×

ความเป็นมาของ ‘ธงสีรุ้ง’ ก่อนมาเป็นสัญลักษณ์ชุมชน LGBTQIA+

06.06.2023
  • LOADING...

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ‘ธงสีรุ้ง’ กลายเป็นสัญลักษณ์สากลที่บ่งบอกถึงความภาคภูมิใจของชุมชน LGBTQIA+ ทั่วโลก โดยประวัติศาสตร์ของธงสีรุ้ง เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1978 จากฝีมือการออกแบบของ กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ศิลปินและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเกย์ชาวอเมริกัน 

 

เบเกอร์ได้รับแรงบันดาลใจและการผลักดันจาก ฮาร์วีย์ มิลก์ (Harvey Milk) หนึ่งในนักการเมืองอเมริกันคนแรกที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ ซึ่งกระตุ้นให้เขาสร้างสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจสำหรับชุมชนเกย์ขึ้นมา 

 

สาเหตุที่เขาตัดสินใจสร้างสัญลักษณ์เป็นธง เนื่องจากมองว่าธงเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจที่ทรงพลังที่สุด และยังเป็นหนทางในการบอกหรือประกาศให้ผู้อื่นเห็นว่า ‘นี่คือตัวตนของฉัน’

 

เดิมทีธงสีรุ้งในเวอร์ชันแรกมี 8 แถบสี เนื่องจากเบเกอร์มองว่ารุ้งเป็นธงธรรมชาติจากท้องฟ้า ดังนั้นจึงเลือกใช้แถบสีจำนวน 8 สี ที่มีความหมายในตัวของมันเอง ได้แก่

 

  • สีชมพูร้อน (Hot Pink) หมายถึงเซ็กซ์ 
  • สีแดง (Red) หมายถึงชีวิต
  • สีส้ม (Orange) หมายถึงการรักษา
  • สีเหลือง (Yellow) หมายถึงแสงแดด
  • สีเขียว (Green) หมายถึงธรรมชาติ
  • สีเขียวอมฟ้า (Turquoise) หมายถึงศิลปะ
  • สีคราม (Indigo) หมายถึงความสามัคคี
  • สีม่วง (Violet) หมายถึงจิตวิญญาณ

 

ธงสีรุ้งถูกนำมาใช้ครั้งแรกในขบวนพาเหรดวันเสรีภาพเกย์ ที่นครซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1978 ซึ่งในครั้งนั้นเบเกอร์และทีมอาสาสมัครร่วมกันทำธงด้วยมือ

 

อย่างไรก็ตาม เขาต้องการผลิตธงจำนวนมาก แต่เนื่องจากติดปัญหาการผลิต จึงตัดสินใจตัดสีชมพูร้อนและสีเขียวอมฟ้าออก ส่วนสีครามแทนที่ด้วยสีน้ำเงินพื้นฐาน ส่งผลให้ธงสีรุ้งในเวอร์ชันต่อมาที่ใช้จนถึงปัจจุบันเหลือเพียง 6 แถบสี (แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน และม่วง) โดยมีแถบสีแดงอยู่ด้านบนเช่นเดียวกับสีรุ้งตามธรรมชาติ และสีต่างๆ สะท้อนถึงความหลากหลายและความสามัคคีของชุมชน LGBTQIA+

 

กระทั่งในปี 1994 ธงสีรุ้งได้รับการสถาปนาให้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชุมชน LGBTQIA+ อย่างแท้จริง และปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์สากลสำหรับความภาคภูมิใจของชาว LGBTQIA+ ทั่วโลก

 

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X