×

ประเทศกูมี ถึง ‘บ้านเกิดเมืองนอน’ เวอร์ชัน ‘รักชาติ’ ที่แท้จริง จาก Rap Against Dictatorship

02.03.2022
  • LOADING...
Rap Against Dictatorship

เมื่อ 3 ปีก่อน ตอนที่ผู้คนบางส่วนยังหลับใหล กลุ่มแรปเปอร์ที่เรียกตัวเองว่า Rap Against Dictatorship (R.A.D.) เปิดหน้าปล่อยเพลง ‘ประเทศกูมี’ วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างตรงไปตรงมา พลุ่งพล่าน รุนแรง ทรงพลัง ปลุกให้หลายคนตื่นรู้ ว่าเราสามารถต่อสู้ในแนวทางนี้ได้ 

 

ในขณะที่ผู้คนอีกฟากฝั่งมองว่านี่คือเพลงแห่งความเกลียดชังและหยาบคาย แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปในเนื้อหา เรารู้สึกว่านี่คือ ‘เพลงรัก’ ที่คนรุ่นใหม่มอบให้กับ ‘ประเทศชาติ’ เป็นเพลงแรปที่ใช้คำว่า ‘รัก’ เพียง 1 ครั้งในตอนสุดท้าย แต่กระทบหัวใจผู้คนมากมาย จนมีคนเข้าไปดู MV มากกว่า 104 ล้านครั้ง มากกว่าอีกหลายเพลงรักที่เราเคยได้ยิน 

 

Rap Against Dictatorship

 

เพราะสำหรับพวกเขาความรักคือการ ‘เปลี่ยนแปลง’ ให้ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่าก่อนเปลี่ยนแปลงต้องมองเห็นปัญหา พูดออกมาเพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ไข เช่นเดียวกับที่พวกเขาทำมาตลอดผ่านเพลง 250 สอพลอ, ก่อนความมืดมน, ปฏิรูป, ทะลุฟ้า, งบประมาณ, ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ฯลฯ เช่นเดียวกับ ‘บ้านเกิดเมืองนอน’ เพลงล่าสุดที่เพิ่งปล่อยออกมา 

 

และถ้ามีแง่มุมหนึ่งของความรัก คือการ ‘รับฟัง’ เราแอบจับความรู้สึกได้ว่า เพลงนี้มีท่าทีของการประนีประนอม คอมโพรไมซ์ ลดความรุนแรง หยาบคาย มากกว่าทุกผลงานที่ผ่านมา และเชื่อว่าพวกเขาได้ฟังมุมมองของคนอีกฝั่งจากเพลง ‘บ้านเกิดเมืองนอน 2564’ ทั้ง 6 เวอร์ชัน (ต้นฉบับโดยวงสุนทราภรณ์) จนกลายมาเป็นบ้านเกิดเมืองนอนที่อยากให้ทุกคนรับฟังพวกเขาบ้างในเวอร์ชันนี้ 

 

Rap Against Dictatorship

(ภาพจากมิวสิกวิดีโอเพลง บ้านเกิดเมืองนอน 2564 – Pop Rock Version)

 

ถ้าสามารถฟังเวอร์ชันก่อนหน้าได้จนจบ จะเห็นว่าใจความสำคัญของความรักชาติ อยู่ที่การบอกว่าประเทศของเราดีเด่น ร่มเย็น แสนศิวิไลซ์ “ควรประเทืองไว้เหมือนดังแต่ก่อน” เพราะบรรพบุรุษได้เสียสละเลือดเนื้อแลกมา

 

แต่บ้านเกิดเมืองนอนของ R.A.D. ไม่ใช่แค่การรักษา แต่ยอมรับว่าเรากำลังมีปัญหา และควรเปิดโอกาสให้ ‘คนรุ่นใหม่’ ได้แสดงความรักชาติ และมีส่วนออกแบบ ‘ประเทศชาติ’ แบบที่พวกเขาอยากเห็น เพราะประเทศต้องขับเคลื่อนต่อไปโดยคนเจเนอเรชันใหม่อีกหลายรุ่น ตั้งแต่ท่อนเวิร์สแรกที่บอกว่า 

 

“ประเทศไทยไม่ได้หยุดที่ x อนาคตเราไม่ได้หยุดที่ Y 

หยุดเถียงกันว่ามันผิดที่ใคร สงสารบรรพบุรุษที่ตาย”

 

Rap Against Dictatorship

 

ต่อด้วยการจัดลำดับปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายมิติ ตั้งแต่การกุมอำนาจของรัฐบาลทหาร, โครงสร้างอำนาจระดับใหญ่ไปถึงระดับ ‘ผู้ใหญ่บ้าน’, หน่วยราชการ, ภาษี, เงินบำนาญ, ความหลากหลายทางเพศ, สมรสเท่าเทียม, ชาวนา ชาวป่า คนชายขอบที่ถูกลืม, สวัสดิการ, เสรีภาพ, นิยามความเป็นไทย, ความศิวิไลซ์, การคุมขังคนเห็นต่าง, เพื่อนที่อยู่ ‘ข้างใน’ และบ้านเกิดเมืองนอนที่ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ฯลฯ 

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนออกมาภายในระยะเวลา 6.12 นาที ที่อยากให้ทุกคนมา ‘รับฟัง’ ปัญหา พูดคุย ถกเถียง เพื่อร่วมออกแบบ ‘บ้านเกิดเมืองนอน’ ที่มีเรื่องให้น่าภูมิใจมากกว่าแค่เรื่องเขตแดน และจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ‘อิกนอร์แลนด์’ เหมือนที่เนื้อเพลงท่อนหนึ่งบอกเอาไว้ 

 

Rap Against Dictatorship

 

ไม่ใช่แค่เนื้อเพลงที่ควรรับฟัง มิวสิกวิดีโอเพลงนี้ก็ควรค่าแก่การรับชม เริ่มต้นตั้งแต่ฉากยืนเคารพธงชาติอยู่ในสนามกีฬาที่มีรั้วรอบขอบชิด ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแสนภูมิใจ ของผู้คนหลากหลายแต่สวมชุดเครื่องแบบที่มีหมายเลขติดอยู่บนอกเหมือนกัน 

 

และค่อยๆ เผยให้เห็นกิจวัตรประจำวันที่ทุกคนต้องทำร่วมกัน ตั้งแต่เข้าห้องเรียนวิชา บ้านเกิดเมืองนอน, ออกมารับมอบผ้าพันคอสีฟ้าด้วยท่าทีอ่อนน้อม, ปลูกต้นไม้ทำความดี, ล้อมวง โบกธงรับคำสั่งสอน ปลาบปลื้มน้ำตาคลอด้วยความซาบซึ้ง, รอลุ้นจับสลากฉีดวัคซีนด้วยความดีใจ ถึงแม้จะเป็นวัคซีนที่ไม่มีโอกาสเลือก ฯลฯ

 

Rap Against Dictatorship

Rap Against Dictatorship

 

“เรายังไม่หยุด เรายังไม่ยอม เราก็เป็นคนไทยเรียกที่นี่บ้านเกิดเมืองนอน”

 

เหตุการณ์ในมิวสิกวิดีโอดำเนินคู่ขนานไปกับเนื้อเพลง จนถึงช่วงท่อนฮุกรอบสุดท้ายดังขึ้นมาอีกครั้ง ภาพประชาชนหมายเลข ||| เดินหันหลังให้เสาธงที่พวกเขายืนเคารพอยู่ก่อนหน้า จาก ‘ความเชื่อ’ ทั้งหลายที่ปลูกฝังมาตลอด 

 

ไปสู่ ‘เสาธง’ อีกฝั่งหนึ่ง ที่ประชาชนหมายเลขอื่นๆ ค่อยๆ หันหลังเดินมาหา ล้อมวงช่วยกันเชิญ ‘ธงชาติ’ ขึ้นเสาด้วยความเชื่อและความต้องการของตัวเองเป็นครั้งแรก 

 

Rap Against Dictatorship

Rap Against Dictatorship

 

จากคำกล่าวหามากมายว่า ‘ชังชาติ’ เพลงนี้และฉากสุดท้ายของมิวสิกวิดีโอ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธ ‘ธงชาติ’ และอยาก ‘รักชาติ’ ไม่แพ้ใคร เพียงแต่ขอมีส่วนออกแบบ ‘ชาติ’ ที่พวกเขาและลูกหลานจะต้องใช้ชีวิต และยืนต่อหน้าธงชาติผืนนี้ไปอีกหลายเจเนอเรชัน 

 

และ ‘ความรักชาติ’ ไม่ควรผูกขาดไว้ให้แค่คนกลุ่มเดียว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising