×

โปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ. เลือก ส.ว. สุดท้ายจบลงที่ คสช. คัดเลือกทั้งหมด

16.11.2018
  • LOADING...

วันนี้ (16 พ.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 แล้ว โดยระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 107 วรรค มาตรา 175 และมาตรา 269 (1) (ก) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2561 ขึ้นไว้

 

โดยมาตรา 1 ให้พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561

 

มาตรา 2 ให้พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา 3 ให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

 

และมาตรา 4 ให้ประธาน กกต. รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

นอกจากนี้ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ยังได้หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 269 (1) (ก) ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 107 จำนวน 200 คน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 ไม่น้อยกว่า 15 วัน แล้วนำรายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกอบกับมาตรา 107 วรรค 5 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

สำหรับสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มีจำนวน 250 คน ซึ่งสุดท้ายทั้งหมดจะจบลงที่การคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคสช.

 

50 + 194 + 6 = 250 คือสมการของที่มา ส.ว.

 

  • 6 ที่นั่ง ส.ว. ถูกผูกขาดโดยตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

  • 50 ที่นั่ง มาจากระบบที่ กกต. เรียกว่า ‘การเลือกตั้ง’ โดยจะมีการเลือกระดับอำเภอ จากนั้นจะเข้าสู่การเลือกระดับจังหวัด

 

สำหรับการคัดเลือก ส.ว. ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 4 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม จะมีผู้ได้รับการคัดเลือกไม่เกิน 6,160 คน จะคัดเลือกระดับประเทศ โดยจะสรรหาผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 10 อันดับ จาก 10 กลุ่ม ให้เหลือ 200 คน

 

จากนั้น กกต. จะพิจารณา โดยประธาน กกต. คาดว่า วันที่ 22 ม.ค. 2562 กกต. สามารถส่งรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก 50 คน และสำรอง 50 คน ให้ คสช. พิจารณาเห็นชอบ

 

  • ส่วนอีก 194 ที่นั่ง คสช. จะคัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 400 คน ให้ได้จํานวน 194 คน และตัวสำรองอีก 50 คน

 

สำหรับอำนาจของ ส.ว. ที่มีนัยทางการเมืองและเสียงวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คสช. คือ

 

  • ในการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังการเลือกตั้ง ส.ว. สรรหานี้ ตามบทเฉพาะกาลมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และกำหนดให้ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)

 

  • นอกจากนี้ ส.ว. ยังมีอำนาจติดตามตรวจสอบการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ซึ่งให้คณะรัฐมนตรีแจ้งความคืบหน้าในการดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน

 

ซึ่งกูรูทางการเมืองวิเคราะห์กันว่า แม้ ส.ว. จะไม่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายกับรัฐบาลในอนาคต

 

แต่บทบัญญัตินี้ก็สามารถทำให้วุฒิสภาสามารถทำหน้าที่กึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ทุก 3 เดือน ในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising