×

สธ. เตือนประชาชนไม่ควรกินปลาน้ำจืดปรุงดิบ หลังพบคนดังรีวิวกินดิบ เสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับ-มะเร็งท่อน้ำดี

โดย THE STANDARD TEAM
04.11.2022
  • LOADING...

วันนี้ (4 พฤศจิกายน) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุของโรคพยาธิใบไม้ตับเกิดจากกินปลาน้ำจืดเกล็ดขาว เช่น ปลาแม่สะแด้ง, ปลาตะเพียนทุกชนิด, ปลาขาวนา, ปลาแก้มช้ำ, ปลาสร้อย, ปลาซิว และปลากระสูบ ปรุงแบบดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ โดยทำเมนู ก้อยปลา, ปลาส้ม, ลาบปลาดิบ, พล่าปลาดิบ, ปลาร้าดิบ, ส้มตำปลาร้าดิบ และปลาหมกไฟ 

 

สำหรับความเชื่อที่ว่าการบีบมะนาวเป็นการฆ่าตัวอ่อนพยาธินั้น เป็นความเชื่อที่ผิด ตามหลักความจริงแล้วจะไม่มีผลในการทำลายตัวอ่อนพยาธิเลย น้ำมะนาวแค่ทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีเท่านั้น ซึ่งปลาดิบเหล่านี้จะมีตัวอ่อนพยาธิใบไม้ตับอาศัยอยู่ที่เนื้อปลา ครีบอก และเกล็ดใต้ครีบปลา 

 

“เมื่อคนกินอาหารที่ปรุงจากปลาดิบเข้าไป จะได้รับตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อเข้าไป เมื่อถึงลำไส้เล็ก ตัวอ่อนพยาธิจะไชออกจากถุงหุ้มตัวอ่อน เดินทางไปถึงท่อน้ำดีส่วนปลายที่อยู่ในตับ เจริญเป็นตัวเต็มวัย และวางไข่พยาธิขับออกมากับน้ำดีและปนออกมากับอุจจาระ ผู้ที่เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ หากไม่ถ่ายอุจจาระลงส้วม จะแพร่ไข่พยาธิลงไปในดินและน้ำ และเข้าไปอยู่ในเนื้อปลา ครีบปลา หรือที่เกล็ดของปลาน้ำจืดเป็นวงจรต่อเนื่อง” นพ.ธเรศกล่าว 

 

นพ.ธเรศกล่าวต่อไปว่า อาการของผู้ที่ติดโรคพยาธิใบไม้ตับ เริ่มตั้งแต่ไม่มีอาการอะไรเลย เพราะมีจำนวนพยาธิไม่มากนัก หรืออาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อเป็นครั้งคราว อาการร้อนท้อง อาการต่อมาที่พบคือ เบื่ออาหาร ท้องอืดมาก ตับโต และกดเจ็บบริเวณชายโครงขวา ในรายที่อาการที่รุนแรงมักพบอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องมาน บวม มีไข้ต่ำๆ หรือไข้สูงจนมีอาการหนาวสั่น ซึ่งมักเกิดจากอาการแทรกซ้อน เช่น ท่อทางเดินน้ำดีอุดตันจากตัวพยาธิ การอักเสบติดเชื้อของท่อทางเดินน้ำดีหรือถุงน้ำดี หรือมะเร็งของท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุด ทั้งนี้การตรวจอุจจาระแล้วพบไข่พยาธิ มีรูปร่างคล้ายหลอดไฟฟ้า สีเหลืองน้ำตาล ไข่ของพยาธิมีฝาปิด มีไหล่และติ่งอยู่ด้านตรงข้ามฝา สามารถตรวจพบไข่พยาธิได้จากอุจจาระ กรณีทางเดินน้ำดีอุดตัน หรือการตรวจยืนยันโดยวิธีตรวจทางอิมมิวโนวินิจฉัย หรือวิธี PCR พยาธิชนิดนี้อยู่ในร่างกายคนได้นานถึง 30 ปี   

 

ทั้งนี้มีคนดังรีวิวการกินปลาดิบโชว์และวิธีการทำเมนูดิบๆ ที่มีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัย และไม่ควรนำมาสร้างคอนเทนต์ที่เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี  

 

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนควรตระหนักถึงการกินอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ อาหารเมนูปลาน้ำจืดเกล็ดขาว ปรุงดิบ หรือ สุกๆ ดิบๆ เช่น ก้อยปลา, ปลาส้ม, ลาบปลาดิบ, ปลาจ่อม, หม่ำปลา, ปลาหมกไฟ และปลาปิ้ง นอกจากนี้การใช้ของเปรี้ยว เช่น น้ำมะนาว มะขาม หรือการใช้ของเค็ม เช่น น้ำปลา เกลือ น้ำปลาร้า ปรุงอาหารนั้น ไม่ทำให้อาหารสุก และไม่สามารถฆ่าพยาธิได้ วิธีที่จะทำให้อาหารสุกนั้น ต้องสุกด้วยความร้อนเท่านั้นจึงสามารถฆ่าตัวอ่อนพยาธิได้ และควรเสริมสร้างบัญญัติ 4 ประการของการป้องกันตัวเองจากโรคพยาธิใบไม้ตับ ดังนี้ 

 

  1. สู้กับตัวเองที่จะไม่กินปลาดิบ หรือปรุงดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ หรือถ้าจะกินให้ปรุงโดยให้ผ่านความร้อนให้สุกเสียก่อน

 

  1. ถ่ายอุจจาระลงในส้วม ไม่ควรถ่ายลงในน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง

 

  1. หากเคยกินปลาดิบ ควรไปตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิตามสถานบริการสาธารณสุข หากมีพยาธิให้รักษาด้วยยา และเลิกกินอาหารปรุงดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 

 

  1. ไม่หัดให้เด็ก หรือชักชวนผู้อื่นกินปลาดิบ ร่วมกันบอกต่อแก่ญาติ พี่น้อง ผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อนฝูง ให้เลิกกินปลาดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เพื่อหลีกเลี่ยงจากโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี 

 

ดังนั้น หากเริ่มมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องอืด ตับโต อาหารไม่ย่อย จุกเสียดและรู้สึกแน่นท้องที่ใต้ชายโครงขวา มีอาการรู้สึกออกร้อนที่ผิวหนังหน้าท้องด้านขวาหรือที่หลัง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็ว ที่สำคัญคือเน้นการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ ส่งเสริมให้ประชาชนรับประทานอาหารเมนูปลาที่ปรุงสุกด้วยความร้อน, ล้างมือ ล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน, ถ่ายอุจจาระในส้วมหรือขุดหลุมฝังกลบ หากจำเป็นต้องถ่ายนอกส้วมบนพื้นดินโดยขุดหลุมลึก 50 เซนติเมตร ห่างแหล่งน้ำ 30 เมตร และตรวจอุจจาระค้นหาไข่พยาธิปีละ 1 ครั้งทุกปี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X