เคยสงสัยไหมว่าตัวหนังสือกระยึกกระยือบนแผ่นกระดาษคำวินิจฉัยโรคและใบสั่งจ่ายยาของแพทย์ ที่จริงแล้วเขียนว่าอะไรกันแน่ แล้วพยาบาลหรือเภสัชกรที่ต้องประสานงานต่อใช้เวลานานแค่ไหนในการฝึกอ่านตัวหนังสือพวกนั้นให้แตกฉานจนสามารถทำงานต่อได้แบบไร้ปัญหา
แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการทำงานของแพทย์และพยาบาลผ่าน ‘ระบบกระดาษ’ แบบเดิมๆ จะไม่ก่อให้เกิดข้อผิดพลาดและความยุ่งยากล่าช้าในการดูแลรักษาผู้ป่วย?
‘โรงพยาบาลรามคำแหง’ นับเป็นหนึ่งในต้นแบบโรงพยาบาลที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาทรานส์ฟอร์มการบริหารงาน เพื่อดูแลรักษาคนไข้ ผู้ป่วย เพิ่มประสิทธิภาพและความ Productive ของแพทย์เป็นอย่างมาก โดยปัจจุบัน พวกเขาได้นำ iPad และ iPod รวมกว่า 1,000 เครื่องมาใช้งาน
แต่คำถามก็คือ ทำไมต้องเป็น iPad และ iPod ด้วย? สมาร์ทดีไวซ์เหล่านี้ช่วยเพิ่ม Productivity ให้กับบุคลากรแพทย์ของโรงพยาบาลรามคำแหงได้มากน้อยแค่ไหน?
ทรานส์ฟอร์มโรงพยาบาลสู้ ‘Digital Disuptive’ ลดความผิดพลาด ลดขั้นตอนรักษาผู้ป่วย
โรงพยาบาลรามคำแหงเริ่มเปิดให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2531 ถ้านับจนถึงปัจจุบันก็จะพบว่า พวกเขาได้ให้บริการผู้ป่วยมานานกว่า 32 ปีเต็มแล้ว
แต่ถ้าย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่ทำให้โรงพยาบาลหันมาให้ความสำคัญกับด้านไอทีและนวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อยกประสิทธิภาพในการทำงานของแพทย์ พยาบาลและการให้บริการผู้ป่วยนั้น ทั้งหมดเกิดจากแนวคิดของทีมผู้บริหารโรงพยาบาลที่ต้องการปรับตัวเพื่อให้โรงพยาบาลรามคำแหงสามารถแหวกว่ายฝ่าคลื่น ‘Digital Disuptive’ ได้อย่างมั่นคง
ปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวได้ถูกพัฒนาออกมาในรูปแบบ ‘Patient Flow’ เพิ่มความคล่องตัวในการดูแลรักษาคนไข้ให้ได้ทันเวลา รวดเร็ว เนื่องจากทุกวินาทีล้วนแล้วแต่มีผลต่อชีวิตของคนคนหนึ่ง
เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2558 ที่โรงพยาบาลรามคำแหงได้นำแอปพลิเคชัน Smart Ward เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยยกระดับการทำงานของแพทย์ (แอปพลิเคชันใช้เฉพาะโรงพยาบาลในเครือรามคำแหง) ช่วยให้สามารถดูข้อมูลของคนไข้ เช็กรายละเอียดผลตรวจเลือด ผลเอกซเรย์ ประวัติการจ่ายและสั่งยา เพื่อช่วยให้ลดความซับซ้อน เพิ่มความรวดเร็ว และ ‘เวลา’ ให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น ในอดีต ขั้นตอนในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจะมีขั้นตอนมากถึง 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย
- แพทย์เขียนคำสั่งจ่ายยา สั่งการรักษาผ่านกระดาษ
- พยาบาลรับคำสั่ง
- ส่งคำสั่งการรักษาและจ่ายยาต่อไปเภสัช
- เภสัชรับคำสั่งจ่ายยา
- ดำเนินการจัดยา
- พยาบาลนำยาไปให้ในห้องผู้ป่วย
- จัดเตรียมยาให้กับผู้ป่วย
แต่ทุกวันนี้เมื่อมีการนำแอปพลิเคชัน Smart Ward มาใช้งานผ่าน iPad และ iPod โมเดล Made to Order จากโรงงาน (ผลิตเพื่อใช้งานในโรงพยาบาลรามคำแหงโดยเฉพาะ) ก็ช่วยให้ขั้นตอนต่างๆ รวดเร็วมากขึ้น เพิ่มความคล่องตัวให้กับบุคลากรแพทย์ พยาบาล ลดความยุ่งยาก จนเหลือขั้นตอนการทำงานเพียง 3 ขั้นตอนเท่านั้นคือ
