×

การสร้างแบรนด์ฟุตบอลผ่านทีมชาติออสเตรียของ ราล์ฟ รังนิก

26.06.2024
  • LOADING...
ราล์ฟ รังนิก

HIGHLIGHTS

4 min read
  • เหตุผลสำคัญที่รังนิกเลือกที่จะรับงานนี้ ทั้งๆ ที่อาจจะมองแล้วไม่น่าเป็นทางที่ใช่สำหรับเขา เป็นเพราะหนึ่งในโค้ชผู้ปราดเปรื่องที่สุดของวงการมองเห็น ‘โอกาส’ ที่เขาจะสามารถพัฒนาและฟูมฟักทีมชาติออสเตรียให้เติบโตได้ในแบบของเขา
  • เรื่องระบบหรือวิธีการเล่นไม่สำคัญเท่ากับเรื่องวิธีคิดและจิตใจของการที่จะหาโอกาสในการเจาะเกมรับคู่ต่อสู้ ซึ่งต้องเริ่มจากการคิดที่จะสู้ จากนั้นจึงหาวิธีสู้ เช่น การเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ว่างระหว่างแดน วิธีการเปิดบอล และอื่นๆ
  • ในช่วงปี 2022 จนถึงตอนนี้ที่โปรเฟสเซอร์สร้างทีมมา เขาให้โอกาสแก่ผู้เล่นที่เชื่อว่าดีพอ โดยไม่สนใจว่าจะเล่นทีมไหนหรือลีกไหน

ฟุตบอลยูโร 2024 กำลังจะผ่านรอบแรกแล้ว เราได้ผ่านตาฟอร์มการเล่นของทุกทีม ซึ่งบางทีมก็ดีเสมอตัว บางทีมก็มั่วเกินทำใจ (ทีมที่คุณก็รู้ว่าใคร) 

 

แต่มีอยู่ทีมหนึ่งที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้แก่ทุกคนด้วยฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยม ก่อนจบรอบแรกด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม อยู่เหนือทีมเต็งอย่างฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ได้อย่างน่าประทับใจ

 

นี่คือออสเตรียยุคใหม่ของโค้ชที่เคยถูกมองว่าหมดสภาพไปแล้วอย่าง ราล์ฟ รังนิก

 

‘ศ.ลูกหนัง’ คนนี้ใช้วิธีอะไรในการเปลี่ยนแปลงชาติเล็กๆ ทางเกมลูกหนังให้กลายเป็นทีมที่ถูกจับตามองว่าอาจจะเป็น ‘ม้ามืด’​ ของการแข่งขันยูโรครั้งนี้

 

ผลงานของออสเตรียในรอบแรกของศึกฟุตบอลยูโร 2024 ดีเกินกว่าที่ใครจะคิด

 

ถึงจะแพ้ต่อฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเต็งลำดับต้นในเกมแรก แต่ก็เป็นการแพ้แบบหวุดหวิดชนิดที่ทำเอารองแชมป์ฟุตบอลโลก 2022 ถึงกับต้องปาดเหงื่อ (แถมใจเสีย เพราะ คีเลียน เอ็มบัปเป ดั้งจมูกหักในเกมนี้ด้วย) แต่หลังจากนั้นออสเตรียก็ไล่เก็บชัยชนะได้ 2 นัดรวด

 

พวกเขาเอาชนะโปแลนด์ได้ 3-1 ซึ่งเริ่มเป็นที่จับตามองในระบบและวิธีการเล่น ก่อนที่ทุกคนจะได้เห็นกันชัดๆ ในนัดล่าสุดที่เฉือนเอาชนะเนเธอร์แลนด์ได้อย่างสุดมัน 3-2 

 

 

 

ตลอดทั้งเกม ออสเตรียไม่ได้เพียงแค่ไล่เพรสซิงจนทีมจอมเทคนิคแห่งแดนกังหันลมจะไปไม่เป็น แต่พวกเขายังแสดงให้เห็นถึงจิตใจที่แข็งแกร่งและไม่หวั่นไหว แม้จะโดนไล่ตามตีเสมอถึง 2 ครั้ง 2 คราในเกม ก่อนจะโชว์ความเฉียบขาดด้วยการหาช่องทะลวงเกมรับของทีมที่มีหนึ่งในปราการหลังที่ดีที่สุดของโลกอย่าง เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค

 

มาร์เซล ซาบิตเซอร์ กองกลางที่เคยถูกมองว่าน่าจะหมดอนาคตหลังเจอช่วงเวลาที่น่าผิดหวังกับบาเยิร์น มิวนิก และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นผู้ทำประตูชัยให้ออสเตรีย พร้อมรับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำเกมด้วย

 

แต่ออสเตรียไม่ได้มีแค่ซาบิตเซอร์เท่านั้น พวกเขาดีและลงตัวแทบทุกจุด ซึ่งความดีความชอบต้องยกให้กับ ‘โปรเฟสเซอร์’ ราล์ฟ รังนิก ที่ใช้เวลาแค่ราว 2 ปีในการเปลี่ยนแปลงชาติที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจให้กลายเป็นทีมที่ยอดเยี่ยมได้ขนาดนี้

 

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้รังนิกเคยถูกมองว่าไม่มีน้ำยาแล้วจากช่วงที่รับงานคุมทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ต่อจาก โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ และเคยโดนหยามหยันจาก คริสเตียโน โรนัลโด ว่า “เขาไม่ใช่แม้แต่โค้ชด้วยซ้ำ” 

 

การตัดสินใจรับงานคุมทีมชาติออสเตรีย ซึ่งเป็นงานคุมทีมชาติครั้งแรกในชีวิต เป็นการตัดสินใจที่เหนือความคาดหมายของทุกคน เพราะก่อนหน้านี้รังนิกคล้ายจะวางมือจากการเป็นคนคุมทีม และพอใจกับบทบาทของการเป็นผู้อำนวยการที่กำหนดทิศทางสโมสรมากกว่า

 

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เช่นเดียวกับความสำเร็จของทีมชาติออสเตรีย

 

ทุกอย่างรังนิกคิดมาแล้ว 

 

ราล์ฟ รังนิก

 

1. สร้างแบรนด์ฟุตบอล

 

เหตุผลสำคัญที่รังนิกเลือกที่จะรับงานนี้ ทั้งๆ ที่อาจจะมองแล้วไม่น่าเป็นทางที่ใช่สำหรับเขา เป็นเพราะหนึ่งในโค้ชผู้ปราดเปรื่องที่สุดของวงการมองเห็น ‘โอกาส’ ที่เขาจะสามารถพัฒนาและฟูมฟักทีมชาติออสเตรียให้เติบโตได้ในแบบของเขา

 

พูดง่ายๆ คือ การสร้างแบรนด์ฟุตบอลในแบบของเขาเองล้วนๆ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าความล้มเหลวที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเพราะเขาไม่มีฝีมือ

 

อย่างไรก็ดี รังนิกไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เขารู้จักทีมชาติออสเตรียดีพอสมควรจากการเคยนั่งแท่นบริหารทีมในเครือเรดบูล ซึ่งมีทีมเรดบูล ซัลซ์บวร์ก รวมอยู่ด้วย (และบางคนก็เติบโตไปต่อที่แอร์เบ ไลป์ซิก ในบุนเดสลีกา)

 

ดังนั้นการถ่ายทอดปรัชญาความคิด สอนวิธีการเล่นให้เป็นฟุตบอลแบบโปรเฟสเซอร์ราล์ฟ จึงไม่ใช่เรื่องลำบากเกินไป

 

นักฟุตบอลหลายคนรู้จักฟุตบอลแบบนี้ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม โดยเฉพาะแกนหลักอย่าง คอนราด ไลป์เมอร์ (ซัลซ์บวร์ก, ไลป์ซิก), นิโคลัส ไซวาลด์ (ทั้งสองสโมสร), มาร์เซล ซาบิตเซอร์ (ทั้งสองสโมสร), คริสตอฟ บวมการ์ตเนอร์ (ไลป์ซิก) และ เซเซอร์ ชลาเกอร์ (ทั้งสองสโมสร) 

 

เรียกได้ว่ารังนิกรู้จักสินค้าเป็นอย่างดี และรู้ว่าเขาจะขายมันอย่างไร

 

ราล์ฟ รังนิก

 

2. เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตเปลี่ยน

 

โดยเนื้อแท้ ทีมชาติออสเตรียไม่ได้เป็นทีมที่ไม่ถึงกับไม่มีอะไรเลย ตรงกันข้าม พวกเขาเคยเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายมาแล้วในยูโร 2020 เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ก่อนจะพ่ายแพ้ต่อทีมชาติอิตาลีในช่วงของการต่อเวลาพิเศษ

 

เรียกว่าเป็นทีมที่พอ ‘มีของ’​ อยู่กับตัว แต่ปัญหาอยู่ที่โค้ชในเวลานั้นอย่าง ฟรังโก โฟดา ไม่สามารถดึงขีดความสามารถของทีมที่เต็มไปด้วยนักเตะฝีเท้าดีออกมาได้เต็มที่

 

ไม่ใช่แค่แฟนบอลที่ผิดหวัง นักฟุตบอลเองก็ผิดหวังเหมือนกัน ดาวิด อลาบา กัปตันทีมดาวเด่นของพวกเขา เคยยอมรับว่า ‘หงุดหงิด’ ที่จะต้องเล่นแบบปลอดภัยไว้ก่อน อุดแล้วรอความหวังที่คู่แข่งจะพลาดค่อยสวนกลับ

 

เมื่อรังนิกเข้ามา เขาอ่านสถานการณ์ ก่อนออกแบบวิธีการเล่นของทีมชาติออสเตรียใหม่โดยใช้ระบบ 4-2-2-2 

 

เบื้องหลังความคิดของระบบการเล่นนี้คือ การพาบอลขึ้นหน้าให้เร็วที่สุดและแม่นยำที่สุด โดยเน้นการผ่านบอลบนพื้น เรียกว่าจังหวะเข้าทำต้องรวดเร็วและเฉียบคม

 

อย่างไรก็ดี เรื่องระบบหรือวิธีการเล่นไม่สำคัญเท่ากับเรื่องวิธีคิดและจิตใจของการที่จะหาโอกาสในการเจาะเกมรับคู่ต่อสู้ ซึ่งต้องเริ่มจากการคิดที่จะสู้ จากนั้นจึงหาวิธีสู้ เช่น การเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ว่างระหว่างแดน วิธีการเปิดบอล และอื่นๆ

 

สิ่งเหล่านี้รังนิกแอบบรรจุเอาไว้ในหลักสูตรของเรดบูล ที่ไม่ว่าใครที่เข้ามาอยู่สโมสรในเครือของเขาจะต้องได้เรียนรู้เรื่องนี้ตั้งแต่วันแรก

 

และนั่นทำให้พวกเขาไม่กลัวใครเลยแม้แต่ทีมเดียว

 

 

3. ไม่ยึดติดกับใคร

 

สำหรับชาติที่ไม่ได้อุดมไปด้วยซูเปอร์สตาร์อย่างออสเตรีย บ่อยครั้งที่พวกเขาติดกับดักตัวเอง ด้วยการเลือกใช้แต่ผู้เล่นที่เป็นดาวดังหรือมีประสบการณ์สูงอย่างเดียว ต่อให้ฟอร์มการเล่นจะย่ำแย่แค่ไหนก็ตาม ซึ่งเป็นปัญหาที่เคยเกิดในยุคของโค้ชคนเก่า

 

แต่สำหรับออสเตรียของรังนิกไม่ใช่

 

ในช่วงปี 2022 จนถึงตอนนี้ที่โปรเฟสเซอร์สร้างทีมมา เขาให้โอกาสแก่ผู้เล่นที่เชื่อว่าดีพอ โดยไม่สนใจว่าจะเล่นทีมไหนหรือลีกไหน ซึ่งรวมถึงผู้เล่นจากลีกของออสเตรียเองอย่าง นิคลาส เฮเดิล, ลีโอโพลด์ เกอร์เฟลด์, ฟลาเวียส ดานิลลุค, อเล็กซานเดอร์ ปราสส์, มัตเตียส ไซเดิล, แม็กซ์ เอ็นทรัป และ มาร์โก กรัลล์

 

ผู้เล่นเหล่านี้ติดทีมชาติรวมกันแค่ 23 นัด แต่ได้มายูโรด้วย ซึ่งบางคนก็ได้โอกาสในการลงสนาม

 

สิ่งสำคัญคือ การที่รังนิกเชื่อในทีมและทำให้ทีมเชื่อในตัวเอง โดยเคยบอกไว้ตั้งแต่ก่อนรายการจะเริ่มว่า “เรารู้ว่ากลุ่มของเราไม่ง่าย แต่ในอีกทางหนึ่งเราก็ศรัทธาในตัวเองและเชื่อว่าเราจะผ่านเข้ารอบได้

 

“ในความคาดหวังของผมที่มีต่อนักเตะของผมคือ การที่เราจะเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งในและนอกสนาม เราสามารถเป็นทีมที่มีเกมรับที่ดีที่สุดได้

 

“ถ้าเราทำสองสิ่งนี้ได้อย่างถูกต้องในสนาม เราน่าจะทำได้ดี และในอีกด้านหนึ่งเราก็ค่อนข้างทำได้ดีในเรื่องของการสร้างโอกาสและจบสกอร์

 

“เรามีความทะเยอทะยานและวาดหวังไว้ว่าเราจะทำได้ดี ซึ่งถึงจะต้องอยู่ในกลุ่มที่ยากที่สุด แต่ถ้าเราทำได้ ผมคิดว่าเราไม่ต้องกลัวใครอีกเลย” 

 

โดยความลับสุดท้ายที่ทำให้รังนิกตัดสินใจที่จะรับงานคุมทีมชาติออสเตรียคือ การทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ 

 

งานยากๆ แบบนี้เร้าใจเสมอสำหรับโปรเฟสเซอร์คนนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X