เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา สนามมวยเวทีราชดำเนินได้เผยภาพโลโก้ดีไซน์ใหม่ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผ่านทางช่องทางสื่อสารออนไลน์ทั้ง Facebook และ Instagram พร้อมข้อความ ‘ยินดีต้อนรับสู่ยุคสมัยใหม่ของเวทีราชดำเนิน พร้อมที่จะขับเคลื่อนวงการมวยไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล’ โดยนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในประวัติศาสตร์อันยาวนานของเวทีราชดำเนิน เรียกได้ว่าเป็นการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังจะได้เห็นกันเร็วๆ นี้
เวทีราชดำเนินถูกสร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนแล้วเสร็จและสามารถจัดการแข่งขันครั้งแรกขึ้นได้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2488 ถือเป็นเวทีมวยแห่งแรกของประเทศไทย เป็นจุดเริ่มต้นทำให้กีฬามวยไทยได้รับความนิยมแพร่หลาย ทั้งยังเป็นเป้าหมายสำคัญของอาชีพนักมวยคนหนึ่งที่ต่างใฝ่ฝันอยากขึ้นชกที่นี่สักครั้ง ทำให้เวทีแห่งนี้มีโอกาสต้อนรับตำนานมวยไทยมาโชว์ฝีมือในสนามมาอย่างนับไม่ถ้วน ทั้ง เขาทราย แกแล็คซี่, เขาค้อ แกแล็คซี่, สามารถ พยัคฆ์อรุณ, สมรักษ์ คำสิงห์, บัวขาว บัญชาเมฆ และ แสนชัย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม
77 ปีที่ผ่านมา เวทีราชดำเนินนั้นมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินการคือ ‘ส่งเสริมและสนับสนุนกีฬามวยไทย’ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท เวทีราชดำเนิน จำกัด ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา กระทั่งใน พ.ศ. 2565 ได้จับมือกับ บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด (Global Sport Ventures) หรือ GSV ภายใต้การบริหารงานของ แบงค์-เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ประธานกรรมการบริหาร ทายาทโปรโมเตอร์มวยแนวหน้าของไทยอย่าง ‘นครหลวงโปรโมชั่น’ คนรุ่นใหม่สายเลือดมวยไทยที่มาพร้อมกับเป้าหมายสำคัญคือ ‘การพัฒนาและยกระดับวงการมวยไทยให้ไปสู่ระดับโลก’
สำหรับภาพลักษณ์ใหม่ของเวทีราชดำเนิน มีเป้าหมายต้องการสื่อสารความคลาสสิกด้วยภาษาดีไซน์ที่สากล ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเริ่มต้นขึ้น เวทีราชดำเนินได้เคลื่อนไหวผ่านการปรับเปลี่ยนโลโก้ โดยร่วมมือกับบริษัทดีไซน์สัญชาติไทยอย่าง Farmgroup เป็นผู้ออกแบบโลโก้ให้ในครั้งนี้
เวทีราชดำเนินถูกออกแบบด้วยสถาปัตยกรรม Art Deco ในยุคสมัยศิลปะเดียวกับอาคารไปรษณีย์กลาง อาคารที่เป็นเอกลักษณ์และควรค่าในการอนุรักษ์ ซึ่งการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ในครั้งนี้นั้น ถูกทำขึ้นภายใต้ความตั้งใจที่จะสื่อสารความคลาสสิกของงานออกแบบดั้งเดิม ผ่านภาษาดีไซน์ที่ทันสมัยมากขึ้น
ดีไซน์ของคำว่า ‘เวทีราชดำเนิน’ ที่เห็นใช้ในอดีตนั้น ถูกนำมาปรับเล็กน้อยเพื่อให้ได้สัดส่วนที่ชัดเจนลงตัวมากยิ่งขึ้น โดยเส้นสายและสไตล์ของตัวอักษรภาษาไทยนี้ ก็ได้ถูกนำไปต่อยอดเป็นชุดของฟอนต์ที่ใช้ในภาษาอังกฤษเช่นกัน
หากสังเกตจะพบว่า ‘วงกลม’ เป็นรูปทรงที่แสดงชัดออกมาในคำของทั้งสองภาษา ประจวบเหมาะกับความพิเศษอีกอย่างของเวทีมวยราชดำเนินก็คือ ที่นี่เป็นเวทีเดียวที่มีอัฒจันทร์คนดูเป็นวงกลมมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ทำให้ทั้งในแง่ของการออกแบบภาพลักษณ์ และสถาปัตยกรรมวงกลม จึงกลายเป็นส่วนประกอบและเอกลักษณ์ที่สำคัญ ที่แสดงถึงความเป็นเวทีราชดำเนิน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั่นเอง