การอัดฉีดเงินอย่างหนักของรัฐบาลกระตุ้นให้ความเสี่ยงเรื่องของเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์กำลังอ่อนค่าลง เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) ผู้ก่อตั้ง Bridgewater หนึ่งในเฮดจ์ฟันด์แถวหน้าของโลก เปิดเผยมุมมองของเขาผ่านงาน The Wall Street Journal’s Future of Everything Festival
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใต้รัฐบาลของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งลงนามตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงข้อเสนอเกี่ยวกับวงเงินกระตุ้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีก 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ ก่อให้เกิดความเสี่ยงว่าจะมีเงินล้นอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป
ทั้งนี้ เรย์ ดาลิโอ มองว่า ปริมาณความต้องการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนนั้นมีไม่เพียงพอกับปริมาณที่ออกมา ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องคงนโยบายอัดฉีดเงินต่อไป
“ปัญหาใหญ่คือเงินปริมาณมหาศาลที่ถูกพิมพ์ออกมาและอัดฉีดเข้าไปในระบบ ซึ่งจำเป็นจะต้องปรับสมดุลให้ และให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพที่ออกมา”
ขณะเดียวกัน เรย์ ดาลิโอ ยังมองว่า ตลาดหุ้นกำลังอยู่ในภาวะฟองสบู่ ซึ่งไม่ได้ถูกขับเคลื่อนจากแค่เรื่องของหนี้
“ฟองสบู่มี 2 แบบ อย่างแรกคือ ฟองสบู่จากหนี้ ซึ่งเกิดจากการที่ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ตามเวลาที่กำหนด อย่างที่สองคือ ฟองสบู่จากการที่มีเงินในระบบมากเกินไป และไม่ได้ถูกควบคุมให้ดี จนมูลค่าของมันลดลงไป ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในฟองสบู่แบบที่สอง”
นอกจากนี้ เรย์ ดาลิโอ ได้พูดถึงโอกาสการลงทุนในจีน ในขณะที่หลายคนยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งในประเด็นนี้เขาได้ให้ความเห็นว่า
“ผมไม่ได้เข้าใจในประเด็นนี้มากนัก และไม่ได้ศึกษาประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ผมจึงยึดตามกฎหมายที่ครอบคลุมในแต่ละประเด็น” ขณะเดียวกัน เรย์ ดาลิโอ มองว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ ก็มีอยู่เช่นกัน หากเป็นแบบนี้แล้วเขาก็ไม่ควรลงทุนในสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่
ทั้งนี้หากพูดถึงโอกาสการลงทุนในจีน ช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านักลงทุนอาจจะสูญเสียความเชื่อมั่นไปพอสมควร เพราะในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลจีนกลับเลือกที่จะใช้ช่วงเวลานี้ในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ
ที่ผ่านมาเราได้เห็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ถูกเรียกค่าปรับนับพันล้านดอลลาร์จากประเด็นการผูกขาดทางธุรกิจ ขณะที่รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่งต่างมีความเสี่ยงที่จะล้มละลายได้ง่ายๆ เนื่องจากรัฐบาลจีนเข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกันนักลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ต่างได้รับบาดเจ็บจากการลงทุนในหลายบริษัท เช่น กรณีของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่าง Alibaba
ด้วยเหตุนี้ทำให้เงินลงทุนบางส่วนเร่งตัดสินใจกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น จนระยะห่างของการฟื้นตัวระหว่างสองประเทศนี้แคบลงมาพอสมควร แต่เรื่องตลกที่อาจจะเกิดขึ้นคือความเสี่ยงจากการลงทุนที่ต่ำกว่าในจีน
Bridgewater เป็นหนึ่งในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างชาติรายใหญ่ที่สุดกองหนึ่งซึ่งลงทุนในจีน เมื่อปีก่อนกองทุนหลักอย่าง Pure Alpha II มีผลขาดทุนหนักถึง 1.21 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ในช่วง 22 เดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนกรกฎาคมปีก่อน ผลตอบแทนของกองทุนยังอยู่ที่เฉลี่ย 22% ต่อปี ด้วยกลยุทธ์ All Weather China
เมื่อ 10 เดือนก่อน กลยุทธ์ของ เรย์ ดาลิโอ เริ่มแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์จากการลงทุนในจีน พูดง่ายๆ คือ กลยุทธ์นี้เชื่อว่าพันธบัตรรัฐบาลจะวิ่งขึ้นหากตลาดหุ้นร่วงลงมา ส่งผลให้กองทุนขนาดใหญ่คาดหวังว่าการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนจะช่วยให้รอดพ้นจากความผันผวนของตลาดได้
หนึ่งปีผ่านไป การแปรผกผันระหว่างพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นเกิดขึ้นในหลายตลาดของประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงในจีนด้วย ซึ่งเป็นภาพที่คล้ายคลึงกับในสหรัฐฯ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถที่จะปรับใช้กลยุทธ์ที่เคยใช้อยู่แล้วให้เข้ากับตลาดจีนได้เช่นกัน
แต่ก่อนจะเข้าลงทุนในตลาดจีน ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ทิศทางของค่าเงินหยวน ทั้งนี้ทั้งนั้นหากจีนเลือกใช้ค่าเงินเป็นอาวุธสำหรับความขัดแย้งในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐฯ อาจทำให้กำไรจากส่วนต่างราคาของสินทรัพย์ต่างๆ หดหายไปได้เมื่อแปลงค่าเงินกลับมาเป็นดอลลาร์
ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดพัฒนาแล้วส่วนมากยังติดลบ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดึงให้ตลาดพันธบัตรกลับมาได้ แต่พันธบัตรอีกกว่า 12.4 ล้านล้านดอลลาร์ก็ยังคงให้ผลตอบแทนติดลบ นั่นหมายความว่ากองทุนที่เน้นการกระจายความเสี่ยงจำเป็นต้องหันกลับมามองตลาดจีนอีกครั้ง
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง: