สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในงานสัมมนาของมติชน หัวข้อ ‘พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย’ ว่าผลกระทบมาตรการควบคุมโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมาต่อเนื่อง ซึ่งการระบาดระลอกใหม่นี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนเช่นกัน แต่ตัวกองทุนประกันสังคมไม่สามารถนำเงินออกมาช่วยตรงๆ ได้ เพราะมีกฎในพระราชบัญญัติควบคุมอยู่
ทั้งนี้ เบื้องต้นทางกระทรวงแรงงานหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงการคลัง ฯลฯ) หลังจากการปรึกษานายกรัฐมนตรี จึงตัดสินใจเลือกการให้เงินเยียวยาชื่อ ‘ม.33 เรารักกัน’ ซึ่งจะกระจายวงเงินให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม 9 ล้านคน โดยยังคงเงื่อนไขว่าผู้ที่มีเงินฝากรวม 5 แสนบาทขึ้นไปไม่สามารถรับเงินเยียวยาได้ ซึ่งเงื่อนไขเหมือนกับเราชนะ เพราะใช้วงเงินจากก้อนเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงแรงงานพิจารณาเงินเยียวยา 2 รูปแบบคือ
1. ให้วงเงิน 7,000 บาทต่อคนเท่ากับ ‘เราชนะ’ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีรายได้ไม่เกิน 3 แสนบาทต่อปี เข้าเงื่อนไขราว 5 ล้านคน
2. ให้วงเงินต่อรายไม่เท่ากัน โดยอยู่ระหว่าง 3,500-4,000 บาท และ 4,500 บาท ซึ่งจะกระจายเงินได้ 9 ล้านคน โดยรูปแบบที่ 2 จะไม่สร้างความเหลื่อมล้ำให้บริษัท
“แต่ละบริษัท เช่น ผมมีเงินเดือน 25,000 บาท ท่าน รมช.สาธิต (สธ.) มีเงินเดือน 26,000-27,000 บาท แต่ผมได้รับการช่วยเหลือ เพราะเกณฑ์ไม่เกิน แต่ท่าน รมช. ไม่ได้รับ โดยทำงานตำแหน่งเดียวกัน แผนกเดียวกัน ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำในบริษัท จะทำให้ความสามัคคีในมาตรา 33 มีปัญหา ท่านนายกฯ จึงตั้งว่า ม.33 เรารักกัน”
อย่างไรก็ตาม พรุ่งนี้ (5 กุมภาพันธ์) กระทรวงแรงงานจะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ทางสภาพัฒน์จะส่งเข้าอนุกรรมการฯ และพยายามนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารหน้า (9 กุมภาพันธ์) หากไม่ทันจะส่งเข้าในสัปดาห์ถัดไป แต่คาดว่าจะเริ่มให้ใช้สิทธิ์วงเงินได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2564
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์