×

สัญญาณลด QE เริ่มชัด! เมื่อ ‘Fed’ ถอนสภาพคล่อง ดึงเงินกลับต่อเนื่อง ล่าสุดยอดพุ่งแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์

13.08.2021
  • LOADING...
Fed

เมื่อคืนที่ผ่านมา(12 สิงหาคม) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้พยายามดูดสภาพคล่องออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Reverse Repo หรือการขายพันธบัตรคืนกลับสู่ตลาด และดึงเงินสดออกมา ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตัวเลขของการทำ Reverse Repo ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ได้พุ่งขึ้นแตะ 1.087 ล้านล้านดอลลาร์ ถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่ 

 

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า การทำ Reverse Repo ของสหรัฐฯ ด้วยตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากช่วงหลายเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 4 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากนั้นก็ขยับสูงขึ้นทำสถิติอย่างต่อเนื่อง และหากเทียบกับการทำ Reverse Repo เมื่อปี 2016 ในครั้งนี้ตัวเลขสูงสุดอยู่ที่เพียงเกือบ 5 แสนล้านดอลลาร์ 

 

Reverse Repo เป็นวิธีหนึ่งที่ Fed ใช้ในการดูดสภาพคล่องออกจากตลาด แทนที่จะใช้วิธีทางการคลังหรือทางการเงินโดยทันที สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าสภาพคล่องในปัจจุบันล้นระบบ หรือแม้กระทั่งกระแสเงินสดของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมีเงินสดคิดเป็นอัตราส่วนราว 13% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า Fed อาจจะเริ่มส่งสัญญาณ QE Tapering ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของ Reuters Polls ที่ว่า 65% ของนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าจะเห็นการส่งสัญญาณในเดือนกันยายน” 

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือเรื่องของเงินเฟ้อและตัวเลขการจ้างงาน ซึ่งในส่วนของตัวเลขการจ้างงานนั้น ประธาน Fed หลายสาขาบอกว่าจะติดตามตัวเลขในอีก 2 เดือนนี้ หากตัวเลขการจ้างงานยังเพิ่มขึ้นในระดับ 800,000-1,000,000 ตำแหน่ง ก็มีโอกาสสูงที่จะเริ่มเห็นการทำ QE Tapering 

 

“ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือพันธบัตร (Bond) ระยะยาวมีแนวโน้มที่จะถูกเทขาย ทำให้บอนด์ยีลด์มีโอกาสจะกลับมาพุ่งขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มจะโดดเด่นกว่าตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่ม Value” 

 

ล่าสุดดูเหมือนว่าการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาจะไม่ส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ และยุโรปเท่าใดนัก ซึ่งไม่น่าจะเห็นการล็อกดาวน์อีกในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น พร้อมกับการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ 

 

ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่ซึ่งฉีดวัคซีนเฉลี่ยยังไม่ถึง 15% จะถูกกดดันจากเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว และการที่บอนด์ยีลด์ปรับขึ้นพร้อมกับเงินดอลลาร์ จะกระทบต่อต้นทุนทางการเงิน

 

“จากปัจจัยเหล่านี้เชื่อว่าหุ้นในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงหุ้นไทยจะ Underperform หุ้นต่างประเทศในตลาดพัฒนาแล้ว เพราะฉะนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ หุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่ม Value Play มีโอกาสจะโดดเด่นกว่า” 

 

ในส่วนของหุ้นไทย ภาพรวมแล้วอาจจะได้รับผลกระทบจากการส่งสัญญาณ QE Tapering แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบมากนัก หากเป็นการส่งสัญญาณในเดือนกันยายน เชื่อว่าดัชนี SET จะไม่ลงไปต่ำกว่า 1,510 จุด หลุดจากนั้นนักลงทุนควรจะหันมาโฟกัสในหุ้นกลุ่ม Value มากขึ้น โดยเน้นไปที่ 3 ธีมหลัก ได้แก่ 

 

  1. หุ้นที่ได้ประโยชน์จากบอนด์ยีลด์ขาขึ้น เช่น BLA

 

  1. หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการลดลงของราคาสินค้าโภคภัพณ์ เช่น KCE และ EPG เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสจะกลับทิศเนื่องจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และการชะลอของเศรษฐกิจจีนที่เผชิญกับน้ำท่วมใหญ่และการระบาดระลอกใหม่

 

  1. หุ้นกลุ่มโลจิสติกส์ ซึ่งยังเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่ง

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า หากอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับเดิมและสภาพคล่องยังคงล้นระบบ ก็มีแนวโน้มที่ตัวเลขของการทำ Reverse Repo จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนกว่า Fed จะเริ่มดำเนินการลดวงเงิน QE ซึ่งปัจจุบันยังอัดฉีดเงินเข้าระบบเดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ 

 

เงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่แหล่งที่ไปของเงินค่อนข้างจำกัดในขณะนี้ ทำให้เงินบางส่วนไหลกลับมาพักที่ Fed ขณะที่ตัวเลขของ Reverse Repo ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ Fed มีแนวโน้มจะเริ่มส่งสัญญาณ QE Tapering ช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามคือสถานการณ์โควิดระลอกใหม่

 

“ก่อนหน้านี้ Fed เริ่มให้ประธานแต่ละสาขาเริ่มส่งสัญญาณเพื่อให้ตลาดเตรียมตัว ก่อนที่จะมีการส่งสัญญาณ Tapering ออกมาจริง ซึ่งกรณีฐานที่เราประเมินไว้คือปลายเดือนกันยายน หากว่าสหรัฐฯ สามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ดี” 

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตลาดหุ้นจะไม่กระทบมากนัก เพราะรับรู้กับประเด็นนี้ไปค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งการเริ่มต้นลดวงเงินน่าจะเกิดขึ้นต้นปี 2022 โดยอาจจะทยอยลดการอัดฉีดลงเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ คล้ายกับในอดีต ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยตลาดยังคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 1 ของปี 2023 

 

“ช่วงที่เหลือของปีนี้ตลาดหุ้นน่าจะยังอยู่ในภาวะ Overhang โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการทำ QE Tapering มากกว่า เพราะการที่สหรัฐฯ ตัดสินใจเช่นนี้ หมายความเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นจริงแล้ว แต่เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่อาจจะยังไม่ฟื้นมากนัก ในขณะที่เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะกระตุ้นให้ Fund Flow ไหลกลับไปตลาดพัฒนาแล้ว” 

 

กลยุทธ์การลงทุนในภาวะเช่นนี้ สำหรับการลงทุนในหุ้น นักลงทุนควรจะจัดสรรเงินลงทุนอย่างน้อย 50% ไปลงทุนในตลาดพัฒนาแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่ชัดเจนกว่า 

 

ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ขยายตัวดีจะเป็นการเปิดโอกาส Fed พิจารณาลดวงเงิน QE เร็วขึ้นได้ เพราะเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวนโยบายการเงินน่าจะสามารถลดบทบาทลง โดยตลาดยังให้น้ำหนักการประชุม Jackson Hole Symposium ในวันที่ 26-28 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นที่คาดการณ์อย่างกว้างขวางว่า Fed จะส่งสัญญาณ QE Tapering ในการประชุมนี้ และถ้า Fed ส่งสัญญาณจริง จะเป็น Sentiment ลบต่อตลาดหุ้นโลก เพราะสภาพคล่องในระบบการเงินอาจลดลงกว่าเดิมได้

 

ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังจากปรับเพิ่มขึ้นทำ All Time High ระยะถัดไปฝ่ายวิจัยประเมินว่ายังต้องติดตามใกล้ชิด เพราะมีความเสี่ยงจากแรงกดดดันเรื่อง QE Tapering ซึ่งหากพิจารณาในอดีต ทั้งช่วงที่ Fed ส่งสัญญาณ QE Tapering ขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก และการแพร่ระบาดโควิดครั้งแรก จะเห็นได้ว่า Trailing P/E อยู่ระดับเพียง 15 เท่า ขณะที่ในปัจจุบัน Trailing P/E ลดลงมาจาก 32 เท่า เหลือ 27 เท่า ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีต หากมีความกังวล QE Tapering อีกครั้ง คาดเป็นประเด็นกดดันดัชนีให้ปรับตัวลง และกลับไปซื้อขายกันในระดับ P/E ในฐานที่ลดต่ำลงจากปัจจุบัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X