×

เหยื่ออธรรมที่ชื่อ ราฮีม สเตอร์ลิง กับการต่อสู้เพื่อเพื่อนนักฟุตบอลผิวสี

12.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ราฮีม สเตอร์ลิง คือสตาร์เด่นประจำทีม ‘เรือใบสีฟ้า’ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเอง รวมถึงคนผิวสีในวงการฟุตบอล หลังถูกแฟนบอลทีมเชลซีด่าด้วยถ้อยคำต่ำช้าในระหว่างเกมพรีเมียร์ลีกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
  • สแตน คอลลีมอร์ อดีตกองหน้าดาวดังของอังกฤษในยุค 90s ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ฟุตบอล บอกว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้สื่อมีความเอนเอียงนั้นเกิดจากการที่นักข่าวและนักเขียนกีฬาในอังกฤษเกือบทั้งหมดเป็นคนผิวขาวที่เป็นชนชั้นกลางของสังคม
  • Kick It Out รายงานตัวเลขที่ได้รับการร้องเรียนในฤดูกาล 2017-18 จากเกมการแข่งขันทุกระดับ ตั้งแต่ระดับสูงสุดอย่างพรีเมียร์ลีกไปจนถึงระดับล่างสุดอย่างการแข่งขันของรากหญ้า มีการร้องเรียนจำนวน 520 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากฤดูกาล 2016-17 ที่มีการร้องเรียน 469 ครั้ง
  • หรือบางทีปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะเขาคือ ราฮีม สเตอร์ลิง นักฟุตบอลที่ถูกจับจ้องด้วยสายตาและความรู้สึกที่ไม่ดีอยู่แล้วเป็นทุนเดิมจากแฟนฟุตบอล

ไม่บ่อยนักครับที่เราจะได้เห็นนักฟุตบอลใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียเพื่อตอบโต้อะไรสักอย่างที่เขารู้สึกว่าไม่ยุติธรรม

 

ก่อนหน้านี้มีกรณีของ เมซุต โอซิล สตาร์ลูกหนังชาวเยอรมันเชื้อสายตุรกี ที่แถลงจุดยืนของตัวเองว่าต้องการยุติบทบาทในทีมชาติ เนื่องจากเจ็บปวดกับการถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมจากบุคคลระดับสูงของวงการฟุตบอลเยอรมนี

 

กรณีนี้กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตอยู่หลายวันในโลกฟุตบอล นำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องของการ ‘เหยียดเชื้อชาติ’ ว่าเป็นสิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นจริงในโลกทุกวันนี้หรือไม่

 

ล่าสุดเราได้เห็นกรณีของ ราฮีม สเตอร์ลิง สตาร์เด่นประจำทีม ‘เรือใบสีฟ้า’ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเอง และแน่นอนว่ารวมถึงคนผิวสีในวงการฟุตบอลด้วย หลังถูกแฟนบอลทีมเชลซีด่าด้วยถ้อยคำต่ำช้าในระหว่างเกมพรีเมียร์ลีกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

 

เพียงแต่สิ่งที่สเตอร์ลิงเรียกร้องไม่ได้จบแค่การหาบทลงโทษให้แก่แฟนบอลผู้มืดบอดทางจิตใจเหล่านั้น แต่ยังจุดไฟแล้วโยนใส่กองกระดาษหนังสือพิมพ์ด้วยการประณามสื่อมวลชนในอังกฤษว่า ‘พวกคุณก็มีส่วนที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น’

 

ในความหมายของสเตอร์ลิงคือเหล่านักเตะผิวสีเช่นเขามักจะเป็นคนที่ถูกสื่อ ‘เล่นงาน’ เสมอไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ พร้อมยกตัวอย่างกรณีเปรียบเทียบระหว่าง ฟิล โฟเดน และโตซิน อดาราบิโอโย สองนักเตะเยาวชนของแมนเชสเตอร์ ซิตี้

 

ทั้งสองใช้เงินใกล้เคียงกันราว 2 ล้านปอนด์เพื่อซื้อบ้านให้ครอบครัว แต่การนำเสนอข่าวจากสื่อนั้นเป็นไปในท่าทีที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยโฟเดน เพชรเม็ดงามของทีมและวงการฟุตบอลอังกฤษได้รับการเสนอข่าวว่า ‘เขาใช้เงิน 2 ล้านปอนด์เพื่อซื้อบ้านให้แม่’ และลงท้ายว่าเป็นการ ‘วางรากฐานเพื่ออนาคต’

 

ขณะที่อดาราบิโอโย ปราการหลังวัย 21 ปี ซึ่งปัจจุบันถูกส่งให้เวสต์ บรอมมิช อัลเบียน ยืมตัวใช้งาน ได้รับการเสนอข่าวว่า ‘ใช้เงิน 2.25 ล้านปอนด์เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยได้ลงเล่นในพรีเมียร์ลีก’

 

ถ้าหัวใจเราไม่มืดบอดเกินไป ก็ต้องยอมรับว่าการนำเสนอข่าวนั้นมี ‘น้ำเสียง’ ที่แตกต่างกันจริงอย่างที่หัวใจจับความรู้สึกได้ไม่ยาก

 

สเตอร์ลิงคิดว่าการนำเสนอข่าวของสื่อนั้นช่างไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และผลกระทบที่ตามมาจากปลายปากกาที่มีอคติคือสายตาและความรู้สึกของสังคมที่มองคนผิวดำในแง่ลบ

 

ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด และมีเลือด มีเนื้อ มีหัวใจเหมือนกัน

 

การจุดประเด็นจากสเตอร์ลิงทำให้วงการสื่อมวลชนในอังกฤษตื่นตัวต่อเรื่องนี้อย่างมากครับ เช่นกันกับกระแสสังคมที่ลุกฮืออีกครั้งเพราะรับไม่ได้กับเรื่องน่ารังเกียจและอยุติธรรม

 

สแตน คอลลีมอร์ อดีตกองหน้าดาวดังของอังกฤษในยุค 90s ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ฟุตบอล บอกว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้สื่อมีความเอนเอียงนั้นเกิดจากการที่นักข่าวและนักเขียนกีฬาในอังกฤษเกือบทั้งหมดเป็นคนผิวขาวที่เป็นชนชั้นกลางของสังคม

 

เช่นกันกับเหล่าพิธีกรรายการฟุตบอลทางโทรทัศน์หลักๆ ก็แทบไม่มีกลุ่ม BAME หรือกลุ่มคนผิวสี ผิวเหลือง หรือชนชาติอื่นที่ได้โอกาสทำงานในระดับนั้น

 

ดังนั้นต่อให้ปากบอกว่าพวกเขา ‘รู้สึกเจ็บปวด’ กับเรื่องของการเหยียดผิว แต่สำหรับคอลลีมอร์ เขาไม่เชื่อว่าจะมีใครสักคนที่เข้าใจความรู้สึกจริงๆ ของคนผิวดำที่ถูกกระทำจากเพื่อนมนุษย์ที่มองว่าสีผิวคือความแตกต่าง

 

คอลลีมอร์ยังแนะนำว่าบทลงโทษที่ดีที่สุดสำหรับแฟนบอลเชลซีผู้ที่เป็นต้นเรื่องไม่ใช่การลงโทษแบนเขาจากการเข้าชมเกมตลอดชีวิต

 

แต่บทลงโทษที่ดีที่สุดคือการขอให้เขาได้มีโอกาสได้นั่งเคียงข้างกับเหล่าตำนานนักเตะของเชลซีที่เป็นผู้เล่นผิวสีดู อาจจะเป็นรุ่นเก่าอย่าง พอล คาโนวิลล์, พอล เอลเลียต หรืออาจจะเป็นรุ่นใหม่อย่าง ดิดิเยร์ ดร็อกบา, มิคาเอล เอสเซียง

 

แล้วขอให้ได้ลองนั่งฟังอย่างเปิดใจถึงความรู้สึกเจ็บปวดและผิดหวังของการถูกเหยียดเพียงเพราะสีผิวแตกต่างกัน มันเจ็บปวดแค่ไหน

 

หากโชคดีที่แฟนบอลคนดังกล่าวเข้าใจ บางทีเขาอาจจะนำเรื่องราวไปบอกต่อคนในครอบครัว คนในที่ทำงาน หรืออาจจะโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งถ้าโชคดีกว่า เรื่องนั้นอาจจะถูกนำไปบอกต่อ จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน

 

มันน่าจะดีกว่าการริบตั๋วปีของเขาแล้วทำให้เกิดความเคียดแค้นฝังลึก ก่อนจะถ่ายทอดสู่คนในครอบครัว สู่ลูก สู่หลาน เพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงาน ว่าเขาหมดสิทธิ์ในการเข้าไปเชียร์ทีมรักตลอดชีวิตเพราะไอ้มืดท่าทางสะอิ้งขี้ฟ้องคนนั้น

 

อย่างไรก็ดี แนวทางการแก้ปัญหาแบบนี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาในอุดมคติ ในชีวิตจริงแล้ว การลงโทษด้วยการริบตั๋วปีและลงโทษแบนเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่สโมสรฟุตบอลเลือกใช้มากที่สุด

 

ขณะที่ ลอร์ด อุสลีย์​ ผู้ก่อตั้งองค์กรเพื่อต่อสู้กับเรื่องการเหยียดผิว Kick It Out ยอมรับว่าการต่อสู้ของพวกเขานั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากไม่มี ‘ผู้นำ’ การต่อสู้ในระดับเบื้องบนขององค์กรฟุตบอลที่สำคัญ

 

สองผู้นำในองค์กรหลักของฟุตบอลอังกฤษอย่าง ริชาร์ด สคูดามอร์ (ซีอีโอพรีเมียร์ลีก), เกร็ก คลาร์ก (ประธานสมาคมฟุตบอล หรือ FA) ไม่ใช่คนผิวสี เช่นกันกับ บรู๊ซ บัค ประธานสโมสรเชลซี ทำให้สิ่งที่เขาในฐานะผู้นำขององค์กรที่เป็นความหวังของการต่อสู้ทำได้เพียงแค่ ‘หวังว่า’ บุคคลที่กล่าวมาข้างต้นจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น และหาแนวทางในการจัดการกับปัญหา

 

 

การเหยียดผิวเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ในฟุตบอลอังกฤษ

อย่างไรก็ดี หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจคือสุดท้ายแล้วการเหยียดผิวเป็นฝันร้ายที่กลับมาจริงหรือไม่ จำนวนคดีที่เกิดขึ้นมันเริ่มเพิ่มมากขึ้นอีกครั้งแล้วหรือในช่วงนี้

 

เพราะในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากกรณีของสเตอร์ลิงที่สกอตแลนด์ก็มีการจับกุมกองเชียร์สโมสรฮาร์ทส์ 2 คนที่เหยียดสีผิวใส่ คริสเตียน เอ็มบูลู ตัวสำรองของสโมสรมาเธอร์เวลล์

 

เรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้ไม่สามารถใช้ความรู้สึกในการตัดสินได้ ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นเครื่องบ่งบอกได้ชัดเจนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้คือการนำสถิติตัวเลขมาเปรียบเทียบ อย่างน้อยเราพอจะเห็นภาพได้ชัดขึ้น

 

Kick It Out รายงานตัวเลขที่ได้รับการร้องเรียนในฤดูกาล 2017-18 จากเกมการแข่งขันทุกระดับ ตั้งแต่ระดับสูงสุดอย่างพรีเมียร์ลีกไปจนถึงระดับล่างสุดอย่างการแข่งขันของรากหญ้า มีการร้องเรียนจำนวน 520 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากฤดูกาล 2016-17 ที่มีการร้องเรียน 469 ครั้ง

 

ในจำนวนนี้ เกินกว่าครึ่ง (53%) เป็นการเหยียดผิวโดยตรง (Racism) รองลงมาคือการเหยียดชาวรักร่วมเพศ (Homophobia) ตามด้วยการเหยียดความเชื่อ การเหยียดเพศ การเหยียดผู้พิการ และเหยียดคนข้ามเพศ (Transphobia)

 

แต่ตัวเลขดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลที่ได้จากการที่ผู้เล่นและผู้ชมกดส่งเรื่องร้องเรียนผ่านเข้ามา ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าการร้องเรียนนั้นสะท้อนเหตุการณ์จริงได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการสอบสวนหรือสืบสวนได้

 

ข้อมูลอีกชุดที่น่าสนใจคือข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย (สหราชอาณาจักร​ – Home Office) ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลสถิติคดีที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลในอังกฤษและเวลส์ โดยในฤดูกาลที่แล้ว 2017-18 มีจำนวน 1,500 คดีที่เกี่ยวข้องกับเกมฟุตบอล

 

ในจำนวนนั้นมีเพียง 15 คดีที่เกี่ยวกับการเหยียดสีผิวด้วยการร้องเหยียดอย่างรุนแรง แต่ก็เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากในฤดูกาลก่อนหน้า 2016-17 ถึง 2 เท่า แม้จะลดน้อยลงจากในช่วงพีกคือฤดูกาล 2010-11 ที่มีมากถึง 44 คดีก็ตาม

 

แต่ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยเองก็ไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ได้ถึงเหตุการณ์การเหยียดสีผิวว่าเกิดขึ้นกี่ครั้ง

 

ขณะที่การลงโทษด้วยการห้ามเข้าชมเกมในสนามนั้นก็ไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากตามการเก็บข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยไม่มีการระบุว่าการลงโทษแบนนั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุผลประการใดกันแน่ และแต่ละสโมสรเองก็มีการเก็บข้อมูลของผู้กระทำผิดไว้ ไม่ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ที่ส่วนกลางแต่อย่างใด

 

ทั้งหมดนี้อาจไม่สะท้อนความเป็นจริงได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง

 

แต่อย่างน้อยที่สุด มันทำให้เราได้เห็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ชัดเจนแน่นอนคือในเวลานี้ทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่มี ‘ความร่วมมือ’ ที่จะดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

 

ลำพังเมื่อมือยังไม่ประสาน การจะหวังให้ใจประสานนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า

 

 

เหยื่ออธรรมที่ชื่อ ราฮีม สเตอร์ลิง

มีการตั้งคำถามที่น่าสนใจอีกประการเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับว่าจริงๆ แล้วการเหยียดสีผิวไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะเขาคือ ราฮีม สเตอร์ลิง นักฟุตบอลที่ถูกจับจ้องด้วยสายตาและความรู้สึกที่ไม่ดีอยู่แล้วเป็นทุนเดิมจากแฟนฟุตบอล

 

หากจำกันได้ ในฟุตบอลยูโร 2016 สเตอร์ลิงเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดและแรงที่สุด แรงในระดับที่แม้แต่คนที่อยู่ในวงการมายาวนานอย่าง แกรี เนวิลล์ เองยอมรับว่าไม่เคยพบเคยเจอเหมือนกัน

 

เนวิลล์ซึ่งขณะนั้นเป็นทีมงานของ รอย ฮอดจ์สัน อดีตผู้จัดการทีมขณะนั้นเล่าว่า สเตอร์ลิงนั้นกลายเป็นเป้าสายตาของทั้งแฟนบอลและสื่อไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกสนามก็ตาม

 

มันทำให้สเตอร์ลิงรู้สึกและทนไม่ไหวถึงขั้นเดินมาขอคำปรึกษาว่าเขารู้สึกเป็น ‘คนร้าย’ ในสายตาของคนเหล่านั้น ซึ่งหากจะพูดกันในเรื่องของผลงานในสนาม เขาเข้าใจในฐานะของนักฟุตบอล แต่ในความรู้สึกของเด็กวัย 22 ปีในขณะนั้น เขารู้สึกว่าเขาถูกทำให้เป็นผู้ร้ายโดยที่ไม่มีทางต่อสู้ และไม่รู้ว่าจะทำตัวอย่างไรด้วย

 

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงก่อนฟุตบอลโลก 2018 เมื่อสื่อจับภาพรอยสักรูปปืนบนขาของเขา และเรื่องนี้ก็ถูกทำให้เป็นเรื่องใหญ่จนผูกโยงเข้ากับเรื่องของการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย

 

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วสเตอร์ลิงยืนยันว่ารอยสักนี้เป็นการอุทิศแก่พ่อของเขาที่ถูกยิงเสียชีวิตที่คิงสตันในบ้านเกิดที่จาเมกา ตั้งแต่เขาเพิ่งอายุได้ 2 ขวบ

 

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ รวมถึงเหตุการณ์การเหยียดสีผิวล่าสุดนั้นราวกับว่าไม่ว่าเขาจะทำอะไร มันผิดทั้งนั้น

 

ภาพจำของสเตอร์ลิงในสายตาผู้คนทั่วไปที่ไม่ใช่แฟนบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คือนักฟุตบอลผู้ทะเยอทะยาน เขาเลือกที่จะทิ้งลิเวอร์พูล สโมสรที่ดึงตัวเขามาปั้นจนกลายเป็นดาวรุ่งที่โดดเด่นที่สุดของอังกฤษเพื่อย้ายไปอยู่กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมที่ใหญ่กว่าและรวยกว่า

 

ในการบอกลาที่เลวร้ายทำให้สเตอร์ลิงถูกหมายหัวจากเดอะ ค็อป ที่รับไม่ได้กับพฤติกรรมของเด็กคนนี้ ขณะที่คนภายนอกก็มองเขาแบบติดลบ ซึ่งในเวลาต่อมาความคิดนี้ก็ยิ่งตอกย้ำมากขึ้นผ่านเรื่องราวและภาพของเขาที่ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา หลงใหลรถยนต์ เที่ยวเตร่ในไนต์คลับ เรียกว่าใช้ชีวิตอย่างเหลวแหลก ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ความจริงเลยสักนิด

 

เจมี คาร์ราเกอร์ อดีตรุ่นพี่ในทีมลิเวอร์พูล ยืนยันว่าเรื่องเหล่านี้เหลวไหล เพราะในชีวิตจริงแล้วเด็กคนนี้เก็บเนื้อเก็บตัวเป็นส่วนใหญ่ ก้มหน้าก้มหน้าซ้อม และตั้งใจทำผลงานในสนาม บางครั้งอาจใช้จ่ายบ้าง แต่ก็เป็นการซื้อให้คนในครอบครัว

 

ขณะที่ความจริงอีกด้านที่คนมองข้ามคือสเตอร์ลิงเป็นนักฟุตบอลที่มีความพยายามมากที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้คือการที่เขาเป็นผู้เล่นตัวหลักในทีมของยอดโค้ชอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอลา ทั้งๆ ที่เขาต้องแข่งกับซูเปอร์สตาร์อย่าง เควิน เดอ บรอยน์, ลีรอย ซาเน, แบร์นาร์โด ซิลวา และริยาด มาห์เรซ

 

ช่วงสองฤดูกาลที่ผ่านมา สเตอร์ลิงพัฒนาการเล่นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในฤดูกาลนี้ที่เขาเล่นได้ดีที่สุด โดยลงเล่นไปแล้ว 19 นัด ทำได้ถึง 9 ประตู และผ่านบอลให้เพื่อนทำประตูอีก 8 ครั้ง

 

เรียกว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ทำผลงานได้ดีที่สุดบนเกาะอังกฤษเวลานี้เลยก็ว่าได้

 

ไม่นับชีวิตครอบครัวที่นอกจากจะเป็นลูกชายที่ดีแล้ว เขาก็มีลูกสาวที่น่ารักเป็นแก้วตาดวงใจด้วย

 

น่าเสียดายที่ไม่มีใครอยากจำเขาในภาพนี้

 

สิ่งที่เราได้รับรู้จากเรื่องนี้ นอกจากการระแวดระวังปัญหาการเหยียดสีผิว ซึ่งไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ตามจากช่วงที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงคือปัญหานี้ยังมีอยู่ และคนที่รับผลกระทบจากเรื่องนี้ไม่ใช่ทุกคนที่จะแกร่งพอที่จะยืนหยัดต่อสู้กับมันได้เหมือนที่สเตอร์ลิงทำได้

 

การแก้ปัญหาที่น่ารังเกียจเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้แค่เพียงการรับฟังหรือการ ‘รู้สึกตัว’ แล้วบอกต่อเพราะได้ยินเสียงใครตะโกนดังๆ ออกมาแค่ชั่วเวลาหนึ่ง

 

ขณะเดียวกัน ผมคิดว่าอีกสิ่งหนึ่งที่สังคมฟุตบอลอังกฤษควรจะมีให้แก่สเตอร์ลิงคือให้ความยุติธรรมและความเท่าเทียมกับเขาบ้างได้ไหม

 

ในฐานะนักฟุตบอลหรือคนธรรมดาคนหนึ่งก็ได้

 

อย่าตัดสินใครเพียงแค่สีผิว รูปร่างหน้าตา หรือเรื่องเล่าที่ได้ยินมา

 

ลองพูดคุยหรือทำความรู้จักตัวตนของเขาจริงๆ ก่อนไหม ให้กระบวนการยุติธรรมของหัวใจได้มีเวลาทำงานสักนิดหนึ่ง คงไม่ยากเกินไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

FYI
  • การเสียชีวิตของพ่อ ทำให้แม่ของเขาตัดสินใจฝากเขาและพี่สาวอีกคนเอาไว้กับยายที่จาเมกาเพื่อไปเรียนที่อังกฤษ จะได้เอาปริญญามาทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทำให้สเตอร์ลิงยอมรับว่าแอบน้อยใจและไม่เข้าใจแม่อยู่เหมือนกันในวัยเด็ก
  • แต่โชคดีที่เขามีฟุตบอลและมีเพื่อนที่พร้อมจะวิ่งลงสนามที่เฉอะแฉะไปด้วยโคลน มันอาจจะเลอะ แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่งดงามที่สุดของเขา
  • สเตอร์ลิงรักแม่มาก เขายอมรับว่าไม่ค่อยฟังใครนักนอกจากแม่ ยกเว้นอีกคนคือ ไคลฟ์ เอลลิงตัน คนที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเด็กๆ แถวบ้านของเขา กับคำถามที่เปลี่ยนชีวิตว่า ‘ราฮีม หนูอยากจะทำอะไร’
  • ตอนอายุ 10-11 ปี เขาเริ่มถูกจับตามองจากแมวมองสโมสรใหญ่ในลอนดอน ฟูแลม และอาร์เซนอลอยากได้ตัวเขามาก และเขาก็อยากย้ายไปอยู่กับกันเนอร์ส แต่แม่เป็นคนขวางและบอกให้เขาเลือกสโมสรที่เล็กกว่าอย่างควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส ด้วยเหตุผลว่าหากไปอาร์เซนอล เขาก็ต้องแข่งกับเด็กที่เก่งพอๆ กันอีก 50 คน ในวัยนี้เขาจำเป็นต้องไปอยู่ในที่ที่จะสามารถพัฒนาตัวเองได้
  • ในช่วงที่อยู่กับลิเวอร์พูล สเตอร์ลิงจะนั่งรถไฟจากลิเวอร์พูลลงมาลอนดอนเสมอเมื่อมีวันหยุดเพื่อพบกับแม่และนั่งรถไฟกลับไปทันที ทำให้เพื่อนๆ แทบไม่เจอตัวเขาเลย ขณะที่แม่จะโทรมาหาเขาทุกเช้า ทำให้เขามีกำลังใจจะต่อสู้เพื่อเป้าหมายเดียวคือเซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลอาชีพให้ได้ จะได้สามารถดูแลครอบครัวได้
  • แม้จะมีพ่อเป็นสตาร์ทีมชาติอังกฤษและแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่ลูกสาวของเขาเป็นเด็กหงส์ตัวยง และเพลงที่ร้องให้เขาปวดใจเล่นเสมอคือเพลงประจำตัวของโมฮัมเหม็ด ซาลาห์ (Mo Salah Running down the wing)
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X