- แพทย์สั่งการรักษาและจ่ายยาโดยตรงบนแอปพลิเคชัน
- เภสัชรับคำสั่งแล้วให้หุ่นยนต์จัดยาให้
- พยาบาลยืนยันความถูกต้องของยาด้วยการสแกน QR Code ก่อนนำยาให้กับผู้ป่วย
ขณะที่ในมุมของการรับคนไข้เข้าตรวจรักษา เดิมทีที่เป็นระบบแฟ้มเอกสารข้อมูลคนไข้ โรงพยาบาลจะต้องใช้เวลานานกว่า 4 นาทีในการหาเอกสาร แต่ปัจจุบันหลังจากที่เปลี่ยนมาใช้ระบบ IT และแอปพลิเคชันแล้ว สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพบแพทย์ได้ทันทีภายใน 1 นาที ลดระยะเวลาการเข้าตรวจได้ถึง 70%
ส่วนในมุมของข้อมูลความเป็นส่วนตัวผู้ใช้งานนั้น แพทย์โรงพยาบาลรามคำแหงอธิบายให้เราฟังว่า ในกรณีที่อุปกรณ์ถูกนำออกจากโรงพยาบาล ดีไวซ์นั้นๆ ก็จะหลุดออกจากระบบทันที ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวผู้ป่วย
“เราตั้งใจจะเป็นโรงพยาบาล Hi-Tech และ Hi-Touch กับคนไข้”
ความจริงแล้วการที่โรงพยาบาลรามคำแหงนำ iPod และ iPad หรือสมาร์ทแอปพลิเคชันต่างๆ เข้ามาใช้งานในการดูแลรักษาผู้ป่วย หรือการรับผู้ป่วยเข้าตรวจนั้น ไม่ใช่เพื่อแนวคิด ‘Paperless’ หรือลดการใช้งานกระดาษให้มากที่สุด ลดความผิดพลาดการรักษา เพิ่มสปีดการดูแลคนไข้เท่านั้น
แต่ ชัยยุทธ ตันประทุมวงษ์ IT Director โรงพยาบาลรามคำแหง บอกกับเราว่า การที่โรงพยาบาลรามคำแหงนำนวัตกรรมและระบบ IT เข้ามาประยุกต์ใช้งานอย่างจริงจังนั้น ไม่ได้ตั้งต้นจากการมองว่าจะต้องนำระบบออฟไลน์หรือกระดาษออกไป
แต่เพราะพวกเขาตั้งใจจะเป็นโรงพยาบาลที่ ‘Hi-Tech’ และ ‘Hi-Touch’ กับคนไข้ ลดเวลาที่แพทย์หรือพยาบาลต้องมานั่งขีดๆ เขียนๆ คำสั่งจ่ายยา หรือมัวแต่ยุ่งยากกับโฟลว์งานดูแลคนไข้ที่ยุ่งเหยิง เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับเวลาในการดูแลรักษาคนไข้ให้ได้นานขึ้นแทน
ปัจจุบันโรงพยาบาลรามคำแหงมีจำนวนอุปกรณ์ iPad และ iPod ที่นำเข้ามาใช้งานแทนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะรวม 1,000 เครื่องแล้ว จากเดิมที่เคยใช้งานทั้งสองอุปกรณ์ในช่วงแรกๆ รวมกันเพียง 50 เครื่อง เนื่องจากพบว่าประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยทำได้ดีขึ้นจริง ขณะที่แพทย์ก็ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
โดยมีแอปพลิเคชันที่ใช้งานเฉพาะในโรงพยาบาลจำนวน 13 แอปพลิเคชัน โดยเป้าหมายของโรงพยาบาลรามคำแหงยังตั้งเป้าจะพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ๆ ให้ออกมารองรับการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยให้ได้ครอบคลุมรอบด้านมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลก 5G และการเผชิญหน้ากับโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งโรงพยาบาลทรานส์ฟอร์มมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้เร็วแค่ไหน โอกาสการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ได้เต็มประสิทธิภาพ ถูกจุด และแม่นยำก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
หมายเหตุ: ภาพประกอบในบทความนี้ถ่ายทำก่อนเกิดเหตุโรคระบาดโควิด-19 รุนแรงในประเทศไทย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า