วันนี้ (7 กรกฎาคม) ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงความคืบหน้าการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ว่า จะมีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ สืบเนื่องจาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคได้ลาออกจากตำแหน่ง ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม โดยเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 08.30 น.
ราเมศกล่าวต่อว่า ในส่วนข้อบังคับพรรคให้มีการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคภายใน 60 วัน ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนทั้งหมดของการจัดการประชุมนั้นมีคณะกรรมการทั้งสิ้น 2 ชุด ชุดแรกคณะกรรมการที่มี องอาจ คล้ามไพบูลย์ เป็นประธานจัดการประชุม และชุดที่ 2 ที่มี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, สามารถ ราชพลสิทธิ์ และตนเอง ที่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ดูแลรับผิดชอบการเลือกตั้งครั้งนี้
สำหรับขั้นตอนการประชุมต่างๆ นั้นได้มีการกำหนดองค์ประชุมอยู่จำนวน 367 ท่าน ส่วนระเบียบวาระนั้นมีวาระที่สำคัญทั้งสิ้น 2 วาระ คือการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งมีทั้งสิ้น 11 ตำแหน่ง 41 คน ยืนยันว่าเปิดให้ทุกคนสมัครได้ แต่กรรมการบริหารพรรคต้องมีคุณสมบัติตามข้อบังคับพรรค คือต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นสมาชิกพรรคติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่มีคุณสมบัติข้อใด
- เป็นหรือเคยเป็นกรรมการบริหารพรรค
- เป็นหรือเคยเป็นกรรมการสาขาพรรค
- เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรค
- เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรีในนามพรรค
- เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่พรรคเคยส่งรับสมัครเลือกตั้ง
- สมัครสมาชิกที่ที่ประชุมใหญ่ มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมใหญ่มีมติให้ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค
ส่วนข้อบังคับของหัวหน้าพรรคนั้น การเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของที่อยู่ในที่ประชุม ซึ่งหัวหน้าพรรคคนใหม่จะต้องมีคุณสมบัติตามข้อบังคับ คือเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรค เว้นแต่ได้รับการยกเว้นตามข้อบังคับพรรคที่สมาชิกที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3ใน 4 ของที่ประชุมใหญ่มีมติให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค
ส่วนหลักเกณฑ์ในการนับคะแนนนั้นแบ่งออกเป็นบัตร 2 ใบ ใบแรกสีฟ้า เป็นบัตรเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 25 คนของพรรค คิดเป็น 70% และบัตรใบที่สองสีชมพู เป็นบัตรขององค์ประชุม คิดเป็น 30%
ราเมศกล่าวต่อว่า ภายใต้ข้อบังคับว่าผู้ที่ได้รับมีการเสนอชื่อให้เป็นหัวหน้าพรรค จะมีการแสดงวิสัยทัศน์ภายในกรอบเวลา 7 นาที ส่วนแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ปรากฏอยู่ตามข่าวที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามข้อบังคับของพรรค แต่สมาชิกมีการลงคะแนนให้ 3 ใน 4 ขององค์ประชุม แคนดิเดตคนนั้นสามารถเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคได้โดยไม่มีการปิดกั้น ยืนยันว่าเราเริ่มต้นฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ด้วยการก้าวไปข้างหน้า เราจะต้องมีความเป็นเอกภาพ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ายังไม่สามารถเปิดเผยผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช่หรือไม่ ราเมศกล่าวว่า จะทราบรายชื่อของผู้ที่สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นทางการในเช้าวันที่ 9 กรกฎาคม พร้อมยอมรับว่าการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้อาจจะดูเงียบกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนที่มีการทำไพรมารีโหวตหาเสียงทั่วประเทศได้เห็นถึงนโยบาย แนวทาง และตัวตนของผู้สมัคร
แต่การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำไพรมารีโหวต แต่ยังคงอยู่ ยกเว้นการเลือกหัวหน้าพรรคในรอบนี้ เนื่องด้วยการทำไพรมารีโหวตหรือการหยั่งเสียงเบื้องต้นนั้น มีระยะเวลาที่กระชั้นชิด จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการโดยยังคงฟังเสียงสมาชิกพรรคเช่นเดิม โดยมอบมหมายให้ตัวแทนพรรคประจำสาขาไปสอบถามสมาชิกและสะท้อนผ่านตัวแทนที่เป็นองค์ประชุม เพื่อให้มีการมาพูดในที่ประชุมได้ว่าต้องการเลือกหัวหน้าพรรคไปในทิศทางไหน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวที่บอกว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคจะกลับมาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้งนั้น ราเมศกล่าวว่าอภิสิทธิ์เป็นอดีตหัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทุกท่านน่าจะทราบว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีศักยภาพและมีความเป็นประชาธิปัตย์มาก สมาชิกทุกคนก็คาดหวังที่จะให้อภิสิทธิ์กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคตามเสียงสะท้อนของสมาชิก แต่ก็มีสมาชิกอีกส่วนหนึ่งที่สนับสนุนอีกบุคคลหนึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากอภิสิทธิ์จะกลับมาเชื่อว่าอภิสิทธิ์ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎระเบียบของพรรค แต่เบื้องต้นยังไม่มีความชัดเจนว่าอภิสิทธิ์จะลงแข่งจริงหรือไม่ แต่ตามข้อบังคับระบุว่าผู้ที่สมัครจะต้องมายื่นใบสมัครต่อสำนักงานเลขาธิการตอนสมัคร ส.ส. อย่างเป็นทางการ ย้ำว่าผู้ที่เคยเป็นอดีตหัวหน้าพรรคสามารถที่จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคได้โดยไม่จำกัดรอบ