×

แผ่นดินไหวไม่ใช่แค่สั่นสะเทือน แต่คือความเสียหายที่ต้องรับมือ

28.03.2025
  • LOADING...
quake-beyond-vibrations

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ค่อยประสบกับแผ่นดินไหวหรือภัยธรรมชาติกันเท่าไร แต่อยู่ดีๆ หลายคนคงรู้สึกได้ถึงแรงสั่นไหวบางอย่าง บางคนอยู่คอนโด บางคนทำงานอยู่บนตึกสูง แล้วก็รู้สึกว่า “ทำไมตัวเราโยก” “ทำไมโคมไฟสั่น” “ทำไมเสาไฟฟ้าโคลงเคลงไปมา” ซึ่งสาเหตุความผิดปกติเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งที่เรียกว่าภัยธรรมชาติ และเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่า ‘ภัยธรรมชาติ’ อย่างแผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ทันตั้งตัว และเราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดหรือจะรุนแรงขนาดไหน ซึ่งในทางคณิตศาสตร์ประกันภัย เราจะเรียกว่า ‘Random Number’ หรือ ‘การเกิดขึ้นแบบสุ่ม’ นั่นเอง

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นเริ่มเห็นได้ชัดในบางพื้นที่

 

เช่น บ้านหรือคอนโดบางแห่งเกิดรอยร้าว รถบางคันถูกของตกใส่ขณะจอดอยู่ รวมถึงผู้คนจำนวนมากที่รู้สึกไม่มั่นคงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เหตุการณ์นี้จึงทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า ถ้าครั้งต่อไปแผ่นดินไหวรุนแรงกว่านี้ล่ะ? บ้านของเราจะปลอดภัยหรือไม่? รถที่จอดอยู่จะเสียหายแค่ไหน? หรือถ้าเกิดเหตุร้ายแรงกับชีวิตเราหรือคนในครอบครัว จะมีอะไรช่วยดูแลหลังจากนั้น?

 

เรื่องที่คนมักมองข้าม…การบริหารความเสี่ยงจากประกันแผ่นดินไหว

 

พอพูดถึง ‘ประกันภัย’ หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ยุ่งยาก และมีไว้แค่ตอนซื้อบ้านกับรถเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเหตุการณ์ภัยธรรมชาตินั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่เลือกที่เลือกเวลา ซึ่งการบริหารความเสี่ยงรูปแบบหนึ่งที่เข้าถึงง่ายที่สุดก็คือกรมธรรม์ประกันภัย

 

แล้วประกันภัยประเภทไหนที่ครอบคลุมแผ่นดินไหวบ้าง?

 

  • บ้าน: แม้หลายคนจะมีประกันอัคคีภัยแนบมากับบ้านที่ซื้อผ่านธนาคาร แต่โดยทั่วไปกรมธรรม์จะไม่คุ้มครองแผ่นดินไหวโดยอัตโนมัติ ต้องซื้อความคุ้มครองเพิ่มต่างหาก ซึ่งค่าเบี้ยไม่สูงนัก หากเกิดความเสียหาย เช่น ผนังแตกร้าว หรือของใช้ภายในพัง ประกันแผ่นดินไหว จะช่วยจ่ายค่าซ่อม ค่าทดแทน และบางแผนมีค่าที่พักชั่วคราวระหว่างซ่อมบ้านด้วย
  • รถ: แผ่นดินไหวไม่ได้เลือกเวลา ถ้าหากรถที่จอดอยู่เฉยๆ ก็อาจโดนของตกใส่ หรือจอดในที่อาคารเสียหายแล้วพังได้เหมือนกัน ถ้าใครทำประกันรถชั้น 1 ไว้ก็ต้องดูให้ดีว่ากรมธรรม์มีความคุ้มครอง ‘ภัยธรรมชาติ’ หรือไม่ และแผ่นดินไหวอยู่ในรายการนั้นไหม อย่าเพิ่งคิดว่าแค่มีประกันชั้น 1 แล้วจะเคลมได้ทุกอย่าง เพราะบางบริษัทแยก ประกันแผ่นดินไหว หรือภัยธรรมชาติไว้ต่างหาก
  • ชีวิต: สิ่งสำคัญที่สุดคือชีวิตคน ซึ่งประกันชีวิตส่วนใหญ่คุ้มครองการเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติ รวมถึงแผ่นดินไหว ช่วยลดภาระให้ครอบครัว และบางแผนยังรวมค่ารักษา หรือเงินชดเชยรายวันในกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุด้วย

 

แล้วถ้าอยากเริ่มต้นหาประกันที่ครอบคลุมแผ่นดินไหวต้องทำยังไง?

 

สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดและใกล้ตัวเรา เริ่มจากการเปิดเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยที่เรามีอยู่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นประกันบ้าน ประกันรถ รวมถึงประกันชีวิต แล้วเช็กให้แน่ใจว่า ‘ภัยแผ่นดินไหว’ อยู่ในความคุ้มครองหรือยัง ถ้ามันเขียนครอบคลุมอยู่ก็จดเก็บเอาไว้ แต่ถ้ามันเขียนว่าเป็นข้อยกเว้นหรือไม่ครอบคลุมแล้วก็แปลว่าความเสี่ยงของความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวยังมีติดกับตัวเราอยู่ การจะผ่องถ่ายความเสี่ยงนี้ไปได้ก็สามารถทำได้โดยให้บริษัทประกันรับไว้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเบี้ยประกันจะไม่แพงมาก เพราะนานๆ เกิดขึ้นที แต่มันจะช่วยป้องกันความเสียหายหลักแสนได้จริง

 

ภัยธรรมชาติกับอนาคตของเบี้ยประกันภัย

 

แต่หลังจากนี้การคำนวณเบี้ยประกันที่ครอบคลุมแผ่นดินไหวนั้นอาจจะมีสิทธิ์แพงมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเริ่มมีสถิติปรากฏเข้ามาแล้ว ทำให้แบบประกันตัวใหม่ที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวในอนาคตข้างหน้าจะมีโอกาสที่จะมีเบี้ยประกันภัยที่แพงสูงขึ้น

 

ดังนั้นสำหรับคนที่ยังไม่มีประกันภัยเลยก็เริ่มต้นได้จากจุดที่เหมาะกับตัวเองที่สุด เช่น ถ้ามีบ้านก่อน ก็จัดประกันแผ่นดินไหวสำหรับบ้านให้ครบ หรือถ้าขับรถทุกวัน รถก็ควรมีความคุ้มครองภัยธรรมชาติเพิ่ม ถ้ามีครอบครัวที่ต้องดูแล การมีประกันชีวิตก็เป็นหลักประกันที่ควรคิดถึง

 

เกร็ดน่ารู้

 

ประกันแผ่นดินไหวจะไม่เคยออกแบบมาให้มี Copay เพราะไม่มีพฤติกรรมของเคลมเกินความจำเป็นของผู้บริโภคเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

บทสรุป

 

สรุปได้ว่า แผ่นดินไหวในประเทศไทยอาจจะไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่มันก็ทำให้เรารู้ว่าการที่เราทำงานหาเงินสร้าง ‘ความมั่งคั่ง’ เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ เราคงต้องมองหา ‘ความมั่นคง’ เอาไว้ด้วย ภัยธรรมชาติอาจใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ไม่มีใครบอกได้ว่าเหตุการณ์ครั้งหน้าจะเกิดขึ้นเมื่อไร หรือจะรุนแรงแค่ไหน แต่สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือวางแผนและเตรียมรับมือให้ดีที่สุด

 

สามารถอ่านรายละเอียดหลักการคำนวณเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมได้ที่ www.tommypichet.com/article

 

ภาพ: metamorworks / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising