ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย หรือต่อ ฟีโนฯ ผู้กำกับโฆษณาที่สร้างงานสั่นสะเทือนสังคมมาแล้วหลายชิ้น และอีกหนึ่งผลงานที่เราอยากพูดถึงเขาวันนี้คือ โฆษณา ‘ต่อชีวิต’ ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ที่มีความยาวเพียง 2.32 นาที แต่สร้างความรู้สึกสะเทือนใจ และตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ สถาบันที่มีบทบาททางการรักษาและการสร้างบุคลากรทางการแพทย์
สำหรับสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เป็นสถาบันการแพทย์แห่งใหม่ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ภายในประกอบไปด้วยโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่สามารถรองรับการรักษาผู้ป่วย ตั้งแต่การตรวจรักษาทั่วไป จนถึงเฉพาะทางในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในการรักษาคนไข้ของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ได้ ทั้งยังมีโรงเรียนแพทย์และสถาบันวิจัยที่จะเสริมกำลังในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ
ปัจจุบันเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยนอกในบางส่วนแล้ว แต่ยังคงขาดแคลนงบประมาณในการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นอีกจำนวนมาก
จากการขาดแคลนงบประมาณ ทำให้ต่อ ธนญชัย ลุกขึ้นอาสาเป็นส่วนหนึ่งของกระบอกเสียง ที่จะกระจายความช่วยเหลือมูลนิธิรามาธิบดีฯ ด้วยทางที่ตัวเองถนัด นี่คือจุดเริ่มต้นของแคมเปญและโฆษณาดีๆ ชื่อว่า ‘ต่อชีวิต’ ที่สะท้อนให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรงพยาบาล ซึ่งมีหน้าที่รักษาคนไทยในยามเจ็บไข้ได้ป่วย นี่คือส่วนหนึ่งของมุมมองความคิดจากผู้ชายคนนี้
บริบทสังคมไทยก่อเกิดไอเดีย
ผมก็ว่าจะใส่อะไรเข้าไปในโฆษณา เราก็เริ่มใช้คำว่า ‘พี่’ มานำหน้าชื่อผู้ป่วยในเรื่อง เพราะคำว่าพี่ มันมีความเป็นไทย และทำให้รู้สึกไม่ห่างเหินกัน แล้วจุดเด่นของคนไทย อย่างหนึ่งคือว่า คนไทยที่อยู่ไกลเรา แต่เขาเป็นญาติเรา เราพร้อมจะจุนเจือช่วยเหลือและรู้สึกรักพวกเขา ผมก็แค่ทำให้คนรู้สึกว่า เราต่างเป็นญาติกันทั้งหมด ไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม
แรงบันดาลใจก่อเกิดชิ้นงาน
มันเริ่มมาจากเราพยายามพิจารณาปัญหาของการบริจาคเงิน เพื่อที่จะช่วยโรงพยาบาลในการซื้อเครื่องมือแพทย์ และในการสร้างโรงเรียนสอนนักเรียนแพทย์ ซึ่งยังขาดแคลนงบประมาณจำนวนมาก แต่คนข้างนอกจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวพวกเขา หน้าที่เราคือ ทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว
เราถามตัวเองก่อนว่า โรงพยาบาลคืออะไร? โรงพยาบาลเป็นสถานที่รักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วคิดต่อไปว่า มันมีไว้รักษาใครกันล่ะ คำตอบคือ รักษาทุกคนใช่ไหม ทุกคนคือใคร ก็คือคนทุกคน คือพวกเราเอง ตัวเราเอง ญาติเราเอง
ทุกคนล้วนต้องเผชิญความเสื่อมถอยของร่างกาย
ป่วยและตายในที่สุด เป็นสัจธรรม
โฆษณาที่ทำให้เรื่องราวที่ห่างไกล…ใกล้จนเข้าไปอยู่ในใจคนดู
คนทุกคนก็ต้องป่วย เพราะทุกคนล้วนต้องเผชิญความเสื่อมถอยของร่างกาย ป่วยและตายในที่สุด เป็นสัจธรรม ผมอยากให้ทุกคนรู้ว่า วันหนึ่งคุณก็ต้องป่วย และถ้าเราป่วย เราก็ต้องการโรงพยาบาลที่ดี หมอที่ดี เครื่องมือที่ดี ที่จะดูแลเรา ญาติพี่น้องของเรา ผมบอกไปตั้งแต่ตอนต้นของหนัง เราอยากได้เครื่องมือแพทย์ เราได้สถาบันแห่งนี้ เพื่อพี่ ป้า น้า อา เพื่อตัวเราเอง และตอนจบของโฆษณา เรายังย้ำด้วยประโยคว่า ก็เรานั่นแหละที่ต้องดูแลพวกเรากันเอง เพราะเราคือพี่น้องกัน
ประโยชน์จากงานสร้างสรรค์เพื่อสังคม
ในความคิดผม ประชาชนและผู้ป่วยคือคนเดียวกัน เพราะประชาชนที่ยังไม่ป่วยด้วยสังขาล วันหนึ่งก็จะต้องเป็นคนที่ป่วย ความคาดหวังของผมก็คือ อยากให้ทุกคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้รู้สึกว่า คนที่อยู่ข้างๆ เรา ล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนร่วมโลกกันทั้งนั้น พร้อมที่จะช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งเป็นข้อดีของคนไทยนะ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่าง ก็พร้อมจะระดมความช่วยเหลือทันที
นอกจากนั้น ผมอยากเห็นคนที่ได้ดูคิดต่อว่า วันนี้แม้เราไม่ได้ป่วย แต่อีกไม่นานเราก็ต้องป่วย ผมอยากให้ทุกคนได้มองเห็นสัจธรรมเรื่องนี้ แล้วถ้าป่วย มันก็ต้องมีการดูแล แล้วใครจะดูแลเราล่ะ คำตอบคือ คนไทยด้วยกันนี่แหละ ด้วยการบริจาค เพื่อให้สถาบันแห่งนี้มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมรักษาเราทุกคน
สุดท้าย ผมยังอยากส่งกำลังใจไปถึงคุณหมอและคุณพยาบาลว่า พวกเราล้วนเห็นใจ และอยากสนับสนุนการทำงานของพวกท่านเสมอ อยากให้พวกท่านมีกำลังใจดูแลคนไข้ ไม่ต้องพะวงกับเรื่องนี้ เพราะเชื่อลึกๆ ว่าคนไทยจะช่วยกันและกันแน่นอน
ความเชื่อของ ‘การให้’ และ ‘การทำบุญ’
ผมอยากชวนให้ทุกคนขบคิดเรื่องการทำบุญ ว่าการทำบุญคืออะไร คือการทำให้สิ่งรอบตัวเราเจริญและอยู่ร่มเย็นเป็นสุข คือการให้โดยไม่หวังชาตินี้ชาติหน้า คือการช่วยเหลือชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของมนุษย์หรือชีวิตของสรรพชีวิตเองก็ตาม นั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น แต่อยากให้ทุกคนมองไปที่ปลายทางของการให้ว่ามันจะตกไปที่ตรงไหน แล้วมันไปเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร และถ้าเราจะต้องเอาเงินไปให้ใครสักคนที่ทำให้สังคมดีขึ้น และไปถึงการช่วยชีวิตของคนจริงๆ ผมว่าที่นี่ก็น่าจะเป็นคำตอบของการให้ที่แท้จริง
ในความคิดผม การระดมทุนเพื่อซื้อเครื่องมือแพทย์ มันเป็นอะไรที่ตรงไปตรงมาที่สุดในการบริจาคแล้ว แทบจะไม่ต้องแปลอะไรแล้ว เครื่องมือแพทย์ก็เอาเพื่อรักษาพวกเรากันเองนั่นแหละ ถ้าไม่เชื่อ ลองไปดูหมอกับพยาบาลทำงาน ไปเห็นคนป่วย และไปเห็นคนในห้องฉุกเฉิน รับรองเลยว่า เราจะรู้เลยว่าลมหายใจของมนุษย์มันสำคัญขนาดไหน ผู้ป่วยที่หายป่วยก็จะตั้งคำถามกับชีวิต และผมเชื่อว่า พวกเขาเหล่านั้นจะกลายเป็นคนที่มีคุณค่าได้ สร้างประโยชน์ต่อได้
เพราะการให้ยิ่งใหญ่เสมอ
จากคำบอกเล่าของ ต่อ ธนญชัย เราได้แง่มุมคิดที่พอจะสรุปได้สั้นๆ คือ
- สัจธรรมของมนุษย์เราไม่เคยหลีกหนีได้พ้นจากความเจ็บป่วย
- ทุกชีวิตล้วนแล้วสำคัญ มนุษย์เราต่างเป็นพี่น้องร่วมโลกใบนี้
- การให้จะมากหรือน้อย แต่ผลลัพธ์มักยิ่งใหญ่ในใจเสมอ
ร่วมต่อชีวิตผู้ป่วยด้วยการบริจาคเงินซื้อเครื่องมือแพทย์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้
- บัญชีมูลนิธิรามาธิบดีฯ
- ธ.ไทยพาณิชย์ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 026-3-05216-3
- ธ.กรุงเทพ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 090-3-50015-5
- กดหมายเลข *948*1111*100# กดโทร.ออก เพื่อบริจาคผ่านโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ครั้งละ 100 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
- บริจาคผ่านเว็บไซต์ ramafoundation.or.th
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 2201 1111