ไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 เริ่มเห็นสัญญาณการใช้น้ำมันชะลอตัวเพราะคนหันใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และประหยัดค่าใช้จ่ายส่งผลให้ดีเซลปรับลดลงสะท้อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้า รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่กังวลภาษีสหรัฐ
สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม – มีนาคม 2568 อยู่ที่ 158.67 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 15.1% เนื่องจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริการ และการใช้ LPG เพิ่มขึ้น 0.3% การใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 0.9% ขณะที่กลุ่มเบนซินลดลง 0.4% น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการลดลง 1.5% และ NGV ลดลง 15.1%
โดยหากดูยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดในเดือนมกราคม-มีนาคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีดังนี้
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.57 ล้านลิตร/วัน ลดลง 0.4% ประกอบด้วยการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงมาอยู่ที่ 6.71 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.11 ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.38 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.06 ล้านลิตร/วัน
ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด เพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 18.96 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 0.37 บาท/ลิตร (ราคาเฉลี่ยเดือนมกราคม – มีนาคม 2568) แต่ในช่วงเดียวกันของปีก่อนราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 1.68 บาท/ลิตร จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 มากยิ่งขึ้น
“การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวลงโดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (BEV, HEV และ PHEV) มีสัดส่วน 5.97% ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 คน1 รวมถึงการใช้งานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีการขยายตัวของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่องคิดเป็น 5.92% เทียบกับปีก่อน”
การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 68.43 ล้านลิตร/วัน ลดลง 1.5% ประกอบด้วยดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ลดลงมาอยู่ที่ 68.39 ล้านลิตร/วัน
“สอดคล้องกับข้อมูลภาคการผลิตอุตสาหกรรมในบางกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศที่รุนแรงขึ้น อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs)”
ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มประมาณ 2.0% และในกรณีที่สงครามการค้ารุนแรงมากและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อยู่ในอัตราที่สูง อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวประมาณ 1.3%
รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยลงมาอยู่ที่ 1.8% จากเดิมที่ 2.5-3.0% สำหรับดีเซลหมุนเร็ว บี20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.05 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ดีเซลพื้นฐาน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.12 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้ ภาพรวมปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ 70.55 ล้านลิตร/วัน
ส่วนการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 19.22 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 15.1% ยังคงขยายตัวได้ดีจากภาคท่องเที่ยวและการบริการ ผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยสะสมถึงเดือนมีนาคม 2568 จำนวน 9.55 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยขยายตัว 2.12% รวมไปถึงการขยายตัวของบริการขนส่งสินค้าทางอากาศด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน
การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.14 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ประกอบด้วยการใช้ในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.02 ล้านกก./วัน และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.13 ล้านกก./วัน ขณะที่ภาคปิโตรเคมีลดลงมาอยู่ที่ 6.67 ล้านกก./วัน และภาคขนส่งลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.31 ล้านกก./วัน
การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.52 ล้านกก./วัน ลดลง 15.1% โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสมที่ลดลง และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง
อย่างไรก็ตาม ปตท. ยังคงช่วยเหลือผ่านโครงการบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ ขณะที่ราคาขายปลีก NGV สำหรับรถทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น 0.10 บาท/กก. อยู่ที่ 18.80 บาท/กก. เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,064,710 บาร์เรล/วัน ลดลง 0.1% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 85,890 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 1,041,149 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ อยู่ที่ 84,424 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 23,561 บาร์เรล/วัน ลดลง 63.6% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 1,466 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 150,794 บาร์เรล/วัน ลดลง 3.7% เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซินน้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 13,204 ล้านบาท/เดือน