×

‘ราบิโอต์-อาร์เนาโตวิช’ แมนฯ ยูไนเต็ดกลับมาใช้ ‘ทางออกฉุกเฉิน’ อีกครั้ง?

09.08.2022
  • LOADING...
ราบิโอต์-อาร์เนาโตวิช

ผลพวงจากความปราชัยต่อไบรท์ตันแอนด์​โฮฟอัลเบียนแบบหมดท่าในเกมเปิดสนามสนามพรีเมียร์ลีกฤดูกาลใหม่คาโอลด์แทรฟฟอร์ด เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่าน (7 สิงหาคม) มาทำให้แมนฯ ยูไนเต็ด จำเป็นต้องเร่งเครื่องในการหานักเตะเข้ามาเสริมทัพเป็นการเร่งด่วน

 

เพราะมองจากดาวอังคารก็เห็นได้ชัดว่าขุมกำลังของพวกเขามีปัญหา และที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขด้วย โดยเฉพาะ 2 จุดที่เป็นหลุมดำอย่างแดนกลางและกองหน้าตัวเป้า ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการดึงใครเข้ามาเสริมแต่อย่างใด

 

เท่านั้นเองเมื่อถึงวันจันทร์ (8 สิงหาคม) แชมป์ลีกสูงสุด 20 สมัย จึงมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจทันทีกับนักเตะ 2 ราย

 

รายแรกที่สร้างความตกใจอย่างมากคือ มาร์โก อาร์เนาโตวิช กองหน้าทีมชาติออสเตรีย ซึ่งเคยค้าแข้งในพรีเมียร์ลีกกับสโต๊ก ซิตี้ และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด เคยไปตะลุยค้าแข้งในไชนีสซูเปอร์ลีกกับจีน และปัจจุบันกลับมาเล่นในเซเรีย อา อิตาลี กับโบโลญญา

 

รายต่อมาคือ อาเดรียง ราบิโอต์ อดีตกองกลางเพชรเม็ดงามของวงการฟุตบอลฝรั่งเศสวัย 27 ปีที่อยู่กับยูเวนตุส ซึ่งเป็นกองกลางที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนเกมและมีชั้นเชิงการเล่นลวดลายที่พอตัว

 

หากมองถึงสถานการณ์ ในสภาพที่ เอริก เทน ฮาก จำเป็นต้องดัน คริสเตียน อีริกเซน ขึ้นไปยืนศูนย์หน้าแบบ False 9 ในระบบและรูปแบบที่ทีมไม่เคยเล่นเลยตลอดช่วงพรีซีซัน เพราะไม่มี อองโตนี มาร์กซิยาล ที่บาดเจ็บ และ คริสเตียโน โรนัลโด ยังไม่พร้อมสำหรับการเป็นตัวจริง

 

และเมื่อเห็น ‘สภาพ’ ของคู่หู ‘แม็ค-เฟร็ด’ หรือ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ และ เฟร็ด ที่กลับมาเข้าทรงเดิมอีกครั้ง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้แดนกลางของแมนฯ​ ยูไนเต็ดตกเป็นรองไบรท์ตัน จนส่งผลต่อรูปเกมโดยรวมทั้งหมดของทีม

 

การดึงนักเตะอย่างอาร์เนาโตวิชและราบิโอต์ เข้ามาเพื่อ ‘อุด’ ปัญหาตรงนี้ถือว่าเข้าใจได้

 

แต่ในเวลาเดียวกันมันก็เป็นปัญหาซ้อนปัญหา

           

  1. ความพยายามแก้ปัญหา ‘ระยะสั้น’ สะท้อนถึงสิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือการที่แมนฯ ยูไนเต็ดต้องกลับมาใช้วิธีกาารแบบ ‘ทางออกฉุกเฉิน’​ อีกครั้งทั้งๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารในระดับเบื้องบนมาเป็นชุดของ ริชาร์ด อาร์โนลด์ ซีอีโอของสโมสรที่ทำหน้าที่ตัดสินใจแทน เอ็ด วูดเวิร์ด และ จอห์น เมอร์โท ผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลคนแรกในประวัติศาสตร์

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและโครงสร้างจะทำให้แมนฯ ยูไนเต็ดสามารถดำเนินกิจการโดยเฉพาะในด้าน Recruitment ได้ดีเหมือนคู่แข่งอย่างลิเวอร์พูลหรือแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มีการมองเป้าหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 2 ปี

 

แต่การที่ไม่สามารถปิดดีลของ แฟรงกี เดอ ยอง ได้ และยังคงรอทั้งยังรอความหวังแบบลมๆ แล้งๆ จนถึงตอนนี้ รวมถึงการที่ไม่สามารถจัดการช่วย เอริก เทน ฮาก แก้ปัญหาเรื่องของโรนัลโดให้จบก่อนที่ฤดูกาลจะเปิดได้

 

ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็น ‘ฤดูร้อนที่ดีที่สุด’ สำหรับการเริ่มต้นใหม่ การจัดการทุกอย่างมันควร ‘พร้อม’ ตั้งแต่ก่อนพรีซีซันจะเริ่มแล้ว ไม่ใช่จนเปิดฤดูกาลแล้วและเหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่สัปดาห์ก่อนตลาดการซื้อขายจะปิดตัวลงถึงเร่งมาจัดการแบบนี้

 

  1. การเลือกเป้าหมายอย่างอาร์เนาโตวิชและราบิโอต์ หากมองในแง่ของการตอบโจทย์เรื่องของแท็กติกการเล่นนั้นอาจจะพอเข้าใจได้

 

ดาวยิงวัย 33 ปีเป็นศูนย์หน้าตัวเป้าที่มีความครบเครื่องทั้งความแข็งแกร่งและเทคนิคการเล่น มีประสบการณ์ในพรีเมียร์ลีก และฟอร์มถือว่าจัดจ้านในฤดูกาลที่แล้ว (ยิงไป 14 ประตู)


ขณะที่ราบิโอต์สามารถปรับตัวเพื่อเล่นกองกลางตัวรับแบบคู่ (Double Pivot) ได้ และมีความสามารถในการลำเลียงบอลขึ้นมาได้เอง ช่วยเปลี่ยนจังหวะการเล่นได้ด้วย

 

แต่ในเวลาเดียวกันมันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่น่ากังวลกว่าอย่างเรื่องของ ‘เครือข่ายนักฟุตบอล’ ของแมนฯ ยูไนเต็ด

 

อาร์เนาโตวิชมาอย่างไร? เพราะเคยเล่นให้กับเอฟซี ทเวนเต้ ในช่วงที่เทน ฮาก เป็นผู้ช่วยโค้ชของ สตีฟ แม็คคลาเรน (ซึ่งปัจจุบันทั้งสองกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง แต่แม็คคลาเรนสลับมาเป็นผู้ช่วยแทน)

 

นั่นหมายถึงนี่เป็นอีกครั้งที่เทน ฮาก เลือกนักเตะจากเครือข่ายวงศ์วานของตัวเอง เหมือนในรายของ ไทเรลล์ มาลาเซีย, อีริกเซน, ลิซานโดร มาร์ติเนซ (หรือแม้แต่เดอ ยอง) ที่เป็นนักเตะที่เคยเล่นในอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม หรือเล่นในลีกดัตช์

 

การเลือกนักเตะที่คุ้นเคยไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำหรับกรณีของแมนฯ ยูไนเต็ดและเทน ฮากมันชวนให้คิดว่ามีปัญหา

 

เช่นกันกับในรายของราบิโอต์ ซึ่งเป็นนักเตะที่ยูเวนตุสเองยินดีที่จะปล่อยตัวออกไปเนื่องจากเป็นนักเตะที่รับค่าเหนื่อยในทีมสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 และเหลือสัญญาอีกแค่ 12 เดือน ซึ่งขายตอนนี้ดีกว่าจะเสียไปแบบฟรีๆ ในฤดูกาลหน้า

           

 

ทั้งนี้แม้จะยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการสำหรับนักเตะทั้งสองรายนี้ แต่หากทั้งคู่มาจริง หรือแย่กว่านั้นคือหากไม่มีใครเข้ามาเลย มันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาภายในโรงละครแห่งความฝัน ที่สุดท้ายแล้วแม้จะมีการพยายามเปลี่ยนแปลงตัวผู้จัดการทีมไปจนถึงผู้บริหาร แต่ทุกอย่างยังไม่ได้รับการจัดการแก้ไขอย่างถูกต้อง

 

และดูเหมือนวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้กำลังจะกลายเป็น ‘เอกลักษณ์’ ของแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็นเลยสำหรับสโมสรที่ยิ่งใหญ่แบบนี้

 

ลำพังการนำแมนฯ ยูไนเต็ดให้กลับมาเป็นทีมฟุตบอลที่ดีอีกครั้งก็เป็นเรื่องยากแล้วสำหรับ เอริก เทน ฮาก – ซึ่งความจริงหากพยายามเพ่งดูมันก็พอมองเห็น ‘สัญญาณบวก’ บ้างในเกมที่พ่ายไบรท์ตัน

 

เพียงแต่งานนี้มันใหญ่เกินกว่าที่เขาจะทำได้คนเดียว แต่ปัญหาคือดูเหมือนเขากำลังถูกทิ้งให้ทำงานนี้แค่คนเดียว

 

โดยที่แม้แต่แฟนๆ ในสนามเองก็ยังไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะให้กำลังใจทีมด้วยซ้ำไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X