วันนี้ (21 กันยายน) ที่รัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล นำโดย รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ, ปิยรัฐ จงเทพ สส. กรุงเทพฯ, ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. กรุงเทพฯ และ อนุสรณ์ แก้ววิเชียร สส. นนทบุรี แถลงข่าวกรณีศาลฎีกามีคำพิพากษาถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิตของ พรรณิการ์ วานิช อดีต สส. พรรคอนาคตใหม่ และอดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ด้วยฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามกฎหมาย
รังสิมันต์กล่าวว่า ตนไม่รู้จุดประสงค์ทางการเมือง แต่ต้องบอกว่านี่คือโทษประหารชีวิตทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะรับได้ ส่วนตัวคิดว่ารุนแรงมาก ผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมีการตัดสินว่ามีพฤติกรรมบางอย่างผิดประมวลกฎหมายอาญาแล้วมาดำเนินคดีจริยธรรมต่อก็ยังพอเข้าใจได้ แต่กรณีนี้กลับไม่มีข้อเท็จจริงเหล่านั้นเลย การดำเนินคดีกับพรรณิการ์ กฎหมายก็เขียนกว้างๆ เราไม่รู้ว่าการลบโพสต์แล้วคือการงดเว้นหรือไม่ โดยปกติกฎหมายต้องมีความชัดเจน การอาศัยมาตรฐานทางจริยธรรมแล้ววางกรอบกว้างๆ แล้วทำให้คดีมีผลรุนแรงขนาดนี้ ยากเกินที่จะรับไหว
รังสิมันต์กล่าวว่า อยากจะเรียกร้องไปถึงคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมว่าอย่านิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ แม้คนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรณิการ์ หลายอย่างก็ยังออกมาแสดงความคิดเห็นว่าเป็นสิ่งที่ยากจะรับไหว แม้จะเคยร้องไปยังคณะกรรมการศาลยุติธรรมว่ามีผู้พิพากษาทำผิด พฤติกรรมร้ายแรง จนถึงวันนี้ก็ยังไม่คืบหน้า
“ข้อหาที่ผมร้องไปรุนแรงกว่าตั้งเยอะ อะไรคือมาตรฐาน อะไรคือความเป็นธรรม หรือสุดท้ายเป็นเพราะพรรคก้าวไกล เป็นเพราะคุณช่อเป็นอดีตพรรคอนาคตใหม่ เลยอาจทำให้มีการดำเนินการที่รุนแรงขนาดนี้” รังสิมันต์กล่าว
เมื่อถามว่า ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ออกมาแสดงความเห็นว่าพรรคก้าวไกลแสดงท่าทีล่าช้าและแล้งน้ำใจ รังสิมันต์กล่าวว่า ตนเข้าใจจุดประสงค์ของปิยบุตรว่าอาจจะทุกข์ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราก็เคยผ่านสนามรบกัน เราเองก็เคยผ่านปรากฏการณ์แบบนั้น หลังจากตนทราบข่าวได้โทรศัพท์ไปคุยกับพรรณิการ์ และตนคิดว่าสิทธิการลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสิทธิรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ควรตัดสิทธิกันง่ายๆ แบบนี้
เมื่อถามว่า อาจมีคนอื่นในพรรคก้าวไกลโดนคดีในลักษณะนี้อีก จะมีการป้องกันอย่างไร รังสิมันต์กล่าวว่า ป้องกันยาก เนื่องจากจริยธรรมไม่ได้เขียนกันแบบชัดเจน เป็นนามธรรม เป็นลักษณะของการเปิดช่องการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจให้ทำการใดๆ ก็ได้ ดังนั้นศาลหรือองค์กรที่มีอำนาจก็ต้องใช้ดุลยพินิจของตัวเองไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ต้องตัดสินขัดกับหลักวิญญูชนขึ้นเรื่อยๆ สังคมไทยจะอยู่อย่างไร กลายเป็นว่านักการเมืองมีโอกาสโดนสอยได้ตลอดเวลา ในทางตรงกันข้ามเราเปิดโปงข้าราชการมา 5 ปี ทุกวันนี้ทุกคนยังอยู่สุขสบาย
“อะไรคือความเป็นธรรมต่อพวกเรา พวกคุณอาจไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลบางเรื่อง อาจจะเกลียดพรรคก้าวไกลหลายเรื่อง แต่พูดกันตรงๆ คุณจะใช้อำนาจทุกวิถีทางโดยไม่สนใจว่าคุณธรรมทางกฎหมาย หลักการทางกฎหมายเป็นอย่างไร คุ้มจริงหรือไม่กับการทำแบบนี้ สงสัยคงต้องปิดเฟซบุ๊กกันหมด” รังสิมันต์กล่าว
รังสิมันต์ระบุต่อว่า ตนเข้าใจว่าแต่ละคนเคยโพสต์เรื่องราวอะไรไว้บ้าง ตอนนั้นความรู้สึกนึกคิด การเติบโตเป็นอย่างไร วุฒิภาวะและบทบาทของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนโพสต์แล้วก็ลืม มาเจอทีหลังก็มี มันไม่มีกฎหมายบอกให้ลบ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือการทำให้เราไม่มีมาตรฐานอะไรมาก่อน และไปใช้ข้อกล่าวหาที่รุนแรงมากๆ มาสร้างมาตรฐานโดยเอาชีวิตคนมาเป็นมาตรฐาน ตนคิดว่าไม่แฟร์มากๆ
เมื่อถามว่าการโพสต์พาดพิงถึงสถาบันฯ จะต้องระวังมากขึ้นหรือไม่ เพราะอาจจะโดนอีก รังสิมันต์กล่าวว่า ก็ยอมรับมีโอกาสที่จะเป็นแบบนั้น ตนไม่สามารถบอกได้ว่ามาตรฐานอยู่ตรงไหน หวังว่าคนที่อยู่ในศาลถ้าได้ยินสิ่งที่ตนพูด เราไม่มีเจตนาร้ายอะไร
“ประทานโทษนะ พวกผมล้มเจ้าได้จริงๆ หรือ ทำไม่ได้หรอก ดังนั้นสิ่งที่พวกคุณกังวลหรือกลัวมันไม่มีทางเกิดขึ้น และข้อโจมตีต่างๆ ผมว่าไม่เป็นธรรม ดังนั้นผมว่าองค์กรอย่างศาลผมอยากให้ตั้งมั่นในความยุติธรรมจริงๆ สำหรับใครหลายคนเอาเขาไปขังยังรุนแรงน้อยกว่าตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิตด้วยซ้ำไป” รังสิมันต์กล่าว
ด้านปิยรัฐกล่าวว่า ไม่ได้ตั้งใจเจาะจงกรณีของพรรณิการ์เท่านั้น แต่ตั้งใจชี้ให้เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญที่มีการใช้นิติสงครามเพื่อดำเนินการกับนักการเมือง ซึ่งเนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ต้องตั้งคำถามว่าปราบใคร และการปราบโกงครั้งนี้เพื่อให้อำนาจองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญออกมาตรฐานจริยธรรมของตนเองขึ้นมา ส่งผลต่อไปยัง สส. สว. ไปจนถึงรัฐมนตรี ให้อยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมชุดนี้ด้วย ทำให้เกิดปัญหาตามมา
ปิยรัฐกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ให้อำนาจองค์กรอิสระวินิจฉัยหรือส่งเรื่องต่อเพื่อเอาผิด เรื่องนี้เป็นปัญหามาก ทั้งการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน การลงโทษซ้ำซ้อน แม้จะมีโทษทางการเมืองไปแล้วก็ยังมีโทษตัดสิทธิย้อนหลังอีก ต้องตั้งคำถามต่อองค์กรอิสระด้วยว่า ในอดีตก่อนดำรงตำแหน่ง ท่านเคยผิดจริยธรรมหรือไม่ เพราะกรณีพรรณิการ์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนดำรงตำแหน่งทางการเมือง
“นี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้มีการใช้เครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง ปราบนักการเมืองที่ไม่ยอมจำนนให้สยบอยู่ใต้กฎหมายนี้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องตั้งคำถาม เพราะเป็นปัญหาของทุกคน เราจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย เป็นหลักนิติรัฐนิติธรรมโดยแท้จริง” ปิยรัฐกล่าว