วันนี้ (25 กรกฎาคม) รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ว่าในที่ประชุมมีการถกเถียงหลังประธานสภาแจ้งงดวันประชุมรัฐสภาในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ซึ่งมีวาระการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและการพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272
โดยเห็นว่าการเรื่องดังกล่าวจะทำให้การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีล่าช้าออกไป แม้จะมีการอ้างเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่วาระการพิจารณาของรัฐสภาไม่ได้มีเพียงเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี จึงมีการตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงไม่พิจารณาวาระแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272
รังสิมันต์กล่าวต่อว่า หากรอคอยว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นอย่างไรต่อไปจะทำให้การโหวตนายกรัฐมนตรี อยู่บนพื้นฐานความไม่แน่นอน ซึ่งจะทำให้วาระการโหวตนายกรัฐมนตรีล่าช้าออกไปหรือทำให้รัฐสภาไม่สามารถหาทางออกได้
ขณะเดียวกันรังสิมันต์ยังกล่าวถึงการอ้างข้อบังคับข้อที่ 41 ของการประชุมรัฐสภาทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลซ้ำได้ ซึ่งก็มีข้อแนะนำให้พรรคก้าวไกลยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่พรรคก้าวไกลไม่ต้องการที่จะเห็นการแทรกแซงอำนาจของรัฐสภาด้วยกลไกของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่ารัฐสภาสามารถจัดการเองได้
โดยพรรคก้าวไกลเสนอทางออกให้กับสังคม คือหากพิจารณาข้อบังคับการประชุมรัฐสภา สามารถยื่นญัตติขอให้รัฐสภาทบทวนการมีมติที่เคยมีไปแล้ว ซึ่งในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปจะหารือกับประธานรัฐสภา และจะยื่นญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้พิจารณาการทบทวน หากรัฐสภาเห็นด้วยกับมติของพรรคก้าวไกล เชื่อว่าจะเป็นการปลดล็อก และการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ผูกพันกับมติเดิม
เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อพิธาซ้ำหรือไม่ เนื่องจาก ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า หากเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะโหวตให้มากกว่า รังสิมันต์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลพูดอย่างชัดเจนว่า ให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำที่จะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็น เศรษฐา ทวีสิน
ส่วนการเสนอของพรรคก้าวไกลเป็นคนละเรื่องกัน เพราะเป็นการเสนอเพื่อปลดล็อกสิ่งที่ผิดพลาดในที่ประชุมของสภา ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ไม่ควรจะเป็นต่อไป และสามารถหาทางออกได้โดยไม่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
เมื่อถามว่าเรื่องนี้เป็นการตอกย้ำความผิดพลาดในการยกเก้าอี้ประธานสภาให้กับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ หรือไม่ รังสิมันต์ระบุว่า ต้องพิจารณาเรื่องบริบทต่างๆ ณ ตอนนั้นมีข้อคิดเห็นเรื่องผู้ที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานสภาไม่ตรงกัน สุดท้ายนำไปสู่การถอยคนละก้าว ซึ่งตนก็คิดว่า วันมูหะมัดนอร์ มะทา มีความตั้งใจ ตนคงไม่สามารถไปวิจารณ์ว่าการทำหน้าที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร ประชาชนควรต้องช่วยกันพิจารณา
เมื่อถามว่า หากมีการทบทวนมติแล้วเสนอชื่อซ้ำได้ คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินจะถูกตีตกไปหรือไม่ รังสิมันต์กล่าวว่า ต้องไปพิจารณาในข้อกฎหมาย
ถามต่อว่า หากสามารถทำได้แล้วทิศทางในการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นของก้าวไกลหรือไม่นั้น รังสิมันต์กล่าวว่า เบื้องต้นคงต้องดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่จะต้องหารือกันใน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
ตนคิดว่าหลักการที่เราอยากจะเห็นคือการเดินหน้าตามมติของประชาชน เราทำหน้าที่แทนประชาชน 312 คน ก็คือ 27 ล้านเสียง อย่าให้ประชาชนต้องพูดว่าเลือกตั้งกันไปทำไม เลือกไปแล้วไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยน อย่าให้มันออกมาเป็นทิศทางแบบนั้น สุดท้ายใน 8 พรรคร่วมฯ ต้องคุยกันและสร้างความเชื่อมั่น และตนเชื่อว่าบทบาทของวุฒิสภา ตราบใดที่ 8 พรรคยังมีความแน่นหนา ส.ว. ไม่สามารถทำอะไรได้ ตนไม่ได้บอกให้รอถึง 10 เดือนในการจัดตั้งรัฐบาล แต่หากเราเข้มแข็งเพียงพอ ฝ่ายที่จะทำให้เราแตกแยก หรือพยายามจับข้ามขั้วจะไม่เกิดขึ้น รวมถึงรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ไม่สามารถเป็นไปได้ สุดท้ายฝ่ายที่วางกลอุบายแบบนี้ก็ต้องยอม
เมื่อถามว่า พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย แนะนำให้พรรคก้าวไกลถอย ให้โหวตนายกรัฐมนตรีได้แล้วค่อยเข้ามาร่วมรัฐบาลนั้น รังสิมันต์กล่าวว่า ก็เป็นความเห็น และตนไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะตอบแทนทุกพรรคได้ สุดท้ายก็ต้องพูดคุยกันใน 8 พรรคร่วมฯ ว่าจะดำเนินการอย่างไร ตอนนี้ก็ให้เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ต้องมีการพูดคุย
ทั้งนี้ในช่วงหนึ่งของการประชุม ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้หารือถึงแนวทางของพรรคต่อกรณีที่ที่ประชุมรัฐสภามีมติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ว่าการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ภายใต้การกำกับของข้อบังคับฯ ข้อ 41 ประกอบข้อ 151
โดยเรื่องนี้มี ส.ส. แสดงความเห็นหลายคน สรุปไปในทางเดียวกันว่า พรรคก้าวไกลเห็นสอดคล้องกับนักวิชาการด้านนิติศาสตร์จำนวนมากที่ได้แสดงไว้ก่อนหน้านี้ ว่ามติรัฐสภาดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และสภาสามารถแก้ไขได้เอง ไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เพราะเท่ากับทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาแทรกแซงการวินิจฉัยตีความของรัฐสภา หรือมีอำนาจเหนือสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ดังนั้น พรรคก้าวไกลเห็นว่ากรณีนี้สามารถใช้กลไกสภาในการหาทางออก ผ่านการยื่นญัตติให้รัฐสภาทบทวนมติที่เคยมีไปแล้ว โดย ส.ส. พรรคก้าวไกลจะดำเนินการในการประชุมรัฐสภาครั้งถัดไป ทั้งนี้ หากที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบกับญัตติที่พรรคก้าวไกลเสนอ จะเป็นการปลดล็อกความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น ทำให้การเสนอนายกฯ ไม่ต้องผูกพันกับมติเดิมของที่ประชุมอีกต่อไป สามารถเสนอบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ ซ้ำได้