วันจันทร์ที่จะถึงนี้ (25 มกราคม) กระทรวงการคลัง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เตรียมแถลงข่าวการเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น ‘เราชนะ’ ในงบประมาณปี 2564 เบื้องต้นมาตรการเงินเยียวยาโควิด-19 รอบใหม่เราชนะ จะใช้เม็ดเงินราว 210,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นในช่วงต้นปีนี้ และระยะปานกลางถึงยาวจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทยที่จะออกมาเพิ่มขึ้น จากการประคองทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะทำให้ทางการไทยมีความต้องการระดมทุนในระดับสูงต่อเนื่องจากปีก่อน ทั้งเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 และการกู้ยืมเพื่อใช้สำหรับโครงการ/แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่างๆ ที่รวมๆ แล้วน่าจะมีวงเงินสูงกว่าระดับ 1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการระดมทุนของภาครัฐ แม้ว่าจะส่งผลต่อต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตรอาจจะทยอยขยับขึ้น แต่ก็จะถูกจำกัดทิศทางไว้บางส่วนจากแนวโน้มการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไว้ที่ระดับต่ำต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2564
ขณะที่การระดมทุนของภาครัฐ คาดว่าการกระจายการกู้เงินตามจังหวะความต้องการใช้เงินในแต่ละไตรมาส และคงใช้แหล่งระดมทุนหลายช่องทางประกอบกัน ทั้งการกู้ยืมผ่านการออกพันธบัตร/พันธบัตรออมทรัพย์ ไปจนถึงการกู้ยืมเงินโดยตรงจากสถาบันการเงิน ขณะที่ผลกระทบจากความต้องการระดมทุนส่วนเพิ่มจากภาครัฐดังกล่าวน่าจะลดทอนลงเนื่องจาก ธปท. ก็มีการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตร ธปท. บางส่วน
2. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะทยอยปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ ที่ใหญ่ขึ้นกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ ซึ่งน่าจะส่งผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีโอกาสทยอยปรับสูงขึ้นว่าระดับปัจจุบัน แม้อาจจะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 รอบแรกภายในปีนี้
ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเริ่มทยอยปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพันธบัตรระยะกลางถึงระยะอายุไม่เกิน 10 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury Yield) ที่เริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 จากข่าวดีของการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 และจากการสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของโจ ไบเดน มาจนถึงการเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา รวมถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ครั้งใหญ่มูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9% ของ GDP สหรัฐฯ ที่ทำให้มีความจำเป็นที่สหรัฐฯ คงต้องกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเพิ่มขึ้น (เท่ากับเป็นการเพิ่มปริมาณพันธบัตรเข้าสู่ตลาด) ในปีนี้
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สภาพคล่องในระบบที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเพียงพอต่อแนวโน้มการระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนที่รวมกันแล้วน่าจะไม่ต่ำว่าระดับ 2 ล้านล้านบาทในปี 2564
ขณะที่สถานการณ์ตลาดพันธบัตรในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับอีกหลายตัวแปร โดยเฉพาะความสามารถในการควบคุมการระบาดของไวรัสรอบใหม่ ความก้าวหน้าของการฉีดวัคซีนในประเทศ และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า