×

โอลิมปิก ฟุตบอลโลก วิมเบิลดัน และทีมโปรด เรื่องเล่าควีนเอลิซาเบธในความทรงจำอันงดงามของเกมกีฬา

09.09.2022
  • LOADING...
ควีนเอลิซาเบธ

แม้บรรยากาศในห้องจะเงียบสงบ แต่พลันที่เข็มนาฬิกาเดินไปตามหน้าที่ของมัน ชายในชุดทักซิโด้ผู้ได้แต่ยืนสงบนิ่ง แม้ใบหน้าจะไม่อาจปิดกั้นความปีติไว้ได้ ก็รู้ว่าเวลานั้นใกล้เข้ามาแล้ว และเขาต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อบอกสตรีผู้สูงศักดิ์ที่กำลังนั่งจดบันทึกลงบนสมุด

 

ถึงจะเก่งกาจปราบเหล่าร้ายมาทั่วโลก แต่ต่อหน้าเลดี้ท่านนี้เขาทำได้เพียงแค่กระแอมเบาๆ เพื่อเป็นการแจ้งทางอ้อม

 

“อะแฮ่ม”

 

“สวัสดียามเย็นคุณบอนด์”

 

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กล่าวทักทาย เจมส์ บอนด์ เจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับที่เรียกว่า MI6 ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจในการนำเสด็จจากพระราชวังบักกิงแฮมไปสู่สนามกีฬาลอนดอนสเตเดียม และเพื่อให้ทันหมายกำหนดการสำคัญ จึงต้องใช้วิธีการเดินทางแบบพิเศษ

 

บอนด์นำ ‘ควีน’ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ที่ติดเครื่องพร้อมเดินทางรออยู่แล้ว โดยที่สุนัขทรงเลี้ยงพันธุ์คอร์กี้ 2 ตัว ทำได้แค่รออยู่หน้าประตูเท่านั้น

 

เพียงแต่แทนที่เฮลิคอปเตอร์จะลงจอดที่ลานจอดที่เตรียมไว้ตามปกติ ควีนเอลิซาเบธเลือกวิธีในสไตล์สายลับผู้เก่งกาจด้วยการกระโดดดิ่งพสุธาลงมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่รหัส ‘ดับเบิลโอเซเวน’ ก่อนที่ร่มชูชีพของทั้งสองจะกางออก เผยให้เห็นเป็นภาพธงยูเนียนแจ็ก

 

แล้วควีนก็ปรากฏพระวรกายที่สนามลอนดอนสเตเดียม เพื่อเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ในกรุงลอนดอน ท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องของผู้ชมทั้งสนาม และผู้ชมทั่วโลกที่ต่างประทับใจกับความไม่ถือพระองค์ของพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร ที่เปี่ยมด้วยพระอารมณ์ขันและพร้อมมอบความสุขให้แก่ปวงชนเหมือนที่เคยเป็นมาโดยตลอด

 

 

โดยเบื้องหลังกว่าที่จะได้วิดีโอการเปิดตัวที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนชิ้นนี้ แดนนี บอยล์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่รับหน้าที่นี้ได้รับแจ้งเงื่อนไขสำคัญที่สุด

 

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะทรงร่วมแสดงด้วยหากท่านมีบทพูดในภาพยนตร์นี้เท่านั้น

 

เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจาก แอนเจลา เคลลี ข้าราชบริพารที่ดูแลด้านเครื่องทรงของควีนเอลิซาเบธในหนังสือ The Other Side of the Coin: The Queen, the Dresser and the Wardrobe โดยหลังจากที่บอยล์ได้นำเสนอภาพวาดโครงเรื่องต่อเธอและ เอ็ดเวิร์ด ยัง ราชเลขานุการในพระองค์ ที่พระราชวังบักกิงแฮม

 

“ฉันขอเวลาเขาและเอ็ดเวิร์ด 5 นาที เพื่อเล่าให้พระองค์ฟัง” เคลลีเล่าในหนังสือ “ฉันยังจำสีหน้าช็อกของบอยล์ได้ในตอนที่ฉันบอกว่า ฉันต้องกราบบังคมทูลพระราชินีโดยตรง เพราะถ้าพระองค์ไม่โปรด เรื่องนี้ก็จะจบทันที

 

“ฉันขึ้นไปชั้นบน โชคดีที่พระราชินีทรงว่าง และพระองค์ทรงชอบในสิ่งที่เล่ามาก ทรงตกลงในทันที” ก่อนที่เคลลีจะถามว่าควีนอยากมีบทพูดในภาพยนตร์หรือไม่

 

“แน่นอน ฉันอยากพูดอะไรบ้าง แล้วหลังจากนั้นเขา (เจมส์ บอนด์) ต้องมาเพื่อช่วยฉันนะ”

 

เคลลีจึงช่วยคิดบทพูดขึ้นมาระหว่าง “สวัสดียามเย็นเจมส์” หรือ “สวัสดียามเย็นคุณบอนด์”

 

และนั่นคือที่มาของหนึ่งในการเปิดการแข่งขันโอลิมปิกที่น่าประทับใจที่สุดครั้งหนึ่งตลอดกาล

 

อย่างไรก็ดี ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงอยู่ในความทรงจำของเกมกีฬามามากมาย

 

หนึ่งในนั้นคือวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวอังกฤษ เมื่อทีม ‘สิงโตคำราม’ สามารถพิชิตเยอรมนีตะวันตกได้ในนัดชิงชนะเลิศ การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1966 ที่สนามเวมบลีย์ ในกรุงลอนดอน

 

สำหรับประเทศที่เป็นแม่แบบของเกมฟุตบอลสมัยใหม่ การได้แชมป์ฟุตบอลโลกคือสิ่งที่ชาวอังกฤษปรารถนามาแสนนาน ซึ่งการที่สามารถคว้าแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จและเกิดขึ้นในบ้านของตัวเอง สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้พิเศษมากขึ้นไปอีกคือ การที่ บ็อบบี มัวร์ ในฐานะกัปตันทีม ต้องเดินขึ้นบันได 39 ขั้น เพื่อรับพระราชทานถ้วยชูลส์ริเมต์จากพระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

 

นอกจากเหงื่อกาฬจะโทรมกายแล้ว มือของเขายังเต็มไปด้วยดินโคลนจากสนามเวมบลีย์อีกด้วย

 

ว่าแล้วเพื่อไม่ให้เป็นการแปดเปื้อนพระราชินี มัวร์จึงขออาศัยผ้ากำมะหยี่ที่ผูกไว้รอบพระที่นั่งในสนาม เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการใช้เช็ดมือก่อนที่จะรับพระราชทานถ้วยชูลส์ริเมต์ อันเป็นเครื่องหมายของทีมแชมเปียนโลกในการแข่งขันปีนั้น

 

แล้วเสียงเฮก็ดังกึกก้องขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ในสนามเวมบลีย์เท่านั้น แต่ดังขึ้นทั่วแผ่นดินอังกฤษ

 

ไม่ต่างจาก บ็อบบี มัวร์ สำหรับ เวอร์จิเนีย เวด นักเทนนิสหญิงรุ่นบุกเบิก การลงแข่งขันต่อหน้าพระพักตร์ของพระราชินีนั้นทำให้เกิดสิ่งที่พิเศษขึ้น

 

ควีนเอลิซาเบธ

 

วิมเบิลดัน 1977 ถือเป็นการเข้าร่วมแข่งสมัยที่ 16 ของเธอแล้ว แต่นั่นไม่มีความหมายเท่ากับการที่ปีนั้นเป็นปีครบรอบ 100 ปีของวิมเบิลดัน (และเป็นการแข่งขันครั้งที่ 91) ที่สำคัญกว่านั้นคือ เป็นปีฉลองรัชฎาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มันทำให้เธอมีความมุ่งมั่นยิ่งขึ้นไปอีกที่จะคว้าแชมป์ให้ได้

 

เวดต้องเจอกับคู่แข่งเก่งๆ อย่าง โรซี คาซาลส์ ไหนจะ คริส เอเวิร์ต ที่ปราบ เทรซี ออสติน และ บิลลี จีน คิง มาได้ แต่ก็เอาชนะได้จนได้ผ่านเข้าชิงชนะเลิศวิมเบิลดันเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยต้องพบกับ เบ็ตตี สโตฟ นักหวดสาวชาวเนเธอร์แลนด์

 

สโตฟในเวลานั้นมีความเก่งกาจอย่างมาก แต่เวดก็สู้ยิบตาจนสุดท้ายพลิกสถานการณ์จากแพ้ในเซ็ตแรก 4-6 กลับมาเอาชนะได้ในอีก 2 เซ็ต 6-3 และ 6-1 คว้าแชมป์วิมเบิลดันสมัยแรกได้ในวัยเกือบ 32 ปี

 

และที่สำคัญ ทุกอย่างเกิดขึ้นต่อหน้าพระพักตร์ของควีนที่เสด็จมาทอดพระเนตรการแข่งขัน และพระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่นักเทนนิสสาวชาวอังกฤษผู้ตั้งใจจะคว้าแชมป์นี้ เพื่อเป็นการร่วมฉลองให้แก่วาระการครองราชย์ครบ 25 ปี

 

อย่างไรก็ดี กีฬาที่ควีนเอลิซาเบธทรงโปรดมากที่สุดคือ กีฬาแข่งม้า โดยหนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่ทรงอ่านทุกเช้าคือ The Racing Post และจะเสด็จฯ ทอดพระเนตรการแข่งขัน Royal Ascot เสมอ ซึ่งเป็นที่รู้กันอย่างดีว่านี่คือสถานที่ที่จะทำให้ควีนทรงมีรอยยิ้มปรากฏบนพระพักตร์

 

ม้าคือสัตว์ที่พระองค์โปรดปรานและการแข่งม้าคือกีฬาในดวงใจ โดยทุกฤดูใบไม้ร่วงจะทรงเขียนจดหมายถึงเหล่าผู้ฝึกสอนม้าของพระองค์อย่างใส่พระทัย และในฤดูใบไม้ผลิจะเสด็จฯ ชมม้าแข่งเหล่านั้นและเยี่ยมเหล่าผู้ฝึกสอน

 

จอห์น วอร์เรน หนึ่งในที่ปรึกษาด้านกีฬาแข่งม้า เคยบอกว่า “ถ้าควีนไม่ได้ทรงต้องเป็นควีน พระองค์จะเป็นผู้ฝึกสอนม้าที่วิเศษได้แน่”

 

แต่หากความรักที่มีต่อกีฬาแข่งม้านั้นชัดเจนแล้ว สิ่งที่เป็นปริศนาคือความรักที่มีต่อทีมฟุตบอล

 

ทีมไหนคือทีมโปรดของพระราชินีกันนะ?

 

เรื่องนี้ไม่มีใครที่รู้ได้แน่ชัด เพราะควีนเอลิซาเบธไม่เคยเฉลย จะมีก็แต่การคาดเดาว่าทีมโปรดของพระองค์นั้นอยู่ในลอนดอนนี่เอง และมีอยู่ด้วยกัน 2 ทีม

 

ทีมแรกคือเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ซึ่งว่ากันว่าพระองค์ทรงติดตามเชียร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 อันเป็นยุคทองของเดอะแฮมเมอร์ส ภายใต้การนำของผู้จัดการทีมผู้ยิ่งใหญ่อย่าง รอน กรีนวูด และเหล่านักเตะระดับตำนานมากมายรวมถึง บ็อบบี มัวร์ (ผู้ใช้ผ้ากำมะหยี่บนพระที่นั่งเช็ดมือก่อนรับถ้วยฟุตบอลโลก) และ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ ผู้ทำแฮตทริกในนัดชิงชนะเลิศปี 1966

 

โดยเรื่องนี้มีรายงานใน The Mirror เมื่อปี 2009 ว่า ภายหลังจากที่เก็บงำเรื่องทีมฟุตบอลโปรดมานาน พระองค์ทรงพระราชปฏิสันถารกับหนึ่งในข้าราชบริพารในเรื่องทีมฟุตบอลในดวงใจ และได้เผยความลับออกมา

 

อย่างไรก็ดี ยังมีชาวอังกฤษอีกจำนวนมากที่เชื่อว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือ ‘กูนเนอร์ส’ ที่ติดตามเชียร์มาตั้งแต่เด็กร่วมกับพระราชมารดา

 

และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่อาจเป็นหลักฐานในเรื่องนี้คือ การที่ทีมฟุตบอลอาร์เซนอลได้รับพระราชทานให้เข้าเฝ้าพระองค์ในงานเลี้ยงน้ำชาที่พระราชวังบักกิงแฮมเมื่อ 15 ปีก่อน

 

อาร์เซนอลเป็นทีมฟุตบอลแรกและทีมฟุตบอลเดียวที่ได้โอกาสเช่นนี้

 

 

 

เชื่อกันว่าการที่อาร์เซนอลได้รับโอกาสครั้งนี้เนื่องจากก่อนหน้านั้นในปี 2006 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินเพื่อเปิดสนามฟุตบอลแห่งใหม่ที่แอชเบอร์ตันโกรฟในชื่อเอมิเรตส์สเตเดียมได้ เนื่องจากมีพระอาการประชวร จึงได้เชิญทั้งทีมมาร่วมงานเลี้ยงน้ำชาที่พระราชวังบักกิงแฮมแทน

 

แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนเชื่อว่าควีนเป็นกูนเนอร์สแน่ๆ คือ การที่ทรงพระราชปฏิสันถารกับนักเตะในทีมอย่างใกล้ชิด และทรงรู้ผลการแข่งขันด้วย

 

เซสก์ ฟาเบรกาส โซแลร์ กองกลางหนุ่มน้อยชาวสเปนวัยเพียง 19 ปีในขณะนั้น เล่าว่า “ดูเหมือนควีนจะทรงติดตามฟุตบอลและบอกกับเราว่าพระองค์เป็นแฟนอาร์เซนอล พระองค์รู้ด้วยว่าผมคือใคร และเราได้พูดคุยกันเป็นพิเศษเล็กน้อย” (ดูเหมือนว่าควีนจะเล่าเรื่องของกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส แห่งสเปน ที่เป็นพระสหายให้ฟัง)

 

แต่เรื่องเล่าที่ชวนอมยิ้มมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของ เอ็มมานูเอล เอบูเอ แบ็กขวาชาวไอวอรีโคสต์ ที่เป็นตัวตลกประจำทีม ซึ่งทำให้ทุกคนในทีมอาร์เซนอลโดยเฉพาะ กัปตันเธียร์รี อองรี ระแวงเป็นพิเศษ

 

“ขอร้องล่ะเอบูเอ ที่นี่คือบ้านของพระราชินี อย่าทำอะไรเด็ดขาด”

 

เอบูเอรับปาก “ไม่มีปัญหา ไม่ต้องกังวลนะ”

 

เมื่อควีนเสด็จฯ มาถึง อองรีได้แนะนำนักฟุตบอลทุกคนในทีมต่อพระองค์ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยด้วยดี

 

แต่แล้วเมื่อเอบูเอเห็นสุนัขทรงเลี้ยงพันธุ์คอร์กี้ที่ตามเสด็จฯ มาด้วยก็เผลอตัว

 

“Ma’am, Ma’am”

 

พระราชินีทรงหันหลังกลับมา “คุณเป็นอย่างไรบ้าง?”

 

เอบูเอตอบว่า “ผมสบายดี แต่ได้โปรดเถอะพระองค์ ตอนนี้ผมไม่อยากเป็นนักฟุตบอลอีกต่อไปแล้ว ผมอยากจะเลี้ยงสุนัขให้พระองค์ จะพาเดินเล่น อาบน้ำให้ ให้อาหาร ผมอยากเป็นผู้ดูแลสุนัขให้พระองค์”

 

สิ้นคำพูดของเอบูเอ พระราชินีทรงพระสรวล เช่นเดียวกับเจ้าชายฟิลิป และทั้งทีมอาร์เซนอลก็หัวเราะด้วย

 

เสียงหัวเราะดังทั่วพระราชวังบักกิงแฮมในวันนั้น

 

เป็นอีกหนึ่งในความทรงจำอันงดงามมากมายของผู้คนที่มีต่อพระราชินีในดวงใจ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising