขายกันระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ สามารถหาข้อสรุปได้แล้วทั้งหมดจากการประชุมในคราวนี้
ในขณะที่อีกกรอบหนึ่งจะเป็นการเจรจาในการร่างข้อตกลง (Draft Agreement Text) ซึ่งข้อตกลงจะมีทั้งหมด 20 ข้อบท (Chapters) และสถานะล่าสุดคือ ประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ สามารถบรรลุหาข้อสรุปข้อตกลงได้แล้วทั้ง 20 ข้อบท
ซึ่งทั้ง 20 ข้อบท จะเป็นการยกระดับให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคมีความร่วมมือที่ทันสมัย, ครอบคลุม, มีคุณภาพสูง และมีผลประโยชน์ร่วมกัน (Modern, Comprehensive, High-Quality and Mutually Benefit) โดยการเจรจาให้สามารถหาข้อสรุปทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไทยในฐานะประธานก็สามารถแสวงหาจุดร่วมและสรุปผลได้ในเรื่องยากๆ ทั้ง 20 เรื่อง อันได้แก่
- Initial Provisions and General Definitions: บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป
- Trade in Goods: ข้อตกลงการค้าสินค้า
- Rules of Origin, including Annex on Product Specific Rules: กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด
- Customs Procedures and Trade Facilitation: พิธีการศุลกากรและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า
- Sanitary and Phytosanitary Measures: มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช
- Standards, Technical Regulations and Conformity Assessment Procedures: การกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบ และการรับรอง
- Trade Remedies: การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการค้า
- Trade in Services, including Annexes on Financial Services, Telecommunication Services, and Professional Services: ข้อตกลงการเปิดเสรีภาคบริการ (ซึ่งรวมทั้งการเปิดเสรีภาคการเงิน โทรคมนาคม และบริการของผู้ประกอบวิชาชีพ)
- Movement of Natural Persons: การเคลื่อนย้ายบุคคล
- Investment: ข้อตกลงด้านการลงทุน;
- Intellectual Property ทรัพย์สินทางปัญญา;
- Electronic Commerce พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์;
- Competition: กฎว่าด้วยการสนับสนุนการแข่งขัน
- Small and Medium Enterprises: ข้อบทสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- Economic and Technical Cooperation: ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความร่วมมือทางวิชาการ
- Government Procurement: การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
- General Provisions and Exceptions: บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น
- Institutional Provisions ข้อบทด้านสถาบัน
- Dispute Settlement: กลไกระงับข้อพิพาท
- Final Provisions: บทบัญญัติสุดท้าย
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 20 ข้อบท คือความก้าวหน้า คือมาตรฐานใหม่ๆ ที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละประเทศมีความแตกต่างหลากหลาย มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน มีเงื่อนไขทางสังคม-วัฒนธรรม มีรูปแบบการเมืองที่ต่างกัน และมีความจำเป็นด้านความมั่นคงของชาติและความมั่นคงของมนุษย์ที่ต่างระดับกัน แต่ในที่สุดเราสามารถหาข้อสรุปได้ร่วมกันในปีนี้ที่ไทยเป็นประธานการประชุม และพร้อมที่จะนำไปสู่การลงนามในต้นปีหน้า โดยความสำเร็จครั้งนี้ได้รับการยืนยันในแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ RCEP ทั้ง 16 ประเทศในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2019 ว่า
“We noted 15 RCEP Participating Countries have concluded text-based negotiations for all 20 chapters and essentially all their market access issues; and tasked legal scrubbing by them to commence for signing in 2020.”
ความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการจัดโต๊ะอาหารคือ การมีอาหารวางเต็มโต๊ะ ความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการเจรจาการค้าคือ ประเทศคู่เจรจาทั้ง 15 ประเทศ สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ในทุกข้อบท แต่แน่นอน โต๊ะอาหารแห่งนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะอย่างที่บอกว่า เรายังไม่มีแจกันดอกไม้สวยๆ และแจกันดอกไม้ที่ว่าก็คือ อินเดีย ซึ่งในแถลงการณ์ของผู้นำทั้ง 16 ประเทศ ได้กล่าวไว้ด้วยว่า
“India has significant outstanding issues, which remain unresolved. All RCEP Participating Countries will work together to resolve these outstanding issues in a mutually satisfactory way. India’s final decision will depend on satisfactory resolution of these issues.”
ถอดความได้ว่า อินเดียยังคงมีบางประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ ซึ่งทั้ง 15 ประเทศ ก็เข้าใจและจะเดินหน้าหาทางออกร่วมกันในประเด็นเหล่านั้น ในรูปแบบที่ทุกประเทศคู่เจรจาพึงพอใจ
ผมถึงเปรียบการเจรจาครั้งนี้ที่ยังรอแจกันดอกไม้ที่สวยงาม เพื่อให้โต๊ะอาหารโต๊ะนี้สมบูรณ์พร้อมให้ทั้ง 16 ประเทศ ได้รับประทานอาหาร หรือได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
RCEP คือความก้าวไกลของเอเชีย เพราะหากเราเร่งรัดจนการลงนามเกิดขึ้น และกันให้อินเดียออกไปอย่างโดดเดี่ยว นั่นเท่ากับเราจะขาดโอกาสเข้าสู่ตลาดของประชากร 1.3 พันล้านคน และอินเดียคือเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก (หากพิจารณามูลค่า GDP ที่ปรับค่าครองชีพแล้ว GDP PPP) และยังเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง รวมทั้งยังเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย
ดังนั้น หากไทยและคู่ค้าอื่นๆ อยากเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ของเอเชียใต้ อินเดียคือจิ๊กซอว์สำคัญ เช่นเดียวกับในมิติภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ ขาดอินเดียไป ภาพของอินโด-แปซิฟิกที่เป็นยุทธศาสตร์หลักของมหาอำนาจทั่วโลกก็ไม่สมบูรณ์
ด้วยเหตุนี้ หากเราเร่งรัดให้เกิดการลงนามโดย 15 ประเทศ และกันอินเดียออกไป นั่นเท่ากับภาพที่ไม่สมบูรณ์และเสียโอกาสในเอเชียใต้ อินโด-แปซิฟิก ในทางตรงกันข้าม หากบีบบังคับอินเดีย (ซึ่งมีปัญหากดดันจากการยกระดับ RCEP ให้กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ) ให้ยอมลงนามโดยไม่สบายใจจากการกดดันอย่างหนักของ 15 ประเทศ นั่นก็เท่ากับเราไปสร้างปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านให้รุนแรงขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดความไม่สบายใจ และหากลงนามไปก็คงจะไม่ใช่ข้อตกลงที่ยั่งยืน
ในทางตรงกันข้าม หากเรายอมรับข้อเรียกร้องของอินเดียมากจนเกินไป นั่นก็อาจจะทำให้ทั้ง 15 ประเทศ เกิดความไม่สบายใจ ดังนั้น หากจะอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน การยืดเวลาออกไปลงนามในปีหน้า โดยประกาศความสำเร็จตั้งแต่ปีนี้ และบอกเป็นนัยๆ เอาไว้ว่า ทั้ง 15 ประเทศ เขาตกลงกันได้แล้วนะ ใจคออินเดียจะมารื้อสิ่งที่เขาตกลงไว้แล้วทั้งหมดเลยหรือ นั่นจึงหมายความว่า การรอให้อินเดียเอาแจกันดอกไม้มาประดับโต๊ะอาหารแห่งนี้โดยทุกฝ่ายสบายใจ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
RCEP ยังเป็นความก้าวหน้าในการเปิดเสรีการค้าของเอเชีย เพราะความยากลำบากที่สุดของการเจรจาในกรอบนี้คือ การเจรจาระหว่างประเทศสมาชิกที่ไม่มี FTA ระหว่างกันอยู่แล้ว
อาเซียนไม่ใช่ปัญหา เพราะอาเซียนเปิดเสรีอยู่แล้วกับทั้ง 6 ประเทศคู่เจรจา เรามี FTA อยู่แล้วทั้ง อาเซียน-จีน, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี, อาเซียน-อินเดีย และ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ การเปิดตลาดเป็น อาเซียน+6 นั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราเคยเจรจากับทั้ง 6 ประเทศมาแล้ว เราคงไม่ได้มีอะไรที่จะเปิดตลาดมากไปกว่าที่เคยเปิดมาแล้ว หากแต่เราน่าจะได้ประโยชน์จากถิ่นกำเนิดสินค้าที่นับมูลค่ารวมกัน ซึ่งจะทำให้เราสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากอัตราภาษีพิเศษได้ง่ายยิ่งขึ้น
แต่สำหรับคู่เจรจาที่ไม่เคยมี FTA ระหว่างกันล่ะ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างอินเดีย-จีน, อินเดีย-นิวซีแลนด์, อินเดีย-ออสเตรเลีย, จีน-ญี่ปุ่น, จีน-เกาหลี, ญี่ปุ่น-เกาหลี และญี่ปุ่น-นิวซีแลนด์ นี่คือความยาก เพราะเท่ากับการเจรจาการค้าในกรอบใหม่ที่เขาไม่เคยมีความร่วมมือกันมาก่อน
แต่ไทยในฐานะประธานก็สามารถผลักดันจนสำเร็จ ซึ่งนั่นคือความก้าวหน้า เพราะอย่าลืมว่าในอดีตที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ของจีน-อินเดีย จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี คือความขัดแย้ง แต่วันนี้ก็สามารถสร้างความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้ ซ้ำยังเป็นความร่วมมือในมิติอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมาอีก
RCEP จะเป็นการยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดต่อประชาคมโลกว่า ทั้ง 16 ประเทศสมาชิก สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ที่การค้าแบบปกป้องคุ้มกัน (Protectionism) เกิดขึ้นมากที่สุด และรุนแรงที่สุดตั้งแต่ปี 1995 ผ่านการประกาศสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องและการเสื่อมศรัทธาของการเจรจาการค้าในกรอบพหุภาคีขององค์การการค้าโลกที่ยังไม่มีผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่เริ่มต้นการเจรจารอบโดฮาในปี 2001 และท่ามกลางแนวคิดแบบ Unilateral ที่มหาอำนาจ (ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา) เริ่มต้นการขยายอิทธิพลและกดดันให้ประเทศอื่นๆ ยอมทำตามแต่เพียงฝ่ายเดียว
และท้ายที่สุดคือ การยืนยันในเวทีนานาชาติว่า การวิเคราะห์ของนักวิชาการที่ว่า ศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะหลังปี 2010 เราจะได้เห็นความถดถอย (บางท่านใช้คำว่า จุดจบ) ของสหรัฐอเมริกาในการจัดระเบียบโลก (The End of American World Order)
ในการประชุมเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ที่ประเทศไทย ระหว่างอาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐฯ เราไม่เห็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทรัมป์อาจจะไม่มา เพราะหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
1. การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้นำชาติอื่นๆ ที่อาจจะมีความขัดแย้งกัน (เช่น ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีสภาวะสงครามการค้า และสหรัฐฯ เองก็พยายามปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก)
2. ผู้นำสหรัฐฯ อาจมองว่า ความสัมพันธ์ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเองเพื่อผลักดันวาระอะไรเป็นพิเศษ
3. ผู้นำสหรัฐฯ อาจยุ่งกับเรื่องต่างๆ ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในปี 2020 หรืออาจจะยุ่งยากกับเรื่องกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี และยังมีเหตุผลอีกมากมายที่ผู้นำสหรัฐฯ สามารถใช้ได้ เพื่ออธิบายการไม่เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ และการประชุมเอเชียตะวันออก เช่น อาจจะเป็นเพราะสหรัฐฯ ไม่ชอบเข้าร่วมในเวทีที่สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นผู้กำหนดวาระการประชุมเอง แต่ถ้าเป็นด้วยความจำเป็นเหล่านั้น อย่างน้อยเราน่าจะได้เห็นการส่งตัวแทนระดับรองประธานาธิบดีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Secretary of State) แต่เรากลับเห็นการส่งตัวแทนที่เป็นเพียงที่ปรึกษาด้านความมั่นคงอย่าง โรเบิร์ต โอไบรอัน ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 2 เดือน และไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ มาร่วมกำหนดอนาคตการเดินหน้าของภูมิภาค นั่นเท่ากับเป็นการไม่ให้เกียรติ ไม่ใช่เพียงไม่ให้เกียรติไทยในฐานะประเทศ แต่ยังเป็นการไม่ให้เกียรติผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ไม่ให้เกียรติ หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ไม่ให้เกียรติ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย, ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น, มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้, สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย, จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และ ดมิตรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ เองก็มียุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เป็นยุทธศาสตร์หลักด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ
และความถดถอยของสหรัฐฯ นี้ยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะเวทีการประชุมเอเชียตะวันออกกลายเป็นเวทีสุดท้ายของปี 2019 ที่ผู้นำหลากหลายประเทศจะได้มีโอกาสมาพบปะหารือกัน ทั้งนี้ เนื่องจากเดิมจะมีการประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) ที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ 21 เขตจะไปพบกันที่ชิลี แต่เนื่องจากเหตุการณ์ประท้วงและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้รัฐบาลชิลีประกาศงดการประชุม APEC ผู้นำสหรัฐฯ จึงขาดโอกาส
เท่านั้นยังไม่พอ RCEP ที่ 15+1 ประเทศก็สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ พร้อมกับที่ผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีฉันทามติร่วมกันที่จะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ด้วยตนเอง ส่งเพียง Troika นั่นคือ ผู้นำไทยในฐานะประธานการประชุม ผู้นำเวียดนามในฐานะรองประธานการประชุม และผู้นำลาว ผู้ประสานงานอาเซียน-สหรัฐฯ เข้าร่วม และผู้นำที่เหลืออีก 7 ประเทศ ส่งเพียงตัวแทนเท่านั้น เพื่อไปนั่งประชุมกับสหรัฐฯ (ที่เริ่มต้นโดยการไม่ส่งตัวแทนที่สมฐานะมาก่อน)
การถดถอยของสหรัฐฯ (ด้วยการดำเนินนโยบายของตนเอง) ในเวทีเหล่านี้ ทำให้แม้ประเทศอื่นๆ ยืนอยู่ ณ ตำแหน่งเดิม แต่กลับทำให้ดูเหมือนทุกคนใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น และโดดเดี่ยวสหรัฐฯ ออกไป และนั่นทำให้การประชุมครั้งนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2019 เราได้เห็นความสำเร็จของไทย ความก้าวไกลของเอเชีย และความถดถอยของสหรัฐฯ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล