ดาวเทียม Queqiao-2 ของจีน เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ได้สำเร็จ เตรียมความพร้อมภารกิจทวนสัญญาณให้กับยาน Chang’e 6 ที่มีแผนลงจอด และนำตัวอย่างหินด้านไกลดวงจันทร์กลับโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์
เมื่อคืนวันที่ 24 มีนาคม เวลา 23.46 น. ตามเวลาประเทศไทย ดาวเทียม Queqiao-2 เริ่มต้นการเดินเครื่องยนต์นาน 19 นาที เพื่อชะลอความเร็วให้เข้าสู่อิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ ก่อนค่อยๆ ปรับระดับวงโคจรให้เป็นวงโคจรความรีสูง ที่มีจุดใกล้สุด 200 กิโลเมตร และจุดไกลสุด 16,000 กิโลเมตรจากพื้นผิวดวงจันทร์
วงโคจรดังกล่าวช่วยให้ดาวเทียม Queqiao-2 สามารถติดต่อรับส่งข้อมูลกับศูนย์ควบคุมภาคพื้นโลก พร้อมกับรับ-ส่งข้อมูลกับยานอวกาศที่จะไปปฏิบัติการ ณ ด้านไกลดวงจันทร์ โดยเป็นวงโคจรที่มีความเสถียรค่อนข้างสูง ไม่จำเป็นต้องปรับแก้บ่อยครั้ง ซึ่งช่วยยืดอายุการปฏิบัติการให้นานขึ้นได้
ภารกิจของ Queqiao-2 มีความสำคัญต่อยานอวกาศ Chang’e 6 ขององค์การอวกาศแห่งชาติจีน หรือ CNSA ที่มีแผนออกเดินทางจากโลกในเดือนพฤษภาคม 2024 มุ่งหน้าไปลงจอดอย่างนุ่มนวลที่ด้านไกลของดวงจันทร์ ก่อนนำตัวอย่างหินจากพื้นผิวกลับโลก ถือเป็นความพยายามนำหินจากด้านไกลดวงจันทร์กลับโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์
สำหรับดาวเทียม Queqiao-2 ออกเดินทางจากโลกไปกับจรวด Long March 8 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พร้อมกับดาวเทียมสาธิตสองดวง ชื่อ Tiandu-1 และ Tiandu-2 ที่มีภารกิจทดสอบระบบนำทางและสื่อสารในวงโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อเป็นรากฐานโครงข่ายดาวเทียมสื่อสารในวงโคจรรอบดวงจันทร์ของจีนในอนาคต
นอกจากจะรับผิดชอบการสื่อสารกับยาน Chang’e 6 ที่กำลังออกเดินทางจากโลกในช่วงกลางปี 2024 ดาวเทียม Queqiao-2 จะทำหน้าที่ช่วยทวนสัญญาณให้กับยาน Chang’e 4 ที่กำลังปฏิบัติงานบนพื้นผิวด้านไกลดวงจันทร์ เช่นเดียวกับภารกิจ Chang’e 7 และ Chang’e 8 ที่ถูกวางแผนให้เดินทางตามไปสำรวจในอนาคตอันใกล้
ภาพ: CNSA / CGTN
อ้างอิง: