Q: เป็นคนสัมภาษณ์งานเด็กใหม่ๆ มาหลายปีแล้ว เริ่มรู้สึกว่าหมดมุก ถามแต่คำถามเดิมๆ จนเบื่อ เลยอยากปรึกษาค่ะ ว่านอกจากคำถามเบสิกภาคบังคับที่ต้องถามแล้ว มีคำถามอะไรที่ไม่ธรรมดาและยังท้าทายคนตอบได้มากพอที่จะแสดงความสามารถอีกไหมคะ
A: ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีครับที่คุณรู้สึกเบื่อการตั้งคำถามเดิมๆ ที่จริงเราคนสัมภาษณ์น่าจะรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เจอ ‘ว่าที่’ ลูกน้องคนใหม่ ถ้าเราเริ่มรู้สึกว่าวิธีการเดิมๆ ไม่ทำให้เราตื่นเต้นแล้ว การหาวิธีการใหม่ก็เป็นสิ่งที่ดีครับ อีกอย่างคือ ผมคิดว่าใครๆ ก็คงเตรียมตัวมาเจอการสัมภาษณ์แบบเบสิกอยู่แล้ว แค่ Google คนก็รู้แล้วว่าจะเจอคำถามอะไรและจะตอบอย่างไร เป็นผมก็คงเบื่อนะครับที่จะต้องถามคำถามเดิมและได้ยินคำตอบแบบเดิมๆ ที่โคตรจะสคริปต์ ไม่ได้ท้าทายความสามารถอะไรทั้งคนถามและคนตอบ
ถ้าอยากได้อะไรแบบที่เราไม่เคยได้มาก่อน เราต้องทำด้วยวิธีการที่เราไม่เคยทำมาก่อนครับ ผมมีตัวอย่างวิธีการสัมภาษณ์ให้ได้คนที่ใช่ด้วยวิธีการใหม่ๆ เผื่อเป็นไอเดียให้คุณครับ
จำลองสถานการณ์แบบไม่ให้รู้ตัว
การสัมภาษณ์งานเป็นอะไรที่โคตรน่าเบื่อ ถ้าถามว่าอะไรคือจุดแข็งของคุณ ก็คงมีคนตอบว่า “ผมมีแพสชัน” กันพรึ่บ! ส่วนถ้าถามว่าอะไรคือจุดอ่อนของคุณ “ผมเป็นคนดื้อ กัดไม่ปล่อย” ก็คงเป็นคำตอบแรกๆ ฟังแล้วน่าเบื่อใช่ไหมครับ Heineken เลยทำโปรเจกต์ ‘The Candidate’ ขึ้นมา เป็นการสัมภาษณ์งานที่ฉีกกฎการสัมภาษณ์แบบเดิมๆ โดยที่คนตอบสัมภาษณ์ไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องเจอกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ในการสัมภาษณ์งานเพื่อหานักศึกษาฝึกงานเพื่อดูแลงานด้านอีเวนต์และสปอนเซอร์ ซึ่งตำแหน่งดังกล่าว ผู้ได้รับคัดเลือกจะได้ทำงานในการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และได้พบกับฮีโร่แข้งทองในตำนานอย่างใกล้ชิด ซึ่งนี่มันงานในฝันของคนรักฟุตบอลชัดๆ! ทำให้มีคนสมัครมากว่า 1,700 คนจากทั่วโลก
การสัมภาษณ์แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนแบบที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่รู้มาก่อนว่าจะต้องเจออะไรบ้าง เริ่มจาก Kick-off ซึ่งหัวหน้าจะเดินจับมือกับผู้ถูกสัมภาษณ์ตลอดทางไปถึงห้องสัมภาษณ์ (เริ่มแหม่งๆ แล้ว) ขั้นตอนต่อมาคือ การช่วยเหลือผู้ป่วย ขั้นตอนนี้จู่ๆ หัวหน้าจะหน้ามืดแล้วล้มตึงไปเลย (‘เรือ’ หายล่ะคราวนี้!) และสุดท้ายเรียกว่า The Exit คือจู่ๆ สัญญาณเตือนไฟไหม้จะดังขึ้น และทุกคนต้องรีบออกจากตึก มีตำรวจดับเพลิงมากันเต็มไปหมด และต้องมีคนกระโดดลงมาจากตึก แต่กำลังตำรวจดับเพลิงไม่พอ จึงต้องเรียกขอความช่วยเหลือจากคนแถวนั้นว่าให้ช่วยตำรวจดับเพลิงกางผ้าใบช่วยชีวิต ทั้ง 3 สถานการณ์นี้เป็นการจับปฏิกิริยาของแคนดิเดตว่าจะจัดการกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงอย่างไร และยังซ่อนกล้องเก็บภาพไว้ตลอด ซึ่งปรากฏว่ามีทั้งคนที่จัดการกับสถานการณ์ที่ว่ามาได้จริงๆ (และแน่นอนว่ามีคนสติกระเจิงไปก่อน) ซึ่ง 3 คนสุดท้ายที่รับมือกับสถานการณ์นั้นได้จะได้รับการโหวตอีกทีว่าใครคือผู้จะได้รับเลือก
ซีนเด็ดคือตอนประกาศผลนี่แหละครับ ที่คนที่ได้รับเลือกจะเดินเข้าไปใน Juventus Stadium ซึ่งใช้แข่งฟุตบอลระหว่างยูเวสตุสกับเชลซี ซึ่งก่อนการแข่งขันจะเหมือนเป็นการย้อนรอยสิ่งที่เขาได้เจอ ตั้งแต่การที่เด็กจับมือนักฟุตบอลเดินเข้ามาในสนามแบบเดียวกับที่หัวหน้าเดินจับมือเขาตอนสัมภาษณ์งาน มีการกางผ้าใบแบบเดียวกับตอนที่เขาช่วยตำรวจดับเพลิงกางผ้าใบช่วยชีวิตตอนไฟไหม้ บนจอยักษ์ที่สเตเดียมฉายวิดีโอเหตุการณ์ระหว่างการสัมภาษณ์งานของเขาล้อไปกับเหตุการณ์ในสนาม และขึ้นข้อความว่า ‘You got a job!’ โดยมีคนทั้งสเตเดียมโห่ร้องแสดงความยินดีอยู่ นี่มันจบแบบ Epic ชัดๆ!
ตอนที่ผมดูวิดีโอเคสนี้ผมน้ำตาคลอไปเลยนะครับ ว่าถ้าเราเป็นเด็กคนนั้นคงไม่มีวันลืม ที่สำคัญคือ Heineken ได้คนที่โคตรใช่จริงๆ มาทำงาน (เข้าไปดูเคส The Candidate ของ Heineken ได้ที่ www.youtube.com/watch?v=5im9ZA3WK3w)
บทเรียนจากกรณีนี้ที่เราเอาไปใช้ได้คือ ลองมาดูครับว่าเราสามารถจำลองสถานการณ์บางอย่างให้แคนดิเดตได้แสดงความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดู โดยที่สถานการณ์นี้ต้องเชื่อมโยงกับคุณสมบัติของคนทำงานที่เรามองหาด้วย เช่น ถ้างานที่เขาต้องทำเป็นงานที่ต้องรับแรงกดดันได้ดี ลองสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เขาอยู่ภายใต้ความกดดันสิครับ จะให้เขาทำอะไรบางอย่างภายใต้เวลาที่กำหนดก็ได้
หรือถ้างานที่เขาต้องทำเป็นงานที่ทำเกี่ยวกับการบริหารเงิน ลองดูสิครับว่า เขารู้หรือเปล่าว่าในกระเป๋าสตางค์เขามีเงินอยู่เท่าไร แล้วเอามานับกันให้เห็นเลยว่าถูกไหมหรือใกล้เคียงแค่ไหน ไหนๆ จะต้องดูแลจัดการเรื่องเงินแล้ว เขาก็ควรต้องรู้ว่าเขามีเงินเท่าไร ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราไปเจอว่าเขามีแอปพลิเคชันทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่วนตัวและเขาอัปเดตทุกอย่างลงในแอปฯ ตลอดเพื่อบริหารเงินตัวเอง ผมว่าคนนี้แหละน่าจะเข้าข่ายที่เราควรให้เข้ารอบ
หรืองานของเขาต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง ลองให้เขาทำอะไรสักอย่างที่ออกนอกกรอบดูเดี๋ยวนั้นว่าเขาจะทำได้ไหม น่าสนุกนะครับ! ที่ผมเคยใช้อีกอย่างคือ คุยกันเป็นภาษาไทยอยู่ดีๆ ผมก็เปลี่ยนมาคุยภาษาอังกฤษเสียเลย และดูว่าเขาจะทำอย่างไร จะตอบเราเป็นภาษาอังกฤษได้หรือเปล่า นอกจากวัดการใช้ภาษาแล้ว ยังวัดสติของน้องด้วยว่า จู่ๆ เกิดการเปลี่ยนโหมดแบบนี้แล้ว น้องจะตกใจไหม ยังไหวหรือเปล่า ผมบอกแล้วว่าสัมภาษณ์งานนี่มันสนุกครับ!
การสัมภาษณ์งานเป็นก้าวหนึ่งที่ทำให้แคนดิเดตรู้จักองค์กรของเรา ไม่ว่าเขาจะได้งานนี้หรือไม่ แต่อย่างน้อยเขาต้องเดินออกไปจากองค์กรเราด้วยความรู้สึกว่า “โห…บริษัทนี้โคตรเจ๋งเลย
ถามคำถามที่ไม่ธรรมดาแต่ซ่อนความหมายบางอย่าง
คำถามเบสิกที่ต้องถามนั้นคุณคงถามๆ กันอยู่แล้ว ผมลองให้ไอเดียคำถามที่ผมเคยถามแล้วกันครับ ผมเคยถามลูกน้องว่า “ถ้าน้องต้องไปแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้ น้องจะไปแข่งในหัวข้ออะไร” คำถามนี้ผมอยากรู้ว่าน้องมีแพสชันกับอะไร น้องรู้อะไรลึกบ้าง ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องงานก็ได้นะครับ แต่ผมอยากฟังตอนที่เขาเล่าถึงสิ่งที่เขาชอบ เขาสื่อสารออกมาอย่างไร แววตาเขาเป็นแบบไหน เขาอินกับมันจริงหรือเปล่า และอินขนาดที่สามารถสื่อสารให้ผมซึ่งอาจจะไม่อินกับเรื่องที่เขาสนใจมาก่อนรู้สึกว่าสิ่งนั้นน่าสนใจดีหรือเปล่า ผมเองก็จะได้เห็นแง่มุมอื่นของเขา ได้รู้จักเขามากขึ้นไปด้วยในตัว
อีกคำถามที่เพื่อนผมเคยเจอแล้วผมคิดว่าน่าสนใจมากๆ คือ “แม่ของคุณพูดถึงคุณว่าอย่างไร” ต่อด้วย “แล้วเพื่อนของคุณพูดถึงคุณว่าอย่างไรกันบ้าง” และปิดท้ายคำถามเซตนี้ว่า “แม่ของคุณพูดถึงจุดอ่อนของคุณว่าอย่างไร และอะไรคือสิ่งที่แม่ของคุณเป็นห่วงในตัวคุณมากที่สุด” โอ๊ยตาย! คำถามโคตรดีเลย!
เบื้องหลังของคำถามนี้โคตรจะเป็นคำถามทางจิตวิทยา เพราะเวลาเราพูดถึงคนในครอบครัวเรามักจะไม่โกหก (เราคงไม่กล้าโกหกเรื่องแม่ตัวเอง) และสิ่งที่ออกมาจะเป็นสิ่งแรกที่ตัวเราเองนี่แหละที่กังวลจริงๆ ทำให้คำตอบที่ได้เป็นคำตอบที่โคตรจะจริงและบ่งบอกถึงตัวเรามากที่สุด
อีกคำถามหนึ่งที่ผมเคยเจอมาจากการประกวดนางงามจักรวาลปี 1997 ของ Brook Lee จากประเทศสหรัฐอเมริกา (การประกวดนางงามก็คือการสัมภาษณ์งานแบบหนึ่งนะครับ) คำถามคือ “ถ้าคุณสามารถใช้ชีวิตโดยไร้กฎเกณฑ์ได้ 1 วัน และคุณสามารถทำอะไรแหกคอกได้ อะไรคือสิ่งที่คุณจะทำและทำไม” สิ่งที่เธอตอบคือ “I would eat everything. You don’t understand. I would eat everything twice!” เป็นคำตอบที่นอกจากเรียกเสียงหัวเราะได้แล้ว ยังแสดงถึงความเป็นธรรมชาติของเธอ ลึกไปกว่านั้นคือคำตอบของเธอพาไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์ค่านิยมด้านความงามที่ความผอมเท่ากับความสวย ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งมีนางงามจักรวาลคนก่อนหน้าเธอถูกวิจารณ์เพราะหลังจากได้รับตำแหน่งแล้วเธอเกิดอ้วนขึ้นมาก แถมอีตาโดนัลด์ ทรัมป์ ยังไปเรียกเธอว่า ‘Miss Piggy’ อีกด้วย คำตอบเดียวแต่ทั้งสร้างเสียงหัวเราะ สะเทือนไปถึงการวิจารณ์สังคมในบริบทที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ บอกจุดยืนของเธอในประเด็นนั้น โดยทั้งหมดนี้ทำได้โดยเป็นธรรมชาติ ไม่ธรรมดาเลยครับ (ดูคลิปการตอบคำถามของ Brook Lee ได้ที่ www.youtube.com/watch?v=p1GAp7XLZhs)
ให้แคนดิเดตตั้งคำถาม
ปกติแล้วแคนดิเดตจะเตรียมตัวมาเพื่อตอบคำถามอย่างเดียว แต่ผมเชื่อว่าการสัมภาษณ์งานไม่เพียงเป็นการที่หัวหน้าเลือกลูกน้อง แต่เป็นลูกน้องเลือกหัวหน้าด้วย เราน่าจะได้ดูกันและกันว่า ‘ใช่’ ของกันและกันจริงหรือเปล่า เลยใช้วิธีการสลับกันตั้งคำถามแทน สิ่งที่เจอคือ แคนดิเดตอึ้งสิครับ เพราะมันเป็นสถานการณ์ที่เขาไม่คุ้นเคยมาก่อน ผมก็จะดูปฏิกิริยาตรงนั้น ที่สำคัญคือผมจะได้วัดเขาจากคำถามที่เขาตั้งว่าคำถามคมไหม เขาสนใจอะไร ซึ่งผมคาดหวังว่าเขาต้องมีคำถาม เพราะเขาไม่เคยรู้จักงานที่นี่มาก่อน ไม่เคยรู้จักเรา เขาก็น่าจะมีหลายสิ่งที่อยากรู้ เราเองก็จะได้รู้จักกันมากขึ้นผ่านการถามและการตอบ นี่ผมให้ว่าที่ลูกน้องมาสัมภาษณ์ผมเลยนะครับว่าผมควรจะเป็นหัวหน้าเขาหรือเปล่า คิดดู!
และถ้าผมเป็นแคนดิเดตเอง ผมจะถามอะไรดีเหรอครับ ผมจะถามหัวหน้าว่า “อะไรคือสิ่งที่ทำให้พี่รักงานที่ทำอยู่” คำถามนี้ผมอยากรู้ว่า เขาพอใจกับงานที่เขาทำอยู่ไหม ทำงานที่นี่แล้วเขารู้สึกอย่างไร เขารู้สึกตัวเองมีความหมายหรือเปล่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขายังอยากทำงานที่นี่ต่อ เขายังมีแพสชันกับมันอยู่ไหม หรือดูๆ แล้วเขาไม่อยากทำงานนี้แล้วด้วยซ้ำ ผมจะได้รู้ว่าคนที่เป็นว่าที่หัวหน้าของเรานี่แหละเป็นคนอย่างไร ใช่คนแบบที่เราอยากให้เป็นหัวหน้าหรือเปล่า
คำถามเดียวแต่บอกได้หมดเลยครับ
สิ่งที่อยากจะบอกทุกคนก็คือ ทำการสัมภาษณ์งานให้สนุกครับ เราเองจะได้เรียนรู้จากแคนดิเดตไปด้วย การสัมภาษณ์งานเป็นก้าวหนึ่งที่ทำให้แคนดิเดตรู้จักองค์กรของเรา ไม่ว่าเขาจะได้งานนี้หรือไม่ แต่อย่างน้อยเขาต้องเดินออกไปจากองค์กรเราด้วยความรู้สึกว่า “โห…บริษัทนี้โคตรเจ๋งเลย ขนาดมาสัมภาษณ์แล้วยังโคตรอยากทำเลย” ถ้าเขาได้งาน เขาจะรู้สึกภูมิใจและมีความรู้สึกที่ดีตั้งแต่วันแรกที่ได้เจอกัน ถ้าเขาไม่ได้งาน เขาจะยังรู้สึกว่าที่นี่แน่มากจริงๆ ขอไปฝึกมาใหม่ วันหนึ่งจะกลับมา
อารมณ์เดียวกับเลือกแฟนน่ะครับ ต่อให้สุดท้ายเขาไม่ได้เราเป็นแฟน แต่เขาต้องเสียดายเราและยังอยากได้เรามากอยู่ ไม่ใช่รู้สึกว่าดีแล้วที่ไม่ได้มา
* ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